บอร์ด EEC เห็นชอบแผนกำจัดขยะ ขอเวลา 1-2 เดือนทำแผนรับซื้อไฟ เปิดพื้นที่ให้เอกชนประมูล

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ เลขาฯ EEC) กล่าว ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ. หรือบอร์ด EEC) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน ว่าที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบกรอบแนวทางต้นแบบการกำจัดขยะในพื้นที่ EEC โดยมีเป้าหมายเพิ่มอีกจำนวน 6 แห่ง และตั้งศูนย์กำจัดขยะแปลงเป็นไฟฟ้า ต้นแบบ 1 แห่ง

จากเดิมที่มีโรงงานกำจัดขยะอยู่แล้วของ ปตท. ในพื้นที่จังหวัดระยอง สามารถบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบได้ และสามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า

แต่ปัจจุบันสถานการณ์ขยะมูลฝอยในพื้นที่ EEC เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปี 2561 อยู่ที่ 4,200 ตันต่อวัน และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 6,800 ตันต่อวันในปี 2580 และยังขาดการบริหารจัดการ ขยะจึงมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกวันและส่วนใหญ่ 60% ยังใช้การฝังกลบแบบเดิม

ดังนั้น จึงต้องหาพื้นที่เพิ่มเพื่อรองรับปริมาณขยะที่สูงขึ้นถึง 1.66 ไร่ต่อวัน โดยที่ประชุมฯ ให้ สกพอ. ประสานกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงพลังงาน และกระทรวงมหาดไทยร่วมกันจัดทำแผนเสร็จภายใน 1-2 เดือน เพื่อนำไปสู่การหาพื้นที่สร้างโรงงานกำจัดขยะอย่างเป็นระบบ และจะเปิดให้เอกชนประมูล

โดยตั้งเป้าจะกำจัดขยะมูลฝอยทั้งรายวันและขยะสะสมรวม 6,000 ตันต่อวัน สามารถผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะได้ประมาณ 120 เมกะวัตต์ หรือจะกำจัดขยะสะสมได้กว่า 6 ล้านตันในพื้นที่ EEC ให้หมดภายใน 12 ปี

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบ แผนยกระดับการบริการสาธารณสุขในพื้นที่ EEC อีก 14 โครงการ เช่น การจัดทำบริการรักษาพยาบาล โรงพยาบาลเครือข่าย

นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการ เพื่อติดตามโครงการรถไฟ ความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินโดยจะมีกรรมการ 2 ชุด ที่จะต้องกำกับสัญญาเพื่อดูแลสัญญาต่างๆ หรือการแก้ไขสัญญา และกรรมการกำกับบริหารโครงการ โดยให้ สกพอ. ส่งตัวแทนเพื่อบริหารโครงการ

และยังเห็นชอบแผนพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ EEC โดยใช้ 2 รูปแบบ คือ ให้เอกชนร่วมจ่าย 100% และเปิดให้เอกชนมีร่วม 10-50% เพื่อผลิตบุคลากรรองรับความต้องการกำลังคนใน 10 อุตสาหกรรม จำนวน 475,793 คน