“บิ๊กฉัตร” ปฏิวัติเกษตรกรสู่ 4.0 ระดมแผนดิน-น้ำ เทคโนโลยี Agri-map

สัมภาษณ์

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ 1 ในหัวหอกสำคัญในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ เป็น 1 ในกระทรวงที่ต้องทำนโยบายให้เกิดเป็นรูปธรรม จับต้องได้ ซื้อใจมวลชนระดับฐานราก การเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายให้เกษตรกร ด้วยการทะยานสู่เกษตรกร 4.0 ภายใต้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่

การทำให้เกษตรกร-ชาวนา ได้เข้าใกล้ความมั่งคั่ง อย่างยั่งยืน เป็นภารกิจที่ท้าทายรัฐบาลทหาร “ประชาชาติธุรกิจ” สนทนาพิเศษ กับ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ปฏิวัติเกษตรกรด้วยแผน “ดิน-น้ำ และ Agri-map”

Q : ผลงานที่กระทรวงเกษตรฯในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ผลงานเกิดจากนโยบายที่วางไว้ โดยเฉพาะการสร้างความเข้มแข็งและด้านเทคโนโลยีใช้ Agri-map จากที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ก็พัฒนาเข้าสู่ระบบโมบายโฟน เชื่อมโยงถึงหน่วยงานอื่น บ่งบอกได้ว่า จุดไหนดินดี-ไม่ดี มีสาธารณูปโภคแหล่งรับซื้อ คลังสินค้า ดังนั้น Agri-map ถือว่าก้าวหน้าไปมาก แต่มีการปรับเพิ่มระบบน้ำเข้าไป ใช้วางแผนในการผลิตได้

มีการเสริมสร้างศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ให้เข้มแข็ง เพื่อส่งเสริมการทำการเกษตรที่เหมาะสม โดยมี Agri-map เป็นเครื่องมือนำทาง ส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่ ปรับเปลี่ยนการเกษตร เพื่อเพิ่มรายได้/ผลผลิต โดยเฉพาะพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ มีผลผลิตต่ำ และมีความเสี่ยง

ส่วนเรื่องการสร้างองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร ปีที่แล้วทำได้ 882 แห่ง และปีนี้ขยายจากทุกอำเภอลงสู่ตำบล มีเครือข่ายกว่า 10,500 ศูนย์ทั่วประเทศ ทำให้เกษตรกรมีผู้นำสร้างแรงบันดาลใจ เมื่อสร้างกลไกนี้ได้ก็จะต่อเนื่อง ให้รวมกลุ่มแปลงใหญ่ ปีนี้กำหนดเป้าหมายไม่น้อยกว่า 900 แปลง รวมทั้งสิ้น 1,512 แปลง โดยแต่งตั้งคณะทำงานรับรองแปลง Single Command (ประธาน/เกษตรจังหวัด/เลขานุการ) ต้องมีฐานข้อมูลที่ชัดเจนทุกราย เพื่อให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น

“แปลงใหญ่กับตลาด ถ้าไปกันได้ก็วิน-วินทั้งสองฝ่าย พ่อค้าไม่ต้องตระเวนรับซื้อ คนผลิตก็มีตลาดที่ชัดเจน ใช้กลไกประชารัฐ เช่น เรื่องข้าว ให้ราคาเพิ่มตันละ 500 บาท เป็นเรื่องการเชื่อมโยงตลาดยกระดับสินค้าเกษตร รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นจากการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เฉพาะข้าว 900 บาทต่อตัน เพิ่มขึ้นเห็นได้ชัด”

Q : นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ภาคเกษตร

ไทยแลนด์ 4.0 เป็นนโยบายรัฐบาล แปลงไหนที่มีความเข้มแข็งมาก จะเอาเทคโนโลยีเข้าไปใส่ และเริ่มมีการจัดทำการเกษตรแบบแม่นยำ คาดหวังว่าจะต้องมีแปลงใหญ่ในลักษณะ 4.0 เป็นแปลงใหญ่นำร่อง เป็นหัวหอกนำทางให้เห็นว่า หากใช้เทคโนโลยีนำทางจะดีอย่างไร ทั้งการใช้โดรน ให้ปุ๋ย ระบบหยอด ต้องทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน และภาครัฐเองต้องมีงบประมาณสนับสนุนทางวิชาการ ในปีการผลิต 2561/2562 ให้ปลัดกระทรวงเป็นหัวหน้าคณะทำงาน เพื่อนำไปสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ โดยอาจเอาสินค้าเกษตรหลักมาชู เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน โคนม ปีนี้ใช้แผนข้าวครบวงจรเป็นตัวนำผลผลิต ปีนี้น้ำท่าดีกว่าทุก ๆ ปี อาจมีผลกระทบบ้าง แต่พยายามเดินหน้าตามแผนควบคุมผลผลิตให้ได้ตามเป้า ทั้งนี้นโยบายต้องการเพิ่ม

ผลผลิตข้าว มีแผนภายใต้การกำกับของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) แม้ปีนี้เจอปัญหาข้าวหอมมะลิเสียหายไป 5-6 แสนไร่ แต่ราคาดีมาก ตันละ 1.4-1.5 หมื่นบาท

Q : แผนบริหารจัดการน้ำพอใจแค่ไหน

เรื่องการบริหารจัดการน้ำ ผมพอใจมากทีเดียว ตั้งแต่ผมเข้ามาเป็นรัฐมนตรีเกษตรฯ ก็ให้ความสนใจกับเรื่องนี้มาก เพราะไม่ใช่เกี่ยวพันกับการทำเกษตรเท่านั้น แต่ถ้าน้ำท่วม ทำให้ธุรกิจเสียหายไปด้วย จะคอยดูเรื่องนี้ กำกับดูแลด้วยตัวเอง ทุกครั้งที่ระบายน้ำต้องชี้แจง รับทราบใกล้ชิด ขณะเดียวกันก็ปล่อยให้กรมชลประทานใช้เทคนิคอย่างชำนาญ เราให้นโยบาย ดังนั้นระยะนี้เป็นไปตามแผน หลายพื้นที่เราบริหารผ่านวิกฤตภัยแล้ง พื้นที่เสียหายระดับ 1,000 กว่าไร่ ปีที่แล้วเราปรับทำให้ความเสียหายน้อยลงไปอีก ที่เห็นชัดคือ พื้นที่บางระกำ เราปรับเวลาปลูกข้าวเป็นเดือนเมษายน ตอนนี้เก็บเกี่ยวแล้ว สามารถเก็บน้ำเป็นแก้มลิงต่อได้ 500 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ 2.65 แสนไร่ ปีนี้เกษตรกรก็ฝากน้ำไว้ได้ ขณะเดียวกันก็เป็นการชะลอน้ำเข้าภาคกลาง ชาวบ้านก็จับปลาขายได้

Q : การจัดการน้ำหลากลุ่มเจ้าพระยา

น้ำที่หลากลงมาด้านล่างจากนครสวรรค์ลงมา มีแผนรองรับ โดยโครงการระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จะขออนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่จะไปประชุมที่สุพรรณบุรี-พระนครศรีอยุธยา วันที่ 18-19 ก.ย.ที่จะถึงนี้ จะเกิดโครงการนี้แน่นอน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ออกสำรวจ เวนคืนที่ดินออกแบบเสร็จแล้ว ขณะเดียวกัน 12 ทุ่งใต้นครสวรรค์ลงมา ประมาณ 25-26 ก.ย.นี้ จะเก็บน้ำได้ 1,500 ล้าน ลบ.ม. หลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ น้ำที่อยู่ในทุ่งก็มีแผนระบายไม่ให้เกิดผลกระทบ งาน 2 ปีคือปี 2559-2560 อาจไม่เห็นโครงการขนาดใหญ่ เพราะต้องใช้เวลาสำรวจออกแบบและศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่เราจะไปเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำ กักเก็บน้ำ และกระจายน้ำลงสู่ที่เกษตรแทน ดังนั้น เราทำผลงานด้านน้ำ 2 ปี เทียบเท่า 10 ปีของรัฐบาลที่ผ่านมา ทั้งเพิ่มที่ชลประทานและปริมาณกักเก็บ

Q : ยุทธศาสตร์น้ำของ ก.เกษตรฯ

แผนบริหารจัดการน้ำระยะยาวของรัฐบาล เราเดินหน้าไปแล้ว ท่านนายกรัฐมนตรีก็อยากเห็นความสำเร็จของแผนนี้ ประเทศไทยมีหน่วยงานด้านทรัพยากรน้ำมากถึง 34 หน่วย ใน 9 กระทรวง มีงบประมาณปีละ 50,000-60,000 ล้านบาท

ไม่ได้บูรณาการทำงานร่วมกัน ต่างหน่วยต่างทำ ไม่มีแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาพรวม ที่ใกล้เคียงคือ แผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท แต่เน้นเฉพาะการแก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก และเป็นการดำเนินการโดยรัฐบาลจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชนทั้งหมด ไม่ได้บูรณาการหน่วยงานต่าง ๆ มาร่วมทำงาน และมีปัญหาเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และการจัดซื้อจัดจ้างที่มีข้อสงสัยมาก จนนำไปสู่ความขัดแย้งในวงกว้าง

เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามาได้ยกเลิกแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 57 โดยมีผมเป็นประธาน คณะกรรมการกำหนดนโยบายฯได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำระยะ 12 ปี (2558-2569) ครม.ได้อนุมัติใช้เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 58 เป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำในด้านต่าง ๆ ระดับประเทศ กำหนดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์

ในส่วนกระทรวงเกษตรฯเองมีเป้าหมายที่สำคัญในการบริหารจัดการน้ำ คือ ทำประปาหมู่บ้าน 7,490 แห่ง ประปาโรงเรียน 6,132 แห่ง ให้ครบทุกแห่งในปี 2564 เพิ่มน้ำต้นทุน 8,420 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะดำเนินการโดยกรมชลประทาน 4,800 ล้าน ลบ.ม. ขยายพื้นที่ชลประทานอีก 8.70 ล้านไร่ ขุดขยายแม่น้ำสายหลัก ความยาวรวม 870 กม. ทำคันกั้นน้ำในพื้นที่สำคัญ 185 แห่ง การฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม มีเป้าหมาย 4.77 ล้านไร่ การป้องกันการสูญเสียหน้าดินในพื้นที่การเกษตรลาดชันเพื่อการชะลอน้ำในลุ่มน้ำ มีเป้าหมาย 9.48 ล้านไร่