“บีโอไอ” ต่อมาตรการEECลงทุนนอกเขตส่งเสริมได้ ลดหย่อน 50% เพิ่ม3ปี แลกกับการพัฒนาบุคลากร

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่าที่ประชุมได้เห็นชอบให้ต่อ “มาตรการส่งเสริมการลงทุนในในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)” และปรับเงื่อนไขใหม่ คือ เปิดโอกาสให้กิจการเป้าหมายที่อยู่ในกลุ่ม A1 A2 A3 สามารถลงทุน “นอกเขตพื้นที่” ที่ถูกประกาศเป็นเขตส่งเสริมพิเศษได้ แต่จะต้องมีการฝึกอบรม รับนักศึกษาฝึกงานในสัดส่วน 10% หรือ 40 คนตามที่คณะกรรมการกำหนด จะได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 50% เพิ่ม 3 ปี เพิ่มเติมจากสิทธิประโยชน์เดิมยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลพื้นฐาน

เช่น กลุ่ม A1 A2 สิทธิประโยชน์พื้นฐานยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่แล้ว 8 ปี ลงทุนนอกเขตพื้นที่จะได้ ลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 50% เพิ่ม 3 ปี (8+50% 3 ปี) หรือกลุ่ม A3 สิทธิประโยชน์พื้นฐานยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่แล้ว 5 ปี ลงทุนนอกเขตพื้นที่จะได้ ลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 50% เพิ่ม 3 ปี (5+50% 3 ปี)

แต่หากเป็นกิจการที่อยู่ในหมวด 8 เช่น กิจการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งได้สิทธิประโยชน์พื้นฐานยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่แล้ว 10 ปี หากลงทุนนอกเขตพื้นที่จะได้ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีก 2 ปี (10+2 ปี) ส่วนการลงทุนในพื้นที่เขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ 4 แห่ง คือ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) และศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ พัทยา (EECmd) สำหรับกิจการในกลุ่ม A1 A2 จะได้ลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 50% เพิ่ม 2 ปี เพิ่มจากสิทธิประโยชน์พื้นฐานที่มี (8+50% 2 ปี) กลุ่ม A3 จะได้ลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 50% เพิ่ม 2 ปี เพิ่มจากสิทธิประโยชน์พื้นฐานที่มี (5+50% 2 ปี) กิจการหมวด 8 เช่น กิจการพัฒนาเทคโนโลยี จะได้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีก 1 ปี เพิ่มจากสิทธิประโยชน์พื้นฐานที่มี (10+1 ปี
มาตรการ EEC ใหม่นี้เริ่มขอรับส่งเสริมได้ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.2563 จนถึงสิ้นปี 2564 ยกเว้นโครงการที่จะตั้งในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ 4 แห่ง (EECi EECd EECa EECmd) สามารถยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการนี้ได้โดยไม่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดในการยื่นคำขอ

ขณะที่มาตรการส่งเสริม SMEs ได้ขยายระยะเวลาของมาตรการออกไปถึงสิ้นเดือน ก.พ. 2563 ระหว่างนี้จะต้องหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้ครอบคลุมทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการอย่างครบวงจร เช่นด้านภาษี การเงิน และจะเสนอบอร์ดครั้งถัดไป

นอกจากนี้บอร์ดยัง เห็นชอบอนุมัติ 4 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 30,170 ล้านบาท ในกิจการผลิตเชื้อเพลิงเอทานอล กิจการการผลิตยางรถยนต์และยางรถจักรยานยนต์ จำนวน 2 โครงการ และกิจการสกัดโลหะที่ไม่ใช้แล้วและเศษโลหะ