ตั้ง”มีชัย”รื้อพรก.ต่างด้าว ลดโทษปรับเหลือ2แสน

โค้งสุดท้ายแรงงานต่างด้าว 3 ชาติขึ้นทะเบียน 8 แสนคน ผ่านพิสูจน์สัญชาติ 6.5 แสนคน เมียนมา-กัมพูชา ระดมตรวจคุณสมบัติ ลาวถูกเรียกกลับประเทศเกลี้ยง “มีชัย” คุมทีมรื้อ พ.ร.ก.ต่างด้าวฯ ชง 3 สูตรใหม่ลดโทษปรับเหลือ 2 แสนบาท

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมการจัดหางานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งคัดกรอง และพิสูจน์ความเป็นลูกจ้าง นายจ้าง หลังสิ้นสุดระยะเวลา 15 วัน ที่เปิดให้นายจ้าง และแรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมา กัมพูชา ลาว มารายงานตัวที่ศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว 100 ศูนย์ ระหว่าง 24 ก.ค.-7 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งมีแรงงานต่างด้าวมารายงานตัวรวม 797,685 คน

ก่อนเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ทำพาสปอร์ต วีซ่า ยื่นขอใบอนุญาตทำงาน ฯลฯ ตามขั้นตอน โดยจะเร่งดำเนินการเร็วที่สุด และได้ประสานประเทศต้นทาง คือ เมียนมา กัมพูชา ให้จัดส่งเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาประเทศไทยเพื่ออำนวยความสะดวกในการพิสูจน์สัญชาติ ออกพาสปอร์ต วีซ่า ฯลฯ ทั้งนี้ ในส่วนของศูนย์รับแจ้งฯขณะนี้ภารกิจแล้วเสร็จเกือบครบถ้วนแล้ว จะปิดศูนย์อย่างเป็นทางการภายในเดือน ก.ย.นี้

ผ่านตรวจสอบ 6.5 แสนคน

ในจำนวนแรงงานต่างด้าวที่มารายงานตัว 797,685 คน แยกเป็นเมียนมากว่า 4 แสนคน กัมพูชาประมาณ 2 แสนคน และลาว 1 แสนคนนั้น ในขั้นตอนของการพิสูจน์ความเป็นลูกจ้าง นายจ้าง ปรากฏว่ามีแรงงานต่างด้าวที่ผ่านการตรวจสอบ และได้หนังสือรับรอง หรือใบจับคู่ (กับนายจ้าง) ณ วันที่ ก.ย. 2560 รวม 653,025 คน แยกเป็น เมียนมา 383,226 คน กัมพูชา 189,324 คน ลาว 80,475 คน ที่เหลืออีกราว 8 หมื่นคน มีบางส่วนที่เข้ามารายงานตัวซ้ำซ้อนเพราะเป็นแรงงานต่างด้าวที่มีบัตรสีชมพู หรือกลุ่มที่เข้ามาทำงานภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างไทยกับประเทศต้นทางทั้ง 3 ประเทศดังกล่าวอยู่แล้ว

“นอกจากนี้มีบางส่วนที่ไม่มา เจ้าหน้าที่ติดต่อไปก็ไม่ติดต่อกลับ สำหรับกลุ่มที่ไม่มาพิสูจน์หรือคัดกรอง ภาษาบ้าน ๆ อาจเรียกได้ว่าเถื่อนสนิท ทั้งลักลอบเข้ามาในประเทศ ทั้งลักลอบทำงาน”

ระดมพิสูจน์สัญชาติ

นายวรานนท์กล่าวว่า ในส่วนของเมียนมาจากเดิมที่มีศูนย์รับแจ้งและออกใบรับรองพิสูจน์สัญชาติ พาสปอร์ต วีซ่า ให้แรงงานต่างด้าวเมียนมากลุ่มบัตรสีชมพูอยู่แล้ว 6 ศูนย์ ใน จ.สมุทรปราการ ระนอง ตาก และสมุทรสาครอีก 2 แห่ง

วันที่ 15 ก.ย.ได้เพิ่มเจ้าหน้าที่ในศูนย์อีกเท่าตัว จากเดิมทำได้วันละ 400-500 คนเพิ่มเป็นวันละ 1,000 คน พร้อมเพิ่มศูนย์ที่ จ.สงขลา นครสวรรค์ และเชียงใหม่ รวมเป็น 9 ศูนย์ ส่วนกัมพูชา จะเปิดศูนย์ที่ จ.ระยอง นำร่อง จากนั้นจะขยายอีก 2 ศูนย์ ในกรุงเทพมหานคร กับสงขลา

“เมื่อได้เอกสารหลักฐานจากประเทศต้นทางแล้ว แรงงานต่างด้าวต้องมายื่นขอใบอนุญาตทำงานกับกระทรวงแรงงานตามขั้นตอนต่อไป อย่างไรก็ตาม ต้องเห็นภาพตรงกันว่าสุดท้ายเราต้องการให้แรงงานเหล่านี้เข้ามาภายใน MOU 100% ตามความตกลงร่วมกันระหว่าง 3-4 ประเทศ คือ มีพาสปอร์ต วีซ่า เข้าระดมหมด มีเวิร์กเพอร์มิตสมบูรณ์ แม้แต่กลุ่มที่เดินเข้าพิสูจน์สัญชาติ สุดท้ายก็ต้องไปทำพาสปอร์ต วีซ่า กลับเข้ามาใหม่ภายใต้ MOU”


แรงงานลาวกลับบ้านร่วมแสน

ขณะที่แรงงานลาวประมาณ 1 แสนคน กลุ่มที่ไม่มีบัตรผ่อนผันสีชมพู ที่เข้ามารายงานตัวที่ศูนย์ของกรมแรงงานก่อนหน้านี้ แยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก มีพาสปอร์ต เป็นวีซ่าท่องเที่ยว ยังไม่หมดอายุ แล้วเข้ามาลักลอบทำงาน เข้าเมืองถูกกฎหมาย ทำงานผิดกฎหมาย พวกนี้กลับบ้านได้เลย แล้วไปทำเอ็มโอยู อีกกลุ่มพาสปอร์ตขาด วีซ่าก็ขาด หรือพาสปอร์ตไม่ขาด วีซ่าขาด ถือว่าอยู่ในไทยผิดกฎหมาย โอเวอร์สเตย์บ้าง ก็ต้องไปขอใบกลับบ้านที่สถานทูตลาว แต่กระบวนการอาจช้ากว่ากลุ่มแรก เพราะต้องไปเริ่มทำพาสปอร์ต แล้วกลับเข้ามาตามเอ็มโอยู

“สำหรับลาวกลุ่มที่มีบัตรสีชมพู เปิดศูนย์รับแจ้งที่ไอทีสแควร์ ขณะนี้มีมาแจ้งทำเอกสารให้ถูกต้องแล้วกว่า 7 หมื่นคน ส่วนกลุ่มจับคู่ประมาณ 1 แสนคน ทางการลาวมีนโยบายให้กลับบ้านทั้งหมด และถ้าจะกลับมาไทยก็ต้องเข้ามาโดย MOU”

ต้อนเข้าระบบ MOU

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวกลุ่มที่มีบัตรสีชมพูรวม 1.3 ล้านคน ซึ่งต้องเร่งดำเนินการส่วนที่เหลือให้เสร็จเรียบร้อยตามกำหนด ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2561 และกลุ่มนี้สามารถทำงานในประเทศไทยต่อได้อีก 2 ปี หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนที่ต้องเข้าสู่ระบบ MOU ทั้งหมดตามนโยบายรัฐบาล ขณะที่แรงงานในระบบ MOU ขณะนี้มีกว่า 5 แสนคน ถือเป็นจำนวนที่สูงน่าพอใจ ส่วนแรงงานตามประกาศกระทรวงแรงงานเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว หรือกลุ่มใบจับคู่ ต้องเร่งมือทำให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธ.ค. 2560 นี้ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จทันเวลา

“มีชัย” รื้อ พ.ร.ก.ต่างด้าว

นายวรานนท์กล่าวว่า ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับแก้ พ.ร.บ.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งดำเนินการควบคู่ไปกับการดึงแรงงานต่างด้าวให้เข้ามาอยู่ในระบบ คณะทำงานที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานอยู่ระหว่างปรับแก้ไขความคืบหน้า ล่าสุดปรับแก้ไขแล้วกว่าครึ่งฉบับ ตั้งเป้าดำเนินการเสร็จเรียบร้อยภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2560 ส่วนจะประกาศเป็น พ.ร.ก. หรือจะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาออกเป็น พ.ร.บ. ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล

ชง 3 ทางเลือกปรับลดโทษ

ในส่วนของบทลงโทษ นายจ้าง ลูกจ้าง กรณีกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย อาทิ รับแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน ทำงานผิดประเภท หรือทำไม่ถูกต้องตามกฎหมายกรณีอื่น ๆ ซึ่งกฎหมายใหม่กำหนดบทลงโทษรุนแรงกว่าเดิม และภาคเอกชนเสนอให้ปรับลดอัตราโทษลงนั้น จะเสนอให้รัฐบาลจะพิจารณาเช่นเดียวกัน


เบื้องต้นคิดไว้หลายสูตร เช่น 1.ปรับลดโทษขั้นต่ำลงมา เช่น โทษปรับขั้นต่ำอยู่ที่ 4 แสนบาท ปรับลดเหลือ 1-2 แสนบาท 2.ใช้สูตรก้าวหน้า มีจำนวนเท่านี้ ปรับเท่านี้ มีมากก็ปรับมาก มีน้อยปรับน้อย และ 3.เปิดให้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล เตรียมเสนอคณะทำงานของนายมีชัย ที่กำลังแก้ไขกฎหมายฉบับนี้