“จุรินทร์” kick off ประกันรายได้ข้าวโพดตัวสุดท้ายของปี 62 พร้อมจ่ายส่วนต่างให้บ่ายนี้

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวระหว่างการเป็นประธาน kick off จ่ายเงินส่วนต่างโครงการประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในวันที่ 20 ธันวาคม 2562 ว่า ภายหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยราคาประกันอยู่ที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม ที่ความชื้น 14.5% ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณ 900 กว่าล้านบาท รวมถึงมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เช่นมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้าย ซึ่งจะอนุญาตให้ทำได้เฉพาะบางจังหวัด เช่น จันทบุรี เชียงราย ตาก ผู้นำเข้าข้าวสาลีจะต้องซื้อข้าวโพดไทยในอัตรา 1:3 รวมทั้งได้กำชับฝ่ายความมั่นคงเข้มงวดกับการป้องกันการลักลอบการนำเข้า

อย่างไรก็ดี โครงการประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะสามารถจ่ายส่วนต่างให้เกษตรกรได้ภายในบ่ายวันนี้ (20 ธันวาคม 2562) ส่วนความคืบหน้าของการโอนเงินจากโครงการประกันรายได้ 5 พืชเศรษฐกิจ ณ วันที่ 19 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา คือ ข้าว จำนวนเกษตรกรที่มีสิทธิทั้งหมด 4.31 ล้านราย วงเงิน 20,940.84 ล้านบาท โอนแล้ว 785,408 ราย จำนวนเงิน 16,023.06 ล้านบาท คิดเป็น 76.52% ของงบประมาณทั้งหมด

ยางพารา จำนวนเกษตรกรที่มีสิทธิทั้งหมด 1.7 ล้านราย วงเงิน 23,472.02 ล้านบาท โอนแล้ว 841,390 ราย จำนวนเงิน 5,004.39 ล้านบาท คิดเป็น 21.32 % ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ได้กำชับให้เร่งการตรวจสอบการปลูกยางให้เร็วขึ้น เพื่อจะโอนเงินให้เกษตรกรได้ครบทุกคน ปาล์มน้ำมัน มีจำนวนเกษตรกรที่มีสิทธิทั้งหมดกว่า 3 แสนราย วงเงิน 13,000 ล้านบาท โอนแล้ว 324,286 ราย จำนวนเงิน 2,627.56 ล้านบาท คิดเป็น 20.21% ของงบประมาณทั้งหมด

มันสำปะหลัง จำนวนเกษตรกรที่มีสิทธิทั้งหมด 520,000 แสนราย วงเงิน 9,442.34 ล้านบาท โอนแล้ว 2,781ราย จำนวนเงิน 63.96 ล้านบาท คิดเป็น 0.68 % ของงบประมาณทั้งหมด และสุดท้าย คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีจำนวนเกษตรกรที่มีสิทธิทั้งหมด 450,000 แสนราย จะเริ่มโอนงวดแรกวันที่ 20 ธ.ค. นี้ ช่วงบ่าย ให้กับเกษตรกรจำนวน 96,740 ราย จำนวนเงิน 326.42 ล้านบาท คิดเป็น 24.5 % ของงบประมาณทั้งหมด ทั้งนี้ จะพบว่าสินค้าบางตัวจ่ายเงินชดเชยน้อย เนื่องจากอยู่ขั้นตอนตรวจสอบและชะลอการขุด ซึ่งจากนี้จะทยอยจ่ายส่วนต่างให้กับเกษตรกร

สำหรับโครงการประกันรายได้ ครอบคลุมเกษตรกรทั้งหมด 2.05 ล้านครัวเรือน มีวงเงินรวม 67,778.53 ล้านบาท โอนแล้ว 24,045.39 ล้านบาท คิดเป็น 35.48% ของงบประมาณรวมของโครงการประกันรายได้ และยังมีโครงการสินเชื่อสนับสนุนต้นทุนการผลิตและค่าเก็บเกี่ยวให้กับเกษตรกรด้วย วงเงินรวม กว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากรวมโครงการสินเชื่อด้วย ทั้งโครงการจะมีวงเงินรวม 120,961.75 ล้านบาท คิดเป็น 0.74 %ของ GDP