ดีลเลอร์โวยปตท. แข่งตั้งปั๊มน้ำมันซ้ำซ้อน

เจ้าของปั๊มน้ำมันแบรนด์ ปตท.กระอัก บริษัทแม่เร่งขยายปั๊มบนถนนทั้งสายหลัก-สายรองทั่วประเทศ ล่าสุดมากกว่า 1,700 แห่ง ชี้สายมิตรภาพปากช่อง-โคราช มีปั๊ม ปตท.ถึง 24 แห่งทำให้แย่งยอดขายกันเอง ยังไม่หยุดสร้าง ประกาศเพิ่มอีกปีละ 100 แห่ง เตรียมดัน Jiffy แข่งอีกแบรนด์

หลังจากที่ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้นำเสนอข่าว “ธุรกิจปั๊มน้ำมันแข่งเดือด ดีลเลอร์บี้ ปตท.เพิ่มมาร์จิ้น” ไปก่อนหน้านี้ โดยผู้แทนค้าน้ำมัน (ดีลเลอร์) ปตท.ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ค่าการตลาด

น้ำมัน หรือ marketing margin ที่บริษัท ปตท.ให้กับดีลเลอร์ที่เปิดปั๊มน้ำมัน ปตท.ปัจจุบันอยู่ในระดับที่ “ต่ำมาก” หรืออยู่ในอัตราเพียง 0.90 บาท/ลิตร นั้น ไม่สามารถสะท้อนต้นทุนในการลงทุนสร้างปั๊ม ปตท.ที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทขึ้นไปได้ ล่าสุดปั๊มน้ำมัน ปตท.เหล่านี้ยังต้องประสบปัญหาการเปิดปั๊มน้ำมันแบรนด์เดียวกันทับซ้อนในพื้นที่เข้าไปอีก โดยปรากฏการณ์ปั๊มน้ำมัน ปตท.ที่เปิด “ติดกันเป็นพืด” ดังกล่าว ไม่ได้เกิดเพียงบางพื้นที่ แต่เกิดการทับซ้อนกันทั่วประเทศ ซึ่งมาจากการ “เร่ง” ขยายจำนวนปั๊มน้ำมัน ปตท.มากเกินไป

ดีลเลอร์โวยยอดขายหด

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ผู้แทนค้าน้ำมันภายใต้แบรนด์ ปตท.ทั่วทุกภาคในประเทศกำลังได้รับผลกระทบจากการขยายสถานีบริการน้ำมันของ ปตท.ที่ “ทับซ้อน” กับสถานีบริการเดิมที่ให้บริการในพื้นที่อยู่แล้ว แม้ว่าเดิมทีบริษัท ปตท.จะกำหนดเงื่อนไขให้สถานีบริการน้ำมัน ปตท.แต่ละแห่งจะต้องมีระยะห่างกันประมาณ 30-40 กม.แต่ปัจจุบันปั๊มน้ำมัน ปตท.ในถนนสายหลักหลาย ๆ สาย กลับมีระยะห่างกันเพียงแค่ 1 กม.เท่านั้น

ทั้งนี้ การที่ปั๊มน้ำมัน ปตท.มีระยะห่างกันน้อยมากดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อยอดขายน้ำมันของดีลเลอร์เฉลี่ยลดลงจากเดิมที่ระดับ 600,000 ลิตร/เดือน มาอยู่ที่ประมาณ 400,000 ลิตร/เดือน ในถนนสายหลักสายรองที่มีปั๊มน้ำมัน ปตท.หนาแน่นมาก

เมื่อพิจารณาจำนวนสถานีบริการน้ำมันตั้งแต่ปี 2553 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2560 พบว่า ปตท.มีสถานีบริการน้ำมันใหม่ “เกิดขึ้น” รวม 559 แห่ง หรือเทียบเท่าจำนวนสถานีบริการน้ำมันของบริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย ที่มีอยู่ทั่วประเทศในขณะนี้

“เมื่อพิจารณาส่วนแบ่งทางการตลาด (market share) ของ ปตท.ในปัจจุบันอยู่ที่เพียงร้อยละ 40 (จากเดิมร้อยละ 39) ซึ่งถือเป็นการขยายตัวที่ “ไม่สัมพันธ์” กับจำนวนสถานีบริการที่เพิ่มขึ้น โดยการเพิ่มขึ้นในจำนวนดังกล่าว ส่วนแบ่งทางการตลาดของ ปตท.ควรเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 45 ด้วยซ้ำ” ดีลเลอร์ปั๊มน้ำมัน ปตท.แห่งหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ”

อย่างไรก็ตาม ดีลเลอร์ปั๊มน้ำมัน ปตท.ทุกคนเป็นกังวลอยู่ในตอนนี้คือ การที่ ปตท.ประกาศแผนจะขยายจำนวนสถานีบริการน้ำมัน ปตท.เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อยปีละ 100 แห่ง (ตามแผนการลงทุน 5 ปี ระหว่าง 2559-2564) ซึ่งเท่ากับว่าปัญหาการสร้างสถานีบริการน้ำมัน ปตท.

“ทับซ้อนกัน” ยิ่งจะกระจายวงกว้างมากขึ้น เนื่องจาก ปตท.เน้นจะขยายจำนวนปั๊มน้ำมันในพื้นที่ที่มียอดขายสูง แทนเลือกใช้วิธีขยายปั๊มใน”ทำเลใหม่” ที่ยังไม่มีผู้ค้าน้ำมันเข้ามาเปิดปั๊ม

ดังนั้นจึงกลายเป็นว่าขณะนี้สถานีบริการน้ำมันของ ปตท.ที่มีอยู่ทั่วประเทศ 1,721 แห่ง กำลังตกอยู่ในภาวะ “แย่งส่วนแบ่ง” ซึ่งกันและกัน เพราะส่วนแบ่งทางการตลาดของผู้ค้าน้ำมันแบรนด์อื่น ๆ ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และปั๊มน้ำมันคู่แข่ง ปตท.บางรายยังคงรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดเดิมไว้ได้ ที่สำคัญ ปตท.ยังมีแนวคิดที่จะขยายสถานีบริการน้ำมันและร้านสะดวกซื้อ Jiffy (ที่ ปตท.take over มาจาก ConocoPhillips จำนวน 146 แห่ง ในราคา 275 ล้านเหรียญ ในปี 2550) เพิ่มเติมในพื้นที่ที่มีปั๊มน้ำมัน ปตท.เดิมตั้งอยู่ด้วย

“ผมทำปั๊มน้ำมันกับ ปตท.มาไม่ต่ำกว่า 20 ปี เห็นว่าการเร่งขยายปั๊มใหม่ของ ปตท.จำนวนมากแบบนี้ไม่ได้เป็นการสกัดคู่แข่งตามที่ ปตท.ชอบกล่าวอ้าง แต่มันคือการสกัดปั๊มน้ำมัน ปตท.กันเองมากกว่า ยกตัวอย่างปั๊ม ปตท.บางแห่งเป็นตัว top ทำรายได้สูงจากยอดขายให้กับ ปตท.มาตลอด แต่อยู่มาวันหนึ่งบริษัทแม่ก็อนุมัติให้มีการเปิดปั๊ม ปตท.ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ห่างกันไม่ถึง 3-5 กม. ยอดขายเขาก็หายไป บางรายกู้เงินแบงก์มาเปิดปั๊มยอดขายหายไปมากกว่า 50% อย่างนี้แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายหนี้แบงก์ ตอนนี้มีดีลเลอร์ปั๊ม ปตท.หลายรายกำลังจะกลายเป็น NPL ไม่เห็นผู้บริหาร ปตท.ออกมาช่วยอะไร เล่นเปิดปั๊มในพื้นที่เดียวกันในถนนเส้นเดียวกัน ค่าการตลาดก็ให้ต่ำกว่าชาวบ้าน ถามหน่อยว่า สุดท้ายแล้วใครจะอยู่ได้” เจ้าของปั๊ม ปตท.อีกรายกล่าว

ปั๊มปตท.มีทุก 1-3 กม.

ล่าสุด กรมธุรกิจพลังงาน รายงานจำนวนสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศช่วงไตรมาส 2 ปี 2560 พบว่าในพื้นที่ภาคอีสานมีปั๊มน้ำมัน ปตท.รวม 473 แห่ง

โดยผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้ลงพื้นที่สำรวจบนถนนสายหลัก อย่างถนนมิตรภาพ เริ่มตั้งแต่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา กม.ที่ 115 จนถึง กม.ที่ 194 หรือเพียง 79 กม.ปรากฏมีปั๊มน้ำมัน ปตท.ถึง 24 แห่ง เฉลี่ยเท่ากับแต่ละปั๊มห่างกันประมาณ 3 กม.เท่านั้น

และในถนนสายรองเส้น อ.ด่านขุนทด-อ.โชคชัย ไปจนถึง อ.เมืองโคราช มีปั๊มน้ำมัน ปตท.เฉลี่ยแต่ละแห่งห่างกันระหว่าง 1-2 กม.เท่านั้น และเมื่อสำรวจเป็นรายจังหวัด เช่น บุรีรัมย์ พบว่ามีปั๊มน้ำมัน ปตท.ถึง 21 แห่งบนถนนสายโชคชัย-เดชอุดม ส่วนถนนบุรีรัมย์-นางรอง ก็มีปั๊ม ปตท.ห่างกันเฉลี่ย 2-3 กม. ขณะที่พื้นที่ภาคตะวันออก

ไม่แตกต่างกัน มีปั๊ม ปตท.รวมกันถึง 168 แห่ง และเมื่อสำรวจเส้นทางตั้งแต่ จ.ฉะเชิงเทราไปจนถึงชลบุรี พบว่ามีสถานีบริการน้ำมัน ปตท.เฉลี่ยห่างกันเกือบทุก 1-3 กม. ขณะที่พื้นที่ภาคเหนือมีปั๊มปตท.รวม 264 แห่ง และมีการเปิดปั๊ม ปตท.ลักษณะนี้ในภาคกลางและภาคใต้ด้วย

ล่าสุดผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานจาก อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย มีดีลเลอร์ที่ทำปั๊มน้ำมัน ปตท.แห่งหนึ่งยื่นฟ้องบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) สะท้อนถึงปัญหาการตั้งปั๊มน้ำมัน ปตท.ทับซ้อนในพื้นที่เดียวกัน โดย นายนเรศ ตรีดำรง เจ้าของปั๊มน้ำมัน ปตท.ในนามบริษัท นวดีพัฒนา จำกัด กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ยื่นฟ้องศาลอาญาเนื่องจากตนได้ยื่นขอพัฒนาสถานีบริการน้ำมันพร้อมระบุที่ดินเป้าหมายที่จะดำเนินการซื้อด้วย แต่กลับไม่มีการพิจารณาจนครบกรอบเวลา ที่ปตท.กำหนดไว้ คือ 180 วัน แต่เจ้าหน้าที่ของ ปตท.ยืนยันว่าจะมีการพิจารณาในเร็ว ๆ นี้ หลังจากนั้นจึงได้ซื้อที่ดินแห่งใหม่เพื่อจะยื่นขอสร้างปั๊มน้ำมันใหม่อีก แต่กลับพบว่าที่ดินเป้าหมายแรกที่เคยยื่นเสนอไปก่อนหน้านี้ ปตท.กลับ “อนุมัติ” ให้เอกชนรายอื่นเป็นผู้ดำเนินการ ถือเป็นการดำเนินการโดยมิชอบ ในขณะที่เงื่อนไขเดิมระบุไว้ชัดเจนว่า ในกรณีที่ ปตท.ต้องการขยายสถานีบริการเพิ่มจะต้องถามตัวแทนผู้ค้าน้ำมันที่อยู่ในพื้นที่ก่อนว่าจะลงทุนเองหรือให้รายอื่น