“มนัญญา” ปั้นวัวแดงนมแห่งชาติ ยอดขายทะลุ1.1 หมื่นล. รุกส่งออกอาเซียน

“มนัญญา” ลุยยุทธศาสตร์โคนมครบวงจร เล็งสร้างตั้งศูนย์นมครบวงจร 3 ไร่ เสริมจุดแข็งแบรนด์นมสัญชาติไทย “นมวัวแดง” ปรับแผนรุกขยายตลาดเพื่อนบ้านอาเซียน-จีน ตั้งเป้าดันยอดขายปี”63 ทะลุ 11,000 ล้านบาท

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีนโยบายเร่งด่วน ทบทวนแผนยุทธศาสตร์ด้านโคนม โดยได้หารือแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมโคนมครบวงจรขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) รวมทั้งผลักดันนมไทย-เดนมาร์ค ก้าวสู่แบรนด์นมแห่งชาติ ภายในปี 2564 (Being National Milk by 2021) โดยเฉพาะเร่งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพอาชีพการเลี้ยงโคนมให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงให้ปรับตัวรองรับการเปิดเสรีทางการค้า (FTA) ที่จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมนี้

ล่าสุดเตรียมจัดหาพื้นที่ตั้งสำนักงานใหม่ แทนพื้นที่เดิมที่เช่าองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ซึ่งมีค่าเช่า 8 แสนบาทต่อเดือนถือว่าสูงเกินไป หากลดค่าใช้จ่ายด้านนี้ลงจะช่วยเร่งพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเบื้องต้นจะใช้พื้นที่ในการก่อสร้างอาคารประมาณ 3 ไร่ พัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้และศูนย์นมครบวงจร ให้ผู้เลี้ยงโคนมยกระดับมาตรฐานและคุณภาพการผลิตน้ำนมดิบ แปรรูปและส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และเพื่อรองรับนักลงทุนให้มาได้สะดวกมากขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดพื้นที่งบประมาณ และระยะเวลาก่อสร้าง คาดว่าจะสรุปได้เร็ว ๆ นี้

น.ส.มนัญญากล่าวถึงผลการดำเนินการของ อ.ส.ค.ในปี 2562 ว่า คาดว่าจะสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค มูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิประมาณ 323 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี”62 อยู่ที่ 9,560 ล้านบาท ส่วนปี 2563 วางเป้าหมายยอดขาย 11,130 ล้านบาท จากอัตราการดื่มนมที่ขยายตัวมากขึ้น อีกทั้งได้วางเป้าขยายสัดส่วนการส่งออกไปตลาดเพื่อนบ้านอาเซียนมากขึ้น มูลค่า 1,200 ล้านบาท จากปัจจุบันมียอดขาย 957 ล้านบาท ไปยัง สปป.ลาว ประมาณ 236 ล้านบาท กัมพูชา ประมาณ 651 ล้านบาท และเมียนมา 70 ล้านบาท

โดยเตรียมแผนเพิ่มตัวแทนจำหน่ายในเมียนมา และเตรียมเปิดตลาดเวียดนามและจีนเพิ่มขึ้น โดยศึกษาลู่ทางขยายผ่าน Hema Supermarket ที่มีจุดแข็ง online และ offline เป็นตลาดที่ใหญ่มาก หากสำเร็จปีหน้าจะมีสัดส่วน 15% และจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 20% ภายในปี 2564

“นมไทย-เดนมาร์คยังเป็นแบรนด์นมไทยที่คนไทยนิยมบริโภค และได้สนับสนุนโคนมอาชีพพระราชทานให้เป็นอาชีพ ปัจจุบันในตลาดต่างประเทศมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เราต้องขยายตลาด หากสามารถส่งออกได้ก็จะรองรับน้ำนมดิบของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมไทยได้อย่างยั่งยืนในอนาคต ขณะเดียวกัน เราต้องพัฒนาองค์กร เราจะทำศูนย์นมครบวงจร พัฒนาอุตสาหกรรมและเป็นแหล่งเรียนรู้อีกด้วย”

ด้านนายณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ อ.ส.ค. กล่าวว่า คนไทยทุกเพศทุกวัยยังคงเป็นกลุ่มลูกค้าเดิม และเลือกซื้อนมไทย-เดนมาร์คเป็นประจำอยู่แล้วที่ยังรักและนิยมดื่มนมไทย-เดนมาร์ค โดยกลุ่มเป้าหมายลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ อายุระหว่าง 13-53 ปี (กลุ่ม Gen Z อายุ 8-20 ปี) ถึง (กลุ่ม Gen X อายุ 38-53 ปี) ที่ชื่นชอบในการค้นหา รับฟังข้อมูลของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และมองหาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีคุณภาพเป็นนมออร์แกนิก ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการรณรงค์การบริโภคนม ได้กำหนดเป้าหมายการเพิ่มปริมาณการดื่มนมของคนไทยจากปริมาณ 18 ลิตร เป็น 25 ลิตร/คน/ปี ภายในปี 2569

นอกจากช่วยรองรับปริมาณน้ำนมดิบล้นของเกษตร ยังส่งเสริมสุขภาพอนามัยที่ดี ซึ่งจากสถิติพบว่าการบริโภคของคนไทยดื่มนมเพียง 18 ลิตร/ปี และยังน้อยกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด ในขณะที่อัตราเฉลี่ยการบริโภคนมของประชากรทั่วโลกอยู่ในระดับ 113 ลิตร/คน/ปี ส่วน WHO กำหนดให้ดื่มนมเฉลี่ย 25 ลิตร/คน/ปี จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่า คนไทยยังดื่มนมน้อยมากหลายสิบเท่าเมื่อเทียบกับต่างประเทศ