ฉลอง 150 ปี บี.กริม ปักธงรายได้ 1.5 แสนล้าน รับเกมธุรกิจเปลี่ยน

กระแสดิสรัปชั่นได้ลุกลามไปทั่วโลก หลายธุรกิจกลับพลิกเป็นโอกาสสร้างการเติบโตเช่นเดียวกับ “บี.กริม กรุ๊ป” ธุรกิจเยอรมันในไทยอายุ 141 ปีที่แสวงหาโอกาสใหม่จนครองมาร์เก็ตแคป 50,000 ล้านบาท “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ดร.หรัณ เลขนะสมิทธ์” หรือที่หลายคนคุ้นชื่อ “ฮาราลด์ ลิงค์” ประธาน บี.กริม กรุ๊ป

ดิสรัปชั่นแบบ บี.กริม

disruption เป็นคำที่ไม่ค่อยดี หมายความว่า คุณทำร้ายคนอื่น แต่ผมมองว่า บางครั้งก็ต้องทำ ไม่ใช่การตั้งใจทำร้าย แต่เป็นการทำใหม่ แต่การผลิตสมัยใหม่ ไม่ได้คิดจะ disrupt แต่คิดว่า จะสร้างประโยชน์ได้อย่างไร ยกตัวอย่าง บี.กริมอยู่ตอนต้นของ disruption หรือ blue ocean ตั้งแต่เกิด เราขายยา ซึ่งเวลานั้นไทยมีแต่ยาสมุนไพร ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพได้ บี.กริมนำยาสมัยใหม่มาปลูกที่นี่ ไม่ใช่เพื่อทำร้ายยาสมุนไพร แต่ต้องการรักษาโรคหรือการวางระบบโทรเลขไม่ใช่ทำร้ายไปรษณีย์ แต่ช่วยให้เกิดการสื่อสารที่รวดเร็ว

ธุรกิจทั่วโลกพูดถึงคำว่า “smart” อะไรที่ทันสมัยจะใช้คำนี้ หมายความว่า จะใช้เทคโนโลยี ITC อินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ ทำให้ธุรกิจไปในแนวทางที่ดีกว่า KPMG เลือกเราเป็น 1 ใน 100 บริษัทด้านฟินเทคที่น่าสนใจที่สุดในโลก เราพยายามทำ digital transformation จึงเป็นบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีค่อนข้างเยอะในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคของไทย ระบบสาธารณสุข และอุตสาหกรรม วันนี้เราอาจเป็นบริษัทเดียวที่สมาร์ทด้านไฟฟ้า ทำระบบไฟฟ้ารับลูกค้ากว่า 150 รายที่นิคมอมตะ ชลบุรี บางกะดี แหลมฉบัง มาบตาพุด และขยายไปต่างประเทศ

ขำแหละพอร์ตธุรกิจ

ปัจจุบันนี้อาจเรียกได้ว่า บี.กริมก้าวสู่การผลิตพลังงาน เป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ แต่จริง ๆ แล้วธุรกิจของเรามีความหลากหลาย แต่ละช่วงเวลาแต่ละธุรกิจเติบโตไม่เท่ากัน เช่น ช่วงที่ขายระบบสาธารณูปโภคให้โครงการ BTS-รถไฟฟ้าใต้ดิน-แอร์พอร์ตลิงก์ ก็มีคนมองว่า เราเน้นเรื่องนั้นหรือเมื่อเราขายระบบโทรคมนาคมให้องค์การโทรศัพท์ฯ-ซีพี เทเลคอม-เอไอเอส คนก็มองว่า บี.กริมเป็นธุรกิจสื่อสาร ใครมาติดต่อซื้อยาและเครื่องมือแพทย์ เราก็จะกลายเป็นธุรกิจสาธารณสุข เรายังมีธุรกิจเครื่องปรับอากาศ (carrier) โตได้ดี เครื่องใช้ไฟฟ้า กระจกติดตั้งภายนอกอาคาร และอสังหาริมทรัพย์ แม้จะมีธุรกิจไฟฟ้าเป็นธุรกิจหลัก แต่ยังรักษาธุรกิจดั้งเดิม รวมถึงสายการเดินเรือด้วย

24ปีที่แล้วลุยลงทุนโรงไฟฟ้า

30 ปีก่อน ผมคิดว่า business model ต้องเปลี่ยน เวลานั้น บี.กริมเป็นตัวแทนของบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก แต่เมื่อเศรษฐกิจเติบโต ความเป็นตัวแทนไม่ยั่งยืน เราทำ 2 อย่างคือ ติดต่อบริษัทที่เป็นตัวแทนเพื่อขอร่วมทุน ซึ่งก็สำเร็จหลายบริษัท เมื่อนึกถึงธุรกิจดั้งเดิม 1 ในนั้นคือ ไฟฟ้า เดินเรือ อสังหาริมทรัพย์ เราพัฒนาของเรามา ไฟฟ้าเริ่มเมื่อ 24 ปีที่แล้วกับอมตะ รัฐบาลเปิดให้เอกชนลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อใช้ในนิคมอุตสาหกรรม เราจึงอยู่ในธุรกิจไฟฟ้าตั้งแต่ต้นศตวรรษที่แล้ว จากนั้นพลังงานหมุนเวียนเริ่มได้รับความนิยมจึงลงทุนบ้าง ปัจจุบันลงทุนธุรกิจไฟฟ้าใน 8-9 ประเทศ ในไทยโดยเฉพาะแสงอาทิตย์-ลม สปป.ลาวทำพลังงานน้ำ กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และเวียดนามทำแสงอาทิตย์ มาเลเซียกำลังคุยร่วมทุน เกาหลีทำโรงไฟฟ้าพลังลม เยอรมนีและกรีซ กำลังดูที่เมียนมา สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

ธุรกิจไฟฟ้ากำลังจะเปลี่ยน

30 ปีก่อนกับปัจจุบันแตกต่างกัน จากการพัฒนาอุปกรณ์ที่มีความทันสมัยทำให้การใช้ไฟฟ้าลดลง โรงไฟฟ้าเราใช้เทคโนโลยีสูงสุดและใช้ระบบดิจิทัลมากที่สุดในการบำรุงรักษาออกแบบและปฏิบัติการ ระบบสารสนเทศต้องการระบบไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพสูง แต่ในอนาคตความต้องการใช้ไฟจะมากขึ้น เช่น รถยนต์ไฟฟ้า เรามุ่งแสวงหาโอกาส เวียดนามต้องการใช้ไฟมากขึ้น อยากทำพลังงานน้ำก็มีคนในลาวมาชวน เขมรก็อยากให้หุ้น สิ่งที่เกิดขึ้นในไทยมากคือ โซลาร์รูฟท็อป

ดึงมืออาชีพระดับโลกร่วมทีม

โอกาสการลงทุนมีทั่วไป ขึ้นกับว่าจะเลือกประเภทไหน มีคนทำไหม ล่าสุดเพิ่งตั้ง “องค์กรใหม่” มีบอร์ดด้านพลังงานและธุรกิจอื่นได้ 3 คนเก่งระดับโลกมาร่วมทีม คนแรก Mr.Fabrice Goetchmann ตำแหน่ง President B. Grimm Industrial Businesses ในอดีตดูแลธุรกิจอุตสาหกรรม SIEMENS ทั่วโลก คนที่ 2 เป็น Prof.Dr.Ing. Klaus Wucherer, Dr.Hermann Requardt, Ph.D., จาก SIEMENS มารับตำแหน่ง Executive Board เป็นอดีต CEO เครื่องมือแพทย์บริษัทลูก SIEMENS สุดท้าย Prof.Dr.Ingo Beyer von Jutrzenka-Morgenstern ตำแหน่ง Executive Board จาก McKinsey ปรึกษาด้านการจัดการที่เคยดูแลเอเชีย ทั้ง 3 คนจะมาร่วมงานกับผมและลูกสาว (Caroline) ซึ่งดูธุรกิจสาธารณสุขและอุตสาหกรรม ผมดูแลธุรกิจเดินเรือ ไลฟ์สไตล์ และอสังหาริมทรัพย์

แผนการลงทุนในปี 2563

มีแผนลงทุนครบทุกด้าน เช่น โรงไฟฟ้าทั้งที่ต้องสร้างขึ้น ที่ซื้อเข้ามาและสัมปทาน ด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเคมีภัณฑ์และรีไซเคิล เพราะมีโอกาสเติบโตในอนาคต ด้านสาธารณสุข มี 3 โครงการคือ สร้างคลินิก เรื่องยา และจะลงทุนในบริษัทใหม่ หลังมีบอร์ดใหม่ตั้งเป้าใหญ่ไว้ว่า ถ้า บี.กริมครบรอบ 150 ปีต้องมียอดขายเพิ่มเป็น 150,000 ล้านบาทหรือกว่า 3 เท่าใน 9 ปี ประมาณการว่าปีนี้ บี.กริมโตจาก 50,000 ล้านเป็น 60,000 ล้านบาท หรือโตกว่า 20% จากพลังงาน 75% หรือ 44,000 ล้านบาท, อุตสาหกรรม 16% ราว 9,600 ล้านบาท ธุรกิจสุขภาพ 8% ราว 5,000 ล้านบาท และอื่น ๆ 600 ล้านบาท เรามองหาโอกาสทางธุรกิจเสมอ

เคล็ดลับความสำเร็จ บี.กริม


เหตุผลที่เราไปได้ดีก็เพราะตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย และทำธุรกิจด้วยความรัก การช่วยเหลือกัน ส่วนวิธีการดำเนินธุรกิจแบบเข้มงวดหรือให้เงินเยอะเป็น 2 วิธีที่เราไม่ชอบ เราอยากเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ดี หากพูดถึงความสำเร็จอาจเรียกได้ว่าเป็นบริษัทของประเทศนั้น การมีเทคโนโลยีที่ดี มีผลงานที่ดี ที่สำคัญต้องดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี มีค่านิยมมองโลกในแง่ดี เป็นมืออาชีพเป็นพันธมิตรที่ดีต้องคิดอะไรใหม่ตามกลยุทธ์ 4P ถ้าคนคิดว่าคุณเป็นมิตรที่ดี มีอะไรเกิดขึ้นเขาจะไปด้วย โตด้วยกัน บี.กริมอยู่ในประเทศไหนต้องทำแบบนั้น