“อุตตม” ครม.สัญจรลงพื้นที่อยุธยาวางยุทธศาสตร์ภาคเกษตรดันสู่ตลาดออนไลน์

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2560 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานประกอบการในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 2 รายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) คือ บริษัท อุตสาหกรรมเครื่องหอมไทย-จีน จำกัด (TCFF) ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้าระหว่างไทยและจีน ในการผลิตน้ำหอม สารแต่งกลิ่นสำหรับสินค้าอุปโภค-บริโภค น้ำมันหอมระเหย และสารสกัดจากธรรมชาติ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อาหาร ยา และสปา และบริษัท เม็กเท็ค แมนูแฟ็คเจอริ่ง คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ MECTEC เป็นบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นและฮ่องกง มีสถานะเป็นผู้นำรายใหญ่ที่สุดของโลกในการออกแบบ ผลิต และส่งมอบผลิตภัณฑ์แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ชนิดยืดหยุ่นได้ (Flexible Printed Circuit Assembly) ที่ใช้ในสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร
พร้อมทั้งหารือแนวทางความร่วมมือในลักษณะประชารัฐ กับผู้ประกอบการภาคเอกชน ภาครัฐ และประชาชนเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาพื้นที่ การแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการประกอบการ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าหมายเป็น “ฐานเศรษฐกิจชั้นนำ” ด้วยการพัฒนา อุตสาหกรรมเกษตรโดยมียุทธศาสตร์การเกษตร แปรรูกเกษตร และหนุนให้สู่ตลาดการค้าออนไลน์การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรม และการบริหารจัดการน้ำ

นโยบายที่สำคัญของกระทรวงฯ คือการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามจุดแข็งของแต่ละพื้นที่ การส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการไปสู่ 4.0 ที่ก้าวทันโลก รวมทั้งการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี และการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ โดยในภาคกลางจะต้องเพิ่มขีดความสามารถของฐานอุตสาหกรรมเดิมที่มีมูลค่าการลงทุนสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอโลหะ อุตสาหกรรมโลหะ อุตสาหกรรมยางและพลาสติก อุตสาหกรรมสิ่งทอ และต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรม S-Curve ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยใช้โครงการที่มีเข้ามาช่วย อาทิ มาตรการทางการเงินและที่ไม่ใช่การเงิน อีกทั้งยังจะต้องเดินหน้าโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

“พระนครศรีอยุธยายังเป็นจังหวัดนำร่องของอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industry) ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมให้โตไปพร้อมกับความเจริญของชุมชน และการรักษาสภาพแวดล้อมเป็น โดยความร่วมมือกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนในพื้นที่ และนักวิชาการ ปัจจุบัน จ.พระนครศรีอยุธยามี 3 นิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่ ได้แก่ นิคมฯ ไฮเทค (บ้านหว้า) นิคมฯ บางปะอิน นิคมฯ สหรัตนนคร และมี 2 สวน/เขตประกอบการอุตสาหกรรม คือโรจนะและแฟคตอรี่แลนด์ ที่เป็นของเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่ได้มีการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม ทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจ”

จากการรับฟังปัญหาของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่พบว่า ปัจจุบันระบบโครงสร้างพื้นฐาน ยังไม่รองรับการขยายตัวด้านเศรษฐกิจ เช่น ระบบขนส่งที่ต้องปรับปรุงเพื่อรองรับการพัฒนา และลดปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่อุตสาหกรรมหนาแน่น ไฟฟ้าในพื้นที่ยังมีไฟตกหรือดับหลายช่วง การขาดแคลนแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอาหาร ยานยนต์ เครื่องจักรกลและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงความต้องการในการพัฒนามาตรฐานคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ซึ่งภาครัฐจะประสานแก้ไขปัญหาเหล่านี้ นอกจากนี้จะส่งเสริมการพัฒนาสถานประกอบการเป็นโรงงานอุตสาหกรรมสีเขียว หรือ Green Industry