“อีอีซี”รุกกลืนธุรกิจมันสำปะหลัง ราคาที่ดินพุ่งลานมัน-โรงแป้งแห่ขายทิ้ง

ธุรกิจลานมันตะวันออกปิดระนาว หลังขยายการลงทุนอีอีซีอุตสาหกรรม-นิคม ดันราคาที่ดินพุ่ง เกษตรกรลดปลูก นายกสมาคมมันตะวันออกชี้อีก 5 ปี มีสิทธิ์สูญพันธุ์ ปัจจุบันเหลือโรงแป้ง6-7 แห่ง ราคามันสำปะหลังสูงทะลุราคาประกัน ส่งออกจีนแผ่วมาก


นโยบายส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาซื้อขายที่ดินในเขตนิคมอุตสาหกรรม ปี 2561 ปรับตัวสูงขึ้นถึง 9-10% จากปี 2560 โดยเฉพาะราคาที่ดินที่มีการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับอีอีซี ซึ่งในวันที่ 1 มกราคม 2564 กรมธนารักษ์จะประกาศราคาประเมินที่ดินใหม่เฉลี่ยทั่วประเทศ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 10-20% เช่นกัน

นายสมชาย วราธนสิน นายกสมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย (สมาคมมันภาคตะวันออก) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สถานการณ์การปลูกมันสำปะหลังเปลี่ยนแปลงไป หลังจากมีการขยายตัวของการลงทุนภาคอุตสาหกรรมเข้ามายังพื้นที่ภาคตะวันออกมากขึ้น โดยมีการเข้ามาลงทุนขยายพื้นที่ทำนิคมอุตสาหกรรมใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก เช่น อ.ปลวกแดง จ.ระยอง จ.ชลบุรี ผลจากการเปลี่ยนไปสู่การลงทุนอุตสาหกรรม ทำให้ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นจูงใจให้ขายที่ดินให้ภาคอุตสาหกรรมแทนการทำการเกษตร โดยยกตัวอย่าง จ.ระยองเคยมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังหลักแสนไร่ ปัจจุบันเหลือหลักหมื่นไร่ ชลบุรีก็มีประมาณ 1 แสนไร่ ซึ่งมีผลผลิตไม่พอใช้ในพื้นที่ต้องดึงมันสำปะหลังจากเพื่อนบ้าน

จากปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้ธุรกิจลานมันและโรงงานแป้งมันในพื้นที่ภาคตะวันออกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยขณะนี้ไม่มีลานมันรับซื้อมันสำปะหลังสดในพื้นที่ จ.ชลบุรีแล้ว ทำให้เกษตรกรต้องขายผลผลิตให้กับโรงงานแป้งมันทั้งหมดซึ่งจำนวนโรงงานแป้งมันในพื้นที่ก็ลดลงเช่นกัน เหลืออยู่ประมาณ 6-7 แห่ง เช่น ชลเจริญ หนองใหญ่ และมี 2-3 แห่งใน อ.บางละมุง เช่น สหมิตร และโค้วชั่งเอี๊ยะอุตสาหกรรมแป้งมันและสาคู และมีที่ อ.ท่าแง้วอีก 1 โรงงาน

“ภาคตะวันออกเคยเป็นพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังสำคัญ เปรียบเสมือนเมืองหลวงแห่งมันสำปะหลังในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงไปหมด ธุรกิจลานมันกลายเป็นศูนย์ เพราะราคาที่ดินแพงขึ้น จากการขยายเข้ามาของโรงงาน ความเจริญเข้ามา ปัญหาการจราจรติดขัด เกิดมลพิษ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นผู้ประกอบการบางส่วนไปลงทุนเทลานตาก เพื่อรับซื้อมันสำปะหลังในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ไปกัมพูชา และบางส่วนหันไปที่ต้นทาง คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเห็นว่าสัดส่วนพื้นที่ที่เป็นแหล่งปลูกมันหลักของประเทศไปอยู่ที่ จ.นครราชสีมา จ.กำแพงเพชร จ.กาญจนบุรี และ จ.ราชบุรีแล้ว ผมมองว่าอนาคตอีก 5 ปี เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในภาคตะวันออกมีโอกาสจะหมดไป ผู้ประกอบการก็อาจจะไม่มีการลงทุนใหม่ คนที่ยังทำอยู่ก็คงทำอยู่ในปริมาณเท่าเดิมไม่เพิ่มขึ้น ทำเท่าที่ทำได้”

นายสมชายกล่าวว่า ในปีนี้สถานการณ์ผลิตมันสำปะหลังปรับลดลง ส่งผลให้ราคาซื้อขายหัวมันสำปะหลังสด ปัจจุบันเฉลี่ย กก.ละ 2.60-2.70 บาท สูงกว่าราคาที่รัฐบาลประกาศในโครงการประกันรายได้ที่ กก.ละ 2.50 บาท ซึ่งจะทำให้รัฐไม่ต้องจ่ายชดเชยให้เกษตรกร

“เป็นที่น่าห่วงว่าปีนี้ผลิตไม่ได้มากขึ้น แต่ตลาดส่งออกจีนก็สู้ราคาไม่ได้ เราแพง จากบาทแข็งค่าขึ้นด้วย เขาซื้อไปทำแอลกอฮอล์ก็ซื้อไม่ไหว เพราะเศรษฐกิจจีนปีนี้ลดลง การบริโภคลดลง ทั้งยังมีสต๊อกข้าวโพดในประเทศขายออกมาแข่งทำแอลกอฮอล์อีก ทำให้การส่งออกลดลง”

รายงานข่าวจากกรมศุลกากร ระบุว่า ในช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) 2562 มีการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 5.82 ล้านตัน ลดลง 17.57% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และด้านมูลค่า เท่ากับ 2,263 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 13.50% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายสมชายกล่าวว่า ส่วนตัวประกอบธุรกิจบริษัท ทาบิโอก้า อินดัสตรี กรุ๊ป จำกัด ซึ่งรับซื้อกากมันสำปะหลัง เพื่อนำไปจำหน่ายเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ ปัจจุบันมีตลาดส่งออกหลักคือ เกาหลี นิวซีแลนด์ และตุรกี ที่มีโอกาสมาก โดยราคารับซื้อกากมันสำปะหลังอยู่ที่ กก.ละ 3 บาท ขณะที่ราคามันเส้นซื้อที่ กก.ละ 6 บาท ส่วนราคาส่งออกกากมันสำปะหลังอยู่ที่ตันละ 140 เหรียญสหรัฐ

“เรารับซื้อกากมันต่อจากโรงแป้ง กก.ละ 3 บาท ส่งออกไปต่างประเทศผลิตอาหารสัตว์ และมีขายภายในประเทศให้กับโรงงานอาหารสัตว์ซึ่งรับซื้อ กก.ละ 4 บาท ปีนี้ยอดส่งออกกากมันก็ลดลงเยอะ จากเคยส่งออกได้ 4-5 แสนตันก็เหลือเพียง 1 แสนตัน เพราะผลผลิตลดลงมาก”