ขนมมันฝรั่งอบกรอบสุดบูม เอกชนชงเพิ่มโควตา 6 พันตัน

(Photo by Mark Kauffman/The LIFE Picture Collection via Getty Images)

3 บริษัทผู้นำเข้ามันฝรั่ง รวมตัวชง “เกษตร-พาณิชย์” ขยายโควตานำเข้าวัตถุดิบรอบใหม่ปีོ-67 อีก 6 พันตัน หลังตลาดขนมมันฝรั่งอบกรอบบูม ผลผลิตไม่เพียงพอ “พาณิชย์” รับปากพร้อมพิจารณาตามมติ คกก.พืชหัว

แหล่งข่าวผู้ผลิตขนมมันฝรั่งอบกรอบ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการจัดการการผลิตและการตลาดกระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้พิจารณาข้อเสนอจากเอกชนที่ขอให้พิจารณาขยายโควตานำเข้ามันฝรั่งตามความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 6,000 ตัน ในรอบต่อไปปี 2564-2567 จากรอบปัจจุบันปี 2561-2563 ที่ให้นำเข้าได้ปีละ 44,756 ตัน

“เหตุที่ขอขยายโควตารอบใหม่เนื่องจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ขนมมันฝรั่งอบกรอบที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ผู้ผลิตต้องขยายการผลิตสินค้ามันฝรั่งอบกรอบหลากหลายรสชาติเพื่อให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค ทำให้ความต้องการใช้วัตถุดิบเพิ่มขึ้น และจำนวนวัตถุดิบที่ผลิตได้ในประเทศก็ยังไม่เพียงพอ”

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่านำเข้าเพิ่มขึ้นจะไม่กระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งแน่นอน เพราะตามปกติจะมีเงื่อนไขว่าต้องซื้อมันฝรั่งตามข้อตกลงพันธสัญญา หรือ Contract Farming และที่ผ่านมาบริษัทผู้นำเข้าก็ซื้อในราคาสูงกว่าราคาที่ตกลงมาโดยตลอด เช่น ที่ตกลงว่าในฤดูฝน (ก.ค.-ธ.ค.) จะรับซื้อราคา กก.ละ 14 บาท แต่เอกชนก็ซื้อ 16 บาท ส่วนฤดูแล้งซื้อ กก.ละ 13.40 บาท จากที่ตกลง 10.60 บาท เพราะวัตถุดิบไม่พอ หากไม่ขยายโควตานำเข้าจะทำให้ผู้ผลิตที่นำเข้าเกินโควตาที่ต้องเสียภาษีอัตรา 125% ซึ่งอาจจะกระทบต่อเป้าหมายการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตในอาเซียน

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการจัดการการผลิตและการตลาดกระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง พิจารณาการบริหารการนำเข้าหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูปปี 2563 อัตราภาษีในโควตา 27% ส่วนภาษีนอกโควตา 125% ปริมาณรวม 52,000 ตัน

โดยจัดสรรให้บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ปริมาณ 44,750 ตัน บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ฟู้ดส์ จำกัด ปริมาณ 6,750 ตัน และบริษัท ยูนิแชมป์ จำกัด ปริมาณ 500 ตัน ซึ่งผู้นำเข้าหรือผู้แทนต้องทำสัญญารับซื้อผลผลิตหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูปจากเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งภายในประเทศ โดยกำหนดราคารับซื้อขั้นต่ำในช่วงฤดูฝน กก.ละ 14.00 บาท และในช่วงฤดูแล้ง (ม.ค.-มิ.ย.) กก.ละ 10.60 บาท

ทั้งนี้ โควตาสินค้ามันฝรั่งจะพิจารณาทุก ๆ 3 ปี ผู้ประกอบการที่ได้รับการจัดสรรโควตาภายใต้ความตกลง WTO จะต้องมีการทำสัญญารับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการ โดยมีการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าราคาขั้นต่ำที่กำหนดไว้

“ปัจจุบันบริษัทที่มีโรงงานแปรรูปจะมีผลผลิตมันฝรั่งเพียงพอตามความต้องการของแต่ละโรงงาน และบางส่วนเกษตรกรอีกจำนวนหนึ่งที่เก็บหัวพันธุ์มันฝรั่งไว้เอง อีกส่วนตั้งใจที่จะปลูกเพื่อนำผลผลิตขายเข้าสู่โรงงาน โดยทั่วไปแล้วโรงงานได้มีการทำสัญญากับเกษตรกรรูปแบบ Contract Farming และแบบสหกรณ์ แม้บางช่วงจะประสบภัยแล้งแต่ยังเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค และได้จัดสรรโควตาตามกำหนดที่ประชุมเนื่องจากเป็นกรอบ WTO”

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลการนำเข้าตามกฎหมาย พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 จะพิจารณาปรับขยายโควตานำเข้ามันฝรั่งได้ตามที่มติคณะกรรมการพืชหัว โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอมาก็พร้อมที่จะพิจารณา


สำหรับมูลค่าตลาดขนมขบเคี้ยวปี 2561 เท่ากับ 32,726 ล้านบาท เติบโต 5.8% แบ่งเป็นมันฝรั่งอบกรอบ มูลค่า 11,992 ล้านบาท สัดส่วน 32.2% ถือว่าใหญ่ที่สุด ตามด้วย ขนมขบเคี้ยวขึ้นรูป มูลค่า 10,206 ล้านบาท สัดส่วน 27.4% กลุ่มถั่ว 4,562 ล้านบาท สัดส่วน 12.3% กลุ่มสาหร่ายปรุงรส มูลค่า 3,032 ล้านบาท สัดส่วน 8.1% กลุ่มปลา 2,865 ล้านบาท สัดส่วน 7.7% กลุ่มปลาหมึก 1,693 ล้านบาท สัดส่วน 4.5% กลุ่มข้าวเกรียบกุ้ง 1,333 ล้านบาท สัดส่วน 3.6% กลุ่มข้าวอบกรอบ 1,299 ล้านบาท สัดส่วน 3.5% และกลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าวโพด 255 ล้านบาท สัดส่วน 0.7%