“จุรินทร์”กระตุ้นศก.ฐานราก ลุย”ประกันรายได้”ต่อปี”63

กรมการค้าภายในเร่งจัดทำแผนดูแลสินค้าเกษตรปี”63 พร้อมเสนอ คชก.อนุมัติงบประมาณ หลังเดินหน้าโครงการประกันรายได้ 5 พืช

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน และในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คบท.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนและมาตรการ รวมถึงกรอบวงเงินที่เหมาะสมในการดูแลเกษตรกร ภายใต้ปีงบประมาณปัจจุบัน เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน พิจารณาเห็นชอบ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ต่อเนื่องหลังจากดำเนินโครงการประกันรายได้ 5 พืช ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมันแล้ว จะเสร็จสิ้นช่วงไตรมาส 1 ของปี 2563

รายงานข่าวระบุว่า หลังจากกระทรวงการคลังเสนอปรับแก้ระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.การบริหารกองทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2538 เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ได้ให้ปรับแก้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) จากเดิมให้มีการพิจารณาอนุมัติการใช้เงิน เปลี่ยนเป็นกำกับการจัดการและการบริหารเงินกองทุน เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายและแผนการบริหารทุนหมุนเวียนที่คณะกรรมการนโยบายบริหารกองทุนหมุนเวียนหรือคณะรัฐมนตรีกำหนด และกำหนดให้กรมการค้าภายในเป็นผู้รับผิดชอบกองทุน โดยให้อธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คบท.) มีอำนาจหน้าที่ พร้อมกับกำหนดนโยบายบริหารจัดการกองทุน อนุมัติแผนการดำเนินงานประจำปี และจัดสรรเงินกองทุนตามแผน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้เป็นไปตามข้อกำหนดของคณะกรรมการนโยบายบริหารทุนหมุนเวียน

พร้อมทั้งการดูแลการเบิกจ่ายกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการดำเนินการประจำปี ซึ่งจัดทำภายใต้กรอบนโยบาย มาตรการ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เมื่อพิจารณาต่อการช่วยเหลือเป็นที่เรียบร้อยก็จะส่งให้กับคณะกรรมการ คชก.เป็นผู้อนุมัติพิจารณาและส่งต่อให้กระทรวงการคลังเพื่ออนุมัติการใช้จ่าย สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการ ประกอบด้วยอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธานกรรมการและกรรมการจากตัวแทนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ กรมการค้าภายในและผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากที่ได้นำคณะลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 เพื่อชี้แจงโครงการส่งเสริมความรู้และประชาสัมพันธ์มาตรการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562/63 รอบที่ 1 ให้เกษตรกรทราบว่าโครงการประกันรายได้ฯ ปัจจุบันสามารถชดเชยส่วนต่างให้กับเกษตรกร มีรายได้เพิ่มขึ้นพร้อมกับเดินหน้ามาตรการคู่ขนานเพื่อดูแลรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ในช่วงที่ผลผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก

ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562 กรมการค้าภายในได้ประกาศราคาส่วนต่างจากคณะอนุกรรมการกำกับดูแล และกำหนดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวรอบที่ 1 งวดที่ 6 ซึ่งขึ้นทะเบียนไว้ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 8-14 ธันวาคม 2562 โดยรัฐบาลจะต้องจ่ายชดเชยส่วนต่างให้ผู้ปลูกข้าว 4 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 484.35 บาท, ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 377.92 บาท, ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 2,364.29 บาท และข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 1,578.45 บาท ส่วนราคาข้าวเปลือกเหนียวสูงกว่าราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงจึงไม่มีการชดเชย ทั้งนี้ ราคาตลาดเฉลี่ยข้าวเปลือกหอมมะลิปัจจุบัน ตันละ 14,515.65 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 13,622.08 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 7,635.71 บาทข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 9,421.55 บาท ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 16,222.17 บาท


พร้อมกันนี้ ให้ข้อมูลว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จะเริ่มดำเนินการจ่ายชดเชยส่วนต่างให้ชาวไร่ลอตแรก ปลายเดือนธันวาคม 2562