ส.ป.ก.ปฏิรูปกฎหมาย วางแนวทางแก้ปัญหาที่ทำกิน

ที่ดิน สป.ก.
แฟ้มภาพประกอบข่าว

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “ที่ดินทำกิน” เป็นหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการปฏิรูปภาคการเกษตรของไทย ไม่ว่าจะผ่านมากี่รัฐบาล การยึดคืนพื้นที่ ส.ป.ก.ยังเป็นประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจ หวังให้กฎหมายเป็นบรรทัดฐานอย่างเท่าเทียมระหว่างรัฐ นายทุน และเกษตรกร ล่าสุด ส.ป.ก.เร่งเครื่องรีไรต์กฎหมาย กำหนดกรณี หากมีการเปลี่ยนมือซื้อขายครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.ต้องมีโทษ โดยวางกรอบแผนดำเนินงาน 2 เดือน ภายใต้การขับเคลื่อน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ

รีไรต์กฎหมาย ส.ป.ก.

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยอมรับว่ากฎหมาย ส.ป.ก.ไม่ทันสมัย มีการเปลี่ยนแปลงที่ดินทำกินไปค่อนข้างมาก ทำให้เกิดปัญหาจึงต้องเร่งแก้ไขปัญหากรณีเกษตรกรผู้ได้รับการจัดสรรที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) ที่ไม่ประสงค์จะทำประโยชน์ในที่ดินนั้นต่อไป และขอคืนสิทธิให้แก่ ส.ป.ก.เนื่องจากชราภาพ ทุพพลภาพ เจ็บป่วยเรื้อรัง หรือประสงค์จะประกอบอาชีพอื่น และไม่มีทายาทหรือมีทายาท

โดยเฉพาะกรณีทายาทที่ไม่ประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม ส.ป.ก.ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานเพื่อจ่ายค่าชดเชยการคืนสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินให้แก่เกษตรกร เบื้องต้น ส.ป.ก.จะปรับปรุง “กฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร” เอากฎหมายเก่ามารีไรต์ใหม่เป็นโครงการที่ของบประมาณไว้ 120 ล้านบาท จะนำมาพัฒนาระยะเเรก 10 ล้านบาท เพื่อจ่ายเป็นค่าชดเชยให้เกษตรกร

และหลังจากนี้จะเดินสายรับฟังความเห็นเกษตรกรทั่วประเทศ 72 จังหวัด 716 อำเภอ 3,720 ตำบล มีพื้นที่ ส.ป.ก.ประมาณ 40.13 ล้านไร่ แบ่งเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่อยู่อาศัยและที่เอกชนจำนวน 3.675 ล้านแปลง จำนวน 2.87 ล้านราย เป็นที่ดินจำนวน 36.089 ล้านไร่ คงเหลือที่ดินที่ยังไม่จัดสรรจำนวนประมาณ 4.01 ล้านไร่ มีพื้นที่ที่ยังไม่รังวัด 505,291 ไร่ และเกษตรกรไม่เข้าร่วมการปฏิรูป 1.438 ล้านไร่

นายวิณะโรจน์ ฉายภาพให้เห็นว่าไปัจจุบัน ส.ป.ก.ได้รับมอบที่ดินป่าเสื่อมโทรมจากกรมป่าไม้ทั้งสิ้น จาก 50 ล้านไร่ เป็น 40 ล้านไร่ เพื่อนำมาปฏิรูปจัดสรรให้เกษตรกร เฉลี่ยปีละ 63,000 ราย บนพื้นที่ประมาณ 50,000 ไร่ต่อปี เมื่อมอบที่ดินให้แล้วก็ต้องป้องกันไม่ให้ซื้อขายเปลี่ยนมือ ยอมรับว่าปัญหา ส.ป.ก.มีค่อนข้างมากในประเด็นนี้

ดังนั้นในการแก้ไขกฎหมายต้องแต่งตั้งอนุคณะทำงาน เพื่อร่างกฎหมาย จากอดีตเดิมเลขาฯ ส.ป.ก.เป็นประธาน ประกอบด้วย รัฐ เอกชน ต่อไปจะให้มาช่วยดูวิธีการที่จะช่วยอนุมัติกฎระเบียบดังกล่าวให้สอดคล้องกับสังคมในปัจจุบันควบคู่ไปกับมองดูมิติทุกด้าน โดยเฉพาะ “ค่าพัฒนา” ดังกล่าวที่ไม่ประสงค์ทำเกษตรต่อไป ซึ่งยอมรับว่าเป็นจุดอ่อนของภาคเกษตร

เช่น กฎหมาย ส.ป.ก. จากที่ไม่มีการเอาผิดบุกรุกที่ดินเหมือนกับกฎหมายของป่าไม้ ซึ่ง ส.ป.ก.ไม่สามารถก้าวล่วงได้เพราะตามหลักการแล้ว “เป็นกฎหมายส่งเสริม ไม่ใช่กฎหมายลงโทษ” ปัญหาที่ผ่านมาจะพบว่าเกษตรกรอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ดังนั้น เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิวิพากษ์กฎหมาย ส.ป.ก. รวมถึงรวบรวมรายละเอียด รายชื่อ จำนวน ที่ดินทรัพย์สิน รวมถึงอัตราค่าเช่าที่ ส.ป.ก.ภาคเอกชน

โดยจะมีการประชุมหารือในวันที่ 13 ธันวาคมนี้ และหลังจากนี้ 2 เดือนจะนำเสนอคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ภารกิจ ส.ป.ก.นี้จะเห็นการเปลี่ยนเเปลงมากพอสมควร ถ้าใครไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ระบุขึ้นมาใหม่ต่อไป จะต้องถูกดำเนินคดี เราย้ำชัดมาตลอดว่าเกษตรกรคือเกษตรกรคุณสมบัติไม่ได้คือไม่ได้ จะเป็นอาชีพอื่นครอบครองที่ ส.ป.ก.ไม่ได้

ธรรมนัสสั่งสแกนที่รายจังหวัด

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ในฐานะที่เข้ามาดูเเล ส.ป.ก.จะเร่งผลักดันนโยบายให้เข้ามามีการตรวจสอบที่ดิน ส.ป.ก.ทั่วประเทศ และได้สั่งสแกนทุกแปลงโดยไม่มีเลือกปฏิบัติ หากรายใดถือครองผิดกฎหมาย เร่งดำเนินการตามกฎหมายยึดคืนทั้งหมดตามข้อสั่งการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้จัดสรรที่ดินทำกิน

ขณะที่ นายนภดล ตันติเมฆิน ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย ส.ป.ก. กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะส่งมอบที่ดินป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรมให้ ส.ป.ก.จัดสรรให้เกษตรกร สิ่งที่ต้องบูรณาการแก้ไข ส.ป.ก.จะตรวจสอบคุณสมบัติว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์การจัดสรรที่ดินของ ส.ป.ก.หรือไม่ กรณีที่ดินฟาร์มไก่ที่กำลังเป็นปัญหาขณะนี้เป็นตัวอย่าง ที่พบว่าผู้ถือครองที่ดินเดิมที่ติดมาด้วยขาดคุณสมบัติ “เกษตรกร” ต้องขอที่ดินคืน แต่ต้องเข้าใจว่ากฎหมายส.ป.ก.ไม่มีการดำเนินคดีเว้นแต่ผู้ถือครองที่ดินไม่ให้ความร่วมมือก็ต้องดำเนินคดีโดยกรมป่าไม้