‘เพียงพนอ บุญกล่ำ’ เปิดใจลงสมัครซีอีโอ ปตท. คนที่ 10

สร้างความฮือฮาไม่น้อย ในทันทีที่ปิดรับสมัคร “ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่” (CEO) คนที่ 10 ของกลุ่ม ปตท. เพื่อมารับตำแหน่งแทน นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ซึ่งกำลังจะเดินทางมาครบวาระในวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 ด้วยเหตุที่ในครั้งนี้มีผู้สมัครมากถึง 6 คน และที่สำคัญ 2 ใน 6 ยังเป็นสุภาพสตรี ถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ขององค์กรขนาด 1.24 ล้านล้านบาทแห่งนี้ ก่อนจะมีการแสดงวิสัยทัศน์และตัดเชือก “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “นางสาวเพียงพนอ บุญกล่ำ” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สำนักกฎหมาย ปตท. 1 ใน 2 สุภาพสตรีที่ลงสมัครในครั้งนี้ว่า

Q : เหตุผลที่ตัดสินใจลงสมัคร

ผู้บริหารในระดับนี้ของ ปตท.ทุกคนต่างมีความสามารถอยู่แล้ว ทั้ง 6 คนรวมถึงผู้บริหารที่ไม่ได้ลงสมัครด้วยเพราะอาจจะคิดว่าใกล้เกษียณ หรือพอแล้ว คนที่จะเป็นซีอีโอคนต่อไปต้องเผชิญความท้าทายสูง เป็นงานที่ดีมานดิ้งมากทุกอย่าง ฉะนั้น เราก็บอกว่าพร้อมที่จะเสนอตัวเป็นหนึ่งในทางเลือกแต่จะได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการสรรหา และพร้อมทำงานไม่ว่าจะอยู่ตำแหน่งไหน

Q : กำหนดที่จะแสดงวิสัยทัศน์

คิดว่าเป็นการเชิญทีละคน แต่ตอนนี้ยังไม่ได้มีกำหนดมาว่าจะเป็นวันไหน

Q : ครั้งนี้ผู้สมัครทุกคนอยู่ใน ปตท.

เราไม่ได้คุยกับผู้สมัครท่านอื่น แต่เราถือว่าเป็นวัฒนธรรมที่ดีของ ปตท. หลังจากคัดเลือกแล้วไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรเราก็ทำงานต่อเคารพซึ่งกันและกัน การที่มีผู้บริหารหญิงสมัคร 2 คน ถือเป็นมิติใหม่ เพราะประเทศไทยมีความโดดเด่นเรื่องนี้ มี 40% ของซีอีโอในเมืองไทยเป็นผู้หญิง หรือแม้แต่ในอุตสาหกรรมพลังงานก็มีผู้บริหารหญิงหลายคน ถือว่าประเทศไทยให้โอกาสผู้หญิงค่อนข้างเยอะ แต่ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องผู้หญิงหรือผู้ชาย ปตท.มีขนาดใหญ่ขนาดนี้ ถึงอย่างไรก็ต้องทำงานร่วมกัน

Q : ซีอีโอควรต้องพร้อมทุกด้าน เตรียมตัวอย่างไร

เราเชี่ยวชาญด้านกฎหมายก็จริง แต่เผอิญเราเป็นนักกฎหมายที่ทำด้านตลาดทุน ไอพีโอต่าง ๆ และก็เป็นบอร์ดอยู่ใน 2 บริษัทลูก คือ GPSC และ OR (ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก) ในที่ประชุม ต้องบอกว่าลักษณะของผู้บริหารที่ต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ต้องมีความเข้าใจทางธุรกิจ แต่ถามว่าต้องเข้าใจลึกซึ้งเหมือนผู้ที่คลุกอยู่ในธุรกิจขนาดนั้นหรือไม่ก็คงไม่ต้องขนาดนั้น แต่เราจำเป็นต้องเข้าใจว่าประเด็นหลักคืออะไร ตอนนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปเยอะ มีอะไรที่เกิดขึ้นมาใหม่ ๆ มากมาย ซึ่งไม่ว่าเราจะเป็นนักกฎหมาย เอ็นจิเนียร์ หรือสายไหนก็ต้องตามให้ทัน ดิสรัปชั่นความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุตสาหกรรมออยล์แอนด์แก๊สเรื่องสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน ภาพมันเปลี่ยนไปจากเดิมไม่ใช่เพียงภาพการผลิตอย่างเดียวอีกต่อไป

Q : ประสบการณ์ในการทำงานใน ปตท.

2 ปีเกือบครึ่ง แต่ก่อนหน้านี้มีโอกาสได้ทำงานกับ ปตท.มาตั้งแต่แปรรูปในฐานะที่ปรึกษากฎหมายข้างนอก เช่น คดีแปรรูป คดีมาบตาพุด รวมถึง ปตท.ไปซื้อเจ็ท และได้ทำไอพีโอให้หลาย ๆ บริษัทในกลุ่มตลอดมา เรียกว่าไม่ใช่คนใหม่ คนแปลกหน้าใน ปตท.

Q : มองอนาคต ปตท.ควรมุ่งไปทางไหน

หนีไม่ได้ที่จะต้องตามให้ทันว่าโลก โชคดีก็คือว่า เรื่องฟอสซิลประเทศแถบ ๆ เราอีก 10 ปีนับจากนี้ก็ยังคงเป็นเชื้อเพลิงพลังงานที่สำคัญ แต่โลกสมัยนี้ก็เปลี่ยนแปลงเร็ว รวมถึงทั่วโลกต่างให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ฉะนั้น ก็ต้องมีการปรับตัวตั้งแต่วันนี้ ถ้ารอช้าไป ก็สายไป

Q : แผนลงทุน 5 ปี ปตท.มุ่งทางนั้น


จริง ๆ แผน 5 ปีเป็นเรื่องการมองหาโอกาสทางธุรกิจ เรียกว่าต้องดู เพราะว่าในเมืองไทยก็ค่อนข้างเต็มอิ่ม ฉะนั้น การขยายไปต่างประเทศเป็นเรื่องที่จำเป็น