จ๊ากอีสท์วอเตอร์ขึ้นค่าน้ำ16บ. ลูกค้ากนอ.ยื้อเซ็นสัญญาหวั่นต้นทุนพุ่ง

เปิดโครงสร้างค่าน้ำตามระบบใหม่ “อีสท์ วอเตอร์” เคาะแล้วขยับ 7% น้ำอุตสาหกรรม ราคา 16.45 บาท คิดตามปริมาณการใช้จริงแต่ละพื้นที่ หวังสร้างความยั่งยืน ขีดเส้นลูกค้าต้องส่งแผนการใช้น้ำทั้งปีก่อนเซ็นสัญญาใหม่ ดีเดย์ 1 ม.ค. 63 การันตีมีน้ำใช้เพียงพอ สะท้อนต้นทุนค่าน้ำดิบกรมชลประทานเพิ่มขึ้น 12 บาทต่อ ลบ.ม. ด้านลูกค้าน้ำ กนอ.โวยต้นทุนพุ่งแถมสูตรใหม่คิดค่าน้ำ “ส่วนเพิ่มนอกแผน” คนละเรต

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ตามที่บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ East Water จะปรับโครงสร้างค่าน้ำตามระบบใหม่ตามแคมเปญ URD เพื่อให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำอย่างถูกต้อง (usage) การใช้น้ำอย่างยั่งยืน (reserve) และการใช้น้ำให้พอดี (demand) โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2563

นายบดินทร์ อุดล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ East Water เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ได้ทำหนังสือแจ้งอัตราค่าน้ำตามโครงสร้างใหม่ไปยังลูกค้าที่ใช้น้ำแล้ว ซึ่งโครงสร้างนี้จะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้น้ำของผู้ใช้ ทั้งนี้ ลูกค้าต้องแจ้งแผนการใช้น้ำตลอดทั้งปี 2563 และสามารถใช้น้ำในอัตราคงที่แบบเดิม ที่ 16.45 บาทต่อ ลบ.ม. หรือเพิ่มขึ้นไม่เกิน 7% จากเดิมที่เฉลี่ยอยู่ที่ 11 บาทต่อ ลบ.ม. หากลูกค้าตอบรับมาก็จะสามารถลงนามในสัญญาได้ภายในเดือนมกราคม 2563 ตามเป้าหมาย“เป้าหมายการกำหนดโครงสร้างค่าน้ำใหม่ไม่ใช่เพื่อให้ธุรกิจมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก แต่เป็นเพื่อการสร้างแนวคิดการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า โดยกลุ่มลูกค้าจะต้องแจ้งแผนการใช้น้ำตลอดทั้งปี 2563 ว่ามีความต้องการใช้เท่าไร ราคาน้ำใหม่เป็นไปตามพฤติกรรมการใช้น้ำของลูกค้าแต่ละราย”

สำหรับแผนการบริหารจัดการน้ำช่วงแล้งนั้น ก่อนหน้านี้ทางบริษัทได้ประชุมวอร์รูมร่วมกับกรมชลประทาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) อย่างใกล้ชิด ซึ่งพบว่าสถานการณ์ภัยแล้ง ปีนี้่ค่อนข้างจะท้าทายเทียบกับปีก่อน เพราะปริมาณน้ำต้นทุนต่ำกว่าปีก่อนในส่วนของลูกค้า East Water แจ้งปริมาณความต้องการใช้น้้ำล่วงหน้า 1 ปี (ตั้งแต่ 1 พ.ย. 62-พ.ย. 63) มีปริมาณเฉลี่ย 308 ล้าน ลบ.ม.ทั้งในส่วนของน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำอุตสาหกรรม ซึ่งโดยปกติบริษัทจะมีการเตรียมสต๊อกน้ำและมีน้ำเข้ามาเพิ่มระหว่างปีเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า

“ขณะนี้ทุกภาคส่วนกำหนดแผนบริหารจัดการน้ำต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำฝนมาเติมในช่วงไตรมาส 2/2563 และมีการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ประกอบด้วย 1) เครือข่ายผันน้ำแม่น้ำบางปะกง-อ่างบางพระ ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในไตรมาส 3 ปี 2563 ทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นจาก 2 แสนล้าน ลบ.ม. เป็น 3 แสนล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะมีเพียงพอจัดสรรไปยังพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา 2) การดำเนินการก่อสร้างบ่อเอกชน (สระทับมา) ซึ่งเริ่มดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 4 ปี 2563 และมีความจุ 12 ล้าน ลบ.ม. มีศักยภาพในการจัดสรรน้ำใช้ 12-40 ล้าน ลบ.ม.ช่วยซัพพลายให้กับกลุ่มผู้ใช้ในพื้นที่ จ.ระยอง และมีโครงการวางท่อบริเวณคลองหลวงเพื่อเชื่อมต่อกับในส่วนของโครงการชลประทาน ความจุ 20 ล้าน ลบ.ม.คาดว่าจะเสร็จสิ้นในปี 2564”

รายงานข่าวระบุว่า การกำหนดโครงสร้างค่าน้ำใหม่นั้น กลุ่มลูกค้าที่มีการซื้อขายเดิมจะต้องแจ้งแผนการใช้น้ำทั้งปีเข้ามาให้บริษัททราบ ซึ่งกลุ่มนี้จะได้รับการการันตีว่าจะมีน้ำเพียงพอใช้ตลอดทั้งปีในราคาสูงสุด คือ 16.45 บาทต่อ ลบ.ม. หรืออาจจะต่ำกว่านี้ก็เป็นไปได้ กลุ่มนี้หากใช้ปริมาณเท่าไรก็จ่ายเท่านั้น ขณะที่ลูกค้าที่เป็นกลุ่มที่ไม่ได้แจ้งแผนความต้องการใช้น้ำทั้งปีเข้ามาก็จะสามารถขอซื้อน้ำจากบริษัทได้เช่นกัน เพียงแต่อาจจะไม่ได้ปริมาณเท่าที่ต้องการหรือราคาที่กำหนดตามเรต

โดยเหตุผลในการปรับโครงสร้างใหม่ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการรณรงค์เรื่องการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ขณะเดียวกัน เป็นการปรับให้สอดรับกับต้นทุนน้ำดิบซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำอุตสาหกรรมของกรมชลประทานที่ปรับขึ้นเป็น 12 บาทต่อ ลบ.ม.

ขณะที่นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันนิคมมีการซื้อน้ำจากอีสท์ วอเตอร์ และขายน้ำให้กับผู้ประกอบการโรงงานภายในนิคม โดยหลังการประกาศปรับวิธีการคำนวณน้ำใหม่ของอีสท์ วอเตอร์นั้น ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการรับทราบแล้วและยังคงไม่เห็นด้วยเพราะจะมีผลต่อการคิดอัตราค่าน้ำเพิ่มจากส่วนเกินที่ใช้

ดังนั้น กนอ.จึงได้หารือกับผู้พัฒนานิคมและอีสท์ วอเตอร์ถึงเหตุผลในครั้งนี้ และได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นร่วมกันมาแล้ว 3 ครั้ง จากนี้หากผู้ประกอบการรายใดยังไม่สามารถปรับกับสูตรคำนวณน้ำใหม่ได้ อีสท์ วอเตอร์สามารถเข้าไปหารือโดยตรงร่วมกันได้

ทั้งนี้ การปรับสูตรคำนวณน้ำใหม่ผู้ประกอบการจะต้องส่งแผนการใช้น้ำในแต่ละเดือนให้ทราบ และน้ำส่วนเกินจะถูกนำมาคิดในอัตราที่ต่างออกไป เช่น ส่งแผนใช้น้ำ 1,000 คิว แต่ใช้จริง 1,500 คิว ส่วนเกิน 500 คิวนั้นจะถูกคิดในอีกอัตราหนึ่งเพราะถือว่าเป็นน้ำส่วนเกินจึงทำให้โรงงานใดใช้น้ำเกินมากก็จะเสียค่าน้ำสูงขึ้น แต่โรงงานใดใช้น้ำตามแผนที่ระบุก็จะคิดอยู่ในอัตราที่กำหนด จากเดิมอัตราการจ่ายค่าน้ำเป็นอัตราคงที่ อยู่ที่ประมาณ 20 บาทต่อคิว เป็นการฟิกซ์ราคาไว้เท่านี้ ทำให้โรงงานจัดสรรงบประมาณล่วงหน้าไว้ได้ แต่ต่อจากนี้โรงงานจะคำนวณ

“เรากลับมองว่ามันจะช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำมากขึ้น อย่างที่รู้ปริมาณน้ำเริ่มน้อยลงโดยเฉพาะใน EEC มาตรการแบบนี้จึงถือว่าดี และผู้ประกอบการต้องวางแผนใช้น้ำ อาจต้องใช้วิธีนี้ลองไปก่อน หากไม่ดีมีปัญหาหรือได้รับผลกระทบมากเกินไป ก็นำกลับมาทบทวนใหม่ได้”