CEO ปตท.คนใหม่ ในภารกิจร้อน ลดผูกขาด-สางคดีทุจริต

นับเป็นโค้งสุดท้ายสำหรับคณะกรรมการสรรหาประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตัดสินใจเสนอชื่อ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ วัย 54 ปี ให้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ต่อจาก ชาญศิลป์ ตรีนุชกรมีผล 13 พฤษภาคม 2563 หรืออีก 5 เดือนข้างหน้า หลังขับเคี่ยวกับ “คนกันเอง” ในปตท. ที่เสนอตัวอีก 5 คนได้แก่ วิรัตน์ เอื้อนฤมิตร, นพดลปิ่นสุภา, ชวลิต ทิพพาวนิช, เพียงพนอบุญกล่ำ และ จิราพร ขาวสวัสดิ์ ในนัดแสดงวิสัยทัศน์ 4 ปีข้างหน้า เพื่อนำพาองค์กรที่มีสินทรัพย์มากกว่า 4 ล้านล้านบาท

การเสนอตัวเข้าชิงของอรรถพลครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่ “พ่าย” ให้กับ ชาญศิลป์ ตรีนุชกร เมื่อ 1 ปี 3 เดือนที่ผ่านมา เหมือนเป็นการ “คั่นเวลา” ให้กับการกลับมาของอรรถพล ที่ต้องเก็บเนื้อเก็บตัวในตำแหน่งสุดท้ายคือ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. และหันไปแสดงบทบาทด้านอื่นในฐานะนายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ตำแหน่ง CEO ปตท.นั้น เป็นตำแหน่งสำคัญที่ฝ่าย “การเมือง”ต้องคัดเลือก “คน” ที่ชอบและใช่ เนื่องจาก ปตท. เป็นกลไกความมั่นคงด้านพลังงาน ต่างแค่ว่า ยุคของชาญศิลป์นั้น กลไกนี้อยู่ภายใต้การกำกับเบ็ดเสร็จของยุค “ทหาร” แต่สมัยของอรรถพลเป็นช่วงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ยังมีกลิ่นอายโครงสร้างของ “ทหารนอกราชการ” กับ “นักการเมือง” ภายใต้ผู้นำคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เป็นที่รับทราบกันอยู่ในแวดวงพลังงานอยู่แล้วว่า ชื่อของนายอรรถพลนั้นเป็นผู้ที่มีสายสัมพันธ์กับนักการเมืองและเครือข่ายกองทัพ ไม่ว่าจะเป็น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ได้ร่วมกันผลักดันโครงการของรัฐบาลมาโดยตลอด

ไม่ว่าเหตุผลใด ก่อนที่คณะกรรมการสรรหาจะเคาะชื่อของอรรถพล แต่สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อก็คือ การ “รับไม้” ต่อจากชาญศิลป์ ที่จะหมดวาระในเดือนพฤษภาคมปีหน้า

ซึ่งปีที่ผ่านมา คณะกรรมการ ปตท.ได้ “ทบทวน” แผนลงทุนปี 2562 จากวงเงิน 70,501 เป็น 103,697 ล้านบาท ด้วยการให้น้ำหนักเพิ่มการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีและวิศวกรรม จากเดิม 6,737 ล้านบาท กระโดดเป็น 41,175 ล้านบาท รองลงมาคือการร่วมทุนและการลงทุนในบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้นร้อยละ 100 จากเดิม 37,100 ล้านบาท เป็น 40,050 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2,950 ล้านบาท

ในขณะที่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ-ธุรกิจท่อส่งก๊าซ และธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ในปี 2562 ถูกลดเงินลงทุนลงทั้งสิ้น สะท้อนให้เห็นถึงพื้นฐานการลงทุนของ ปตท.ในอนาคต ที่จะให้ความสำคัญกับธุรกิจเทคโนโลยีและวิศวกรรม ที่นายชาญศิลป์ได้วางทิศทางเอาไว้ แต่จะต้องดูว่าสอดคล้องกับแผนการลงทุนในระยะ 5 ปีข้างหน้า ที่จะประกาศในเดือนมกราคม 2563 หรือไม่

สำหรับ “ภารกิจ” ของอรรถพล หลังขึ้นดำรงตำแหน่ง CEO อย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม จะมีวาระสำคัญ ๆ ที่จะต้องทำตลอดระยะเวลา 4 ปีแรก ได้แก่ 1) แผนงานโครงการสำคัญที่จะต้องดำเนินการต่อเนื่องที่ได้วางเอาไว้ไม่ว่าจะเป็นโครงการ LNG Receiving Terminal 2 หลังจากที่ ครม.มีมติในเดือนเมษายน 2562 ให้ ปตท.ดำเนินการขยายกำลังการแปรสภาพก๊าซ LNG ที่ปริมาณ7.5 ล้านตันต่อปี โดยมีกำหนดส่งก๊าซธรรมชาติให้ได้ภายในปี 2565

นอกจากนี้ ยังมีโครงการ LNG ReceivingTerminal อื่น ๆ ตามที่ ครม.มีมติในเดือนกันยายน 2562 ให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนในร่างสัญญาร่วมทุนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน (PPP) กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) วงเงินลงทุน 40,900 ล้านบาท ด้วยการร่วมทุนระหว่างบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล หรือ PTT Tank กับบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF จัดตั้งบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล ทุนจดทะเบียน 3,500 ล้านบาท ได้สิทธิในการถมทะเล กับสิทธิในการก่อสร้าง LNG Terminal ช่วงที่ 1 ขนาดไม่ต่ำกว่า 5 ล้านตัน ซึ่งจะกลายเป็นโครงการใหญ่ทางด้านการจัดหา LNG ของ ปตท.ในอนาคต

2) การนำบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือ PTTOR เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลังจากที่ล่าช้ามาตั้งแต่ปี 2560 โดย PTTOR นับเป็นกลุ่มธุรกิจค้าปลีกและน้ำมันของ ปตท. ที่ถูกผลักดันให้แยกออกมาจากโครงสร้าง ปตท.ใหญ่ ตั้งแต่สมัยที่นายอรรถพลดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย โดยครั้งนั้นได้มีการแถลงข่าวความพร้อมในการโอนทรัพย์สินและธุรกิจน้ำมันของ ปตท.ให้กับ PTTOR และมีความก้าวหน้าไปถึงขั้นการกระจายหุ้น PTTOR ด้วยการเสนอขายให้กับกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้น IPO และประชาชนทั่วไปจะได้รับการกระจายหุ้นมากที่สุด โดย ปตท.จะถือหุ้นในบริษัทใหม่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 45 “เพื่อสนองตอบนโยบายการเปิดเสรีด้านพลังงาน ลดการผูกขาดในกิจการพลังงาน และความคล่องตัวในการบริหารบริษัท PTTOR”

ทว่าการนำ PTTOR เข้า ตลท. กลับประสบปัญหาความชะงักงันตลอดสมัยของชาญศิลป์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นสัดส่วนในการถือครองหุ้นของ PTTOR ล่วงมาถึงสมัย สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ถึงกับตั้งคำถามสำคัญ
ว่า “ถ้านำ PTTOR เข้า ตลท.แล้วประเทศได้ประโยชน์อะไร” โดย ปตท.จะต้องทำ 3 เรื่อง คือการตอบความมั่นคงพลังงานของประเทศ, ต้องเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวนโยบายที่สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ต้องการให้ OR ใช้ความเข้มแข็งมาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนก็จะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง และจะต้องสร้างความเข้มแข็งโดยขยายการเติบโตในต่างประเทศ หรือยกระดับเป็นองค์กรที่ทำธุรกิจในต่างประเทศได้อย่างเข้มแข็ง

และ 3) การ “เคลียร์” กรณีการทุจริตโครงการปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย ของบริษัท พีทีที. กรีน เอเนอร์ยี่ฯ (PTT.GE) ในเครือบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่กำลังถูกสอบสวนจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถึงการจ่ายค่านายหน้าที่ดินแพงเกินจริงและพบว่ามีผู้บริหารระดับสูงของ ปตท. มีส่วนรู้เห็นและมีการโอนเงินเข้าบัญชีคนไทย โดยประเด็นนี้ บริษัท ปตท.ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า “ปตท.และบริษัทในกลุ่ม ปตท. ได้ดำเนินนโยบายต่อต้านการทุจริตที่ชัดเจนและจริงจังตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี มาโดยตลอดซึ่งกรณีที่เกี่ยวกับ PTT.GE นั้นได้มีการดำเนินการทั้งทางวินัยและทางกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงได้ส่งเรื่องให้สำนักงาน ป.ป.ช.ตรวจสอบตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2556”

แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของชาญศิลป์ CEO ปตท.คนปัจจุบันที่มุ่งต่อต้านการทุจริตในองค์กรขนาดใหญ่อย่าง ปตท. และจะกลายเป็นเรื่องที่กระทบต่อภาพลักษณ์ของบริษัท ที่อรรถพลจะต้องทำความจริงในส่วนของ ปตท.ให้ปรากฏ โดยการ”สานต่อ” ภารกิจนี้ให้ประจักษ์แก่สังคมต่อไป