“ซาอุ-อิหร่าน” ผุดบ่อเลี้ยงกุ้ง ส่งออกไทยเดี้ยงบาทแข็งซัพพลายท่วมโลก

วิกฤตส่งออกกุ้ง 10 เดือนฮวบ 5% บาทแข็งทุบราคาดิ่ง แถมคู่แข่งเพิ่มการเลี้ยงทะลุ 3.4 ล้านตัน “ซาอุฯ-อิหร่าน” ยังโผล่เลี้ยงกุ้ง เอกชนแนะรัฐกู้บาทแข็ง-ลุุยตลาด “จีน” ดันส่งออกปี”63 พลิกกลับเป็นบวก 20%

ดร.สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยว่า การส่งออกกุ้งในปีนี้คาดว่าจะมีปริมาณ 160,000-165,000 ตัน ลดลง 5% จากปีก่อน และมีมูลค่า 50,000-55,000 ล้านบาท ลดลง 11% จากปีก่อน โดยขณะการส่งออกกุ้งเดือน ม.ค.-ต.ค.ปีนี้ ปริมาณ 135,249 ตัน ลดลง 6% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 ที่ส่งออกปริมาณ 143,129 ตัน ด้านมูลค่า 40,185 ล้านบาท ลดลง 12% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 ที่ส่งออกมูลค่า 45,545 ล้านบาท

สาเหตุหลักจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง 10% ในช่วง 2 ปีจาก 33.6 บาทต่อเหรียญสหรัฐในปี 2560 เป็น 30.22 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ในปีนี้ทำให้แข่งขันลำบาก เพราะเทียบกับเงินรูปีอ่อนค่าจากเคย 1 ต่อ 1 ขณะนี้ 1 ต่อ 2 รูปี ส่วนค่าเงินด่องอ่อนค่า 2% จาก 18,000 เป็น 22,000 ด่องต่อเหรียญสหรัฐ และอินโดนีเซีย ลดลง 4%

อย่างไรก็ตาม สมาคมคาดการณ์ว่าปี 2563 ปริมาณส่งออกจะกลับมาเพิ่มขึ้น 20% จากปัจจัยบวกคือ ไทยสามารถเพิ่มปริมาณการเลี้ยงอีก 20% เป็น 350,000-400,000 ตัน ผลจากไทยสามารถแก้ปัญหาการระบาดของโรคกุ้งได้ รัฐดูแลค่าบาทให้กลับไปที่ 33 บาทส่งผลดีกับราคาส่งออก และราคารับซื้อกุ้งในประเทศด้วย เช่น หากค่าบาท 33 บาท ราคากุ้งในประเทศขนาด 100 ตัวต่อ กก. เพิ่มขึ้นจาก 120 เป็น 140 บาท หรือเฉลี่ยอ่อนค่า 1 บาท เกษตรกรได้เงินเพิ่ม 3 บาท

นอกจากนี้ การขยายการส่งออกไปจีนซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง จากเดิมจีนเป็นตลาดอันดับหลัง ๆ แต่ขยับขึ้นแซงตลาดอียูมาเป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 นำเข้าจากไทย 22,000 ตัน เพราะคนจีนหันมาบริโภคทั้งกุ้งแช่แข็งและแปรรูป

ส่วนตลาดอียูหลังตัดสิทธิจีเอสพีกุ้งไทยต้องเสียภาษีกุ้ง 12% กุ้งแปรรูป 20% ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งเริ่มเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-อียู เพื่อให้ไทยได้กลับไปลดภาษีเช่นเดียวกับในช่วงที่เคยได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีหรือจีเอสพี ขณะที่ตลาดสหรัฐ มองว่าทุกอย่างจะดีขึ้น และอาหารยังเป็นปัจจัยที่ทุกคนต้องบริโภค

“การเลี้ยงกุ้งไทยมีปริมาณทรงตัวช่วงที่ผ่านมา 290,000-300,000 ตัน เทียบกับผลผลิตกุ้งทั่วโลกคาดว่าจะมี 3.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5% จะเห็นว่าคู่แข่งพัฒนาขึ้นอย่างเวียดนามน่ากลัว ตอนนี้จีน อินเดีย และอินโดนีเซียเลี้ยงเพิ่มหมด”

เท่าที่ทราบเวียดนามมีนโยบายหลักวางโรดแมปการผลิต ควบคุมปัจจัยการผลิตตั้งแต่ต้นทางไม่ให้มีสารเคมีที่ไม่อนุญาตปลอมปน มุ่งพัฒนารูปแบบการเลี้ยงใหม่ตามมาตรฐานสากล ให้สินเชื่อเกษตรกร สวนทางกับเกษตรกรไทยที่ไม่สามารถกู้เงินเพื่อนำมาเลี้ยงกุ้งได้ เพราะ ครม.ในอดีตเคยมีมติว่าการเลี้ยงกุ้งกระทบต่อป่าชายเลน

ท.พ.สุรพล ประเทืองธรรม นายกกิตติมศักดิ์ ที่ปรึกษาสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า ปัจจุบันหลายประเทศหันมาผลิตกุ้งมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ซาอุดีอาระเบียและอิหร่านซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันยังเพิ่มการผลิต คาดว่าปี 2563 อิหร่านจะผลิตได้ 50,000 ตัน ส่วนซาอุดีอาระเบียจะผลิตได้ 60,000 ตันเพราะอนาคตกุ้งยังไปได้ มีการคาดการณ์ว่าความต้องการกุ้งโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 11.5 ล้านตัวในปี 2030 โดยเฉพาะจีน หากรับประทานกุ้งเพิ่มคนละ 1 กก.จะต้องการนำเข้า 1.4 ล้านตัน

“ไทยเคยเป็นเบอร์ 1 ในการส่งออกกุ้งไปสหรัฐเมื่อปี 2553 มีส่วนแบ่งตลาดถึง 36% แต่ลดลงมาต่อเนื่องจนถึงล่าสุดปี 2562 คาดว่าจะยังคงตำแหน่งเบอร์ 6 ที่ส่งออกไปสหรัฐมีส่วนแบ่งตลาด 3% การส่งเสริมกุ้งไทยให้แข่งขันได้จะต้องไม่ใช่เน้นแจกเงิน แต่ต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ตอนนี้พื้นที่เลี้ยงเหลือแค่ 1.7 แสนไร่ และถูกยึดคืนไปปลูกป่าบ้างในบางปี ห้องเย็นหยุดกิจการไปหลายราย”

นายบรรจง นิสภวาณิชย์ อุปนายกสมาคมกุ้งไทย และผู้ทรงคุณวุฒิ-ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ กล่าวว่า เกษตรกรยังต้องเผชิญปัญหาโรคตัวแดง ดวงขาว อาการขี้ขาว โรคตายด่วน (EMS) แต่มั่นใจว่าปีหน้าสถานการณ์จะดีขึ้น เกษตรกรเริ่มมีความรู้ความเข้าใจในปัญหา และปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยง คาดว่าจะเลี้ยงเพิ่มได้ 20% เป็น 320,000 ตัน