จีนเลิกแบนนำเข้าหมูแคนาดา ซีพีเอฟรับส้มหล่นโกยออร์เดอร์เต็มปี”63

“HyLife” บริษัทลูกซีพีเอฟรับอานิสงส์รัฐบาลจีนเลิกแบนนำเข้าหมูแคนาดาหลัง ASF ลามหนักกระทบผลผลิตเสียหายกว่าครึ่ง “อดิเรก” ยอมรับออร์เดอร์หมูแคนาดาเต็มยาวถึงสิ้นปี มั่นใจปี”63 ฝ่าพายุเศรษฐกิจชะลอตัวดันฐานผลิต 17 ประเทศโตต่อเนื่อง

นายอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากกรณีที่สํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา รายงานว่า จีนอนุญาตให้ผู้นําเข้าจีนสามารถรับซื้อเนื้อวัวและเนื้อหมูที่ส่งออกจากแคนาดาอีกครั้งหลังที่ได้สั่งห้ามนำเข้า (แบน) มานานเกือบ 6 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 ที่ผ่านมานั้นถือเป็นโอกาสดีต่อ CPF Canada Holdings ธุรกิจเลี้ยงสุกรครบวงจรในแคนาดาด้วย

“เรื่องที่จีนยกเลิกแบนหมูแคนาดาถือว่าไม่ใช่ดีธรรมดาแต่ดีมาก ขณะนี้ที่แคนาดามีคำสั่งซื้อเข้ามารอเต็มแล้วปีหน้า หลังจากดีลซื้อกิจการสำเร็จก็สามารถผลิตได้เต็มกำลังผลิตแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้การขยายธุรกิจนอกประเทศเติบโตมากขึ้น”

ทั้งนี้ ในรายงานดังกล่าวยังระบุว่า เหตุที่จีนอนุญาตนําเข้าสุกรจากแคนาดาอีกครั้งมาจากการที่ตลาดเนื้อหมูจีนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโรคอหิวาต์สุกรแอฟริกัน (African swine fever หรือ ASF) จนทําให้สุกรตายไปแล้วกว่า 130 ล้านตัว ส่งผลให้ราคาเนื้อหมูชำแหละในประเทศสูงขึ้นมาก จนต้องพิจารณาเปิดนําเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศ และส่วนหนึ่งเป็นผลจากกรณีที่จีนต้องการลดพึ่งพาการนําเข้าสุกรจากสหรัฐเพียงแหล่งเดียว

โดยมาตรการดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกรในแคนาดาต่างกังวลต่อสถานการณ์นี้จึงลดกําลังผลิตลงกว่าร้อยละ 40 หรือคิดเป็นปริมาณกว่า 15-20 ล้านตัน การฟื้นกลับมาจะเป็นเรื่องที่ยาก โดยปี 2561 จีนนำเข้าเนื้อสุกรจากแคนาดามูลค่า 500 ล้านเหรียญแคนาดา จีนถือเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของแคนาดา

แหล่งข่าวจากซีพีเอฟ กล่าวว่า การระบาดของ ASF ในจีนส่งผลกระทบต่อสุกรของโลกซึ่งมีปริมาณการเลี้ยงคิดเป็น 50% ของโลก ขณะนี้ต้องทำลายสุกรไปถึงครึ่งหนึ่ง หรือเท่ากับปริมาณสุกรของโลกลดลง 25% มีการสั่งนำเข้าหมูมากขึ้น นอกจากนี้ โรค ASF ยังมีการระบาดในอาเซียนหลายประเทศ ทางซีพีเอฟมีการป้องกันการระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบ และยังได้รับผลดีทั้งในส่วนของไทยก็มีการส่งออกหมูไปฮ่องกง และมีการส่งหมูแปรรูปไปญี่ปุ่น

ดังนั้นทิศทางตลาดปศุสัตว์จะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในปี 2563 เพราะไม่เพียงจะส่งผลดีต่อสุกรเท่านั้นแต่ยังจะส่งผลดีต่อราคาสินค้าอื่นที่ใช้ทดแทน เช่น ไก่ และไข่ด้วย

ที่ผ่านมา CPF Canada Holdings Corp. ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของเครือได้ลงนามสัญญาซื้อหุ้นของ HyLife Investments Ltd. (HIL) ซึ่งถือหุ้นใน HyLife Group Holding Ltd. (Hylife) ในสัดส่วน 50.1% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดมูลค่า 498 ล้านเหรียญแคนาดา หรือ 11,845 ล้านบาท และมีกำหนดว่าดีลดังกล่าวจะเสร็จสมบูรณ์ภายใน 8 เดือนนับจากวันลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 62 หรือประมาณเดือนธันวาคมนี้ จากนั้นจะทยอยเข้าซื้อหุ้นส่วนที่เหลือทั้งหมด เพื่อให้กลุ่ม CPF ถือครองหุ้นในสัดส่วนหุ้น 100%

โดยเป้าหมายการลงทุนที่แคนาดา คาดว่าจะทำให้เข้าถึงฐานการผลิตผลิตภัณฑ์หมูที่มีต้นทุนต่ำ และมีความมั่นคงทางชีวภาพสูง เพราะกลุ่ม HyLife ประกอบธุรกิจสุกรครบวงจร รัฐแมนิโทบา ประเทศแคนาดา โดยมีโรงงานแปรรูป 3 โรงงาน ตั้งอยู่ในแคนาดา 1 โรงงาน และประเทศเม็กซิโก 2 โรงงาน และด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงและมีผู้ร่วมทุนอย่าง Itochu Corporation ส่งผลให้ HyLife เป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งในการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรแช่เย็นจากแคนาดาไปยังญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดพรีเมี่ยมต่อประเด็นแนวโน้มธุรกิจซีพีเอฟในปีหน้า นายอดิเรกกล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจซีพีเอฟเติบโตอย่างต่อเนื่องในปีหน้า

โดยเฉพาะรายได้จากการขยายการลงทุนไป 17 ประเทศ ซึ่งทำให้รายได้จากฐานการผลิตในฐานต่างประเทศมีสัดส่วน 70-80% เติบโตได้ดี ทั้งในจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และรัสเซีย

“แม้ว่าปีหน้าต้องเผชิญกับความท้าทายจากเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะชะลอตัวแต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่ออาหาร เพราะเป็นสินค้าที่จำเป็นต้องบริโภคและผู้บริโภคต้องการอาหารปลอดภัย ตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราผลิตและยังเน้นดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชน จึงทำให้สินค้าเราได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคทุกเซ็กเตอร์”

ขณะที่ตลาดในประเทศซึ่งมีสัดส่วน 30% อาจอ่อนตัวลง หรือเติบโตไม่เท่ากับต่างประเทศ เพราะแม้จีดีพีจะขยายตัวแต่ก็ขยายตัวน้อยเพียง 2-3% ประชาชนอาจจะประหยัดอาหารที่ราคาถูกลงจากปกติ แต่ถึงอย่างไรอาหารเป็นปัจจัยสำคัญต่อการครองชีพ และเราผลิตโปรตีนราคาถูก ดังนั้นจะไม่กระทบ

“ปัจจัยเสี่ยงบาทแข็งกระทบไม่มากนัก เพราะฐานผลิตในประเทศ 27-28% ซึ่งหลัก ๆ เป็นตลาดภายใน มีการส่งออกเพียง 5% และยังมีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศซึ่งจะช่วยบาลานซ์กันได้”

อย่างไรก็ตาม ปีหน้าภัยแล้งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ อาจทำให้ผลผลิตอาจปรับลดลง ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น โดยพืชและสัตว์แต่ละชนิดมีความต้องการใช้น้ำต่างกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการควรวางแผนบริหารจัดการน้ำไว้ด้วย สำหรับมาตรการดูแลสินค้าเกษตรตามนโยบายประกันรายได้รัฐบาลดำเนินในพืชเกษตรที่สำคัญ เพื่อเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกร ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ


รายงานข่าวระบุว่า ยอดขายไตรมาส 3 ปี 2562 มูลค่า 132,597 ล้านบาท ลดลง 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนแต่หากไม่นับรวมผลกระทบค่าบาทแข็งและการปรับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่จะเพิ่มขึ้น 8% ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 6,062 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 23% จากปีก่อน