“ธรรมนัส”ไปต่อชงงบกลางแจกหมอนยางประชารัฐ

จ่อคลอดโครงการหมอนยางประชารัฐ “ธรรมนัส” เล็งของบฯกลาง ครม. 4,000 ล้านบาท หลัง อ.ต.ก.ไม่สามารถออกฉลากการกุศล 10 ล้านฉบับหาเงินมาจ่ายเงินกู้ ธ.ก.ส.เพื่อดำเนินโครงการได้ เหตุติด พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ อ.ต.ก.ขาดทุนสะสม 3 ปีติดต่อกันจน ก.คลังไม่สามารถค้ำประกันเงินกู้ให้ได้ ด้านสภาเครือข่ายยางเชียร์ทำได้จริงราคายางพุ่ง 65 บาท/กก.ได้ แต่เกรงว่าสุดท้ายเป็นราคาคุยของรัฐบาลเหมือนโครงการถนนยางพาราหมู่บ้านมากกว่า

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงโครงการหมอนยางประชารัฐว่า ได้มอบหมายให้ พ.ต.อ.รวมนคร ทับทิมธงไธย หัวหน้าคณะทำงาน รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะทำงานผลิตหมอนยางประชารัฐเพื่อมอบให้หน่วยงานรัฐและประชาชน โดยจะดำเนินการผลิตหมอนยางพาราประชารัฐจำนวน 30 ล้านใบ เริ่มในปี 2563 ระยะเวลาการดำเนินโครงการเป็นเวลา 4 ปี

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจและผลักดันการใช้ยางภายในประเทศ หลังที่ผ่านมารัฐบาลพยายามผลักดันการใช้ยางพาราในประเทศ แต่ปริมาณการใช้ยางยังไม่ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ล่าสุดจะทำเรื่องเสนอเข้า ครม.เพื่อขอใช้งบฯกลางจำนวน 4,000 ล้านบาทในการผลิตหมอนแจกในปี 2563 “โครงการนี้นอกจากจะผลักดันราคายางพาราในประเทศแล้ว ยังจะเป็นการสร้างงานและกระตุ้นฐานรากเศรษฐกิจด้วย”

ทั้งนี้ในปี 2563 รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะใช้ยางพาราในประเทศประมาณ 90,000 ตัน แบ่งเป็นกระทรวงคมนาคมคาดว่าจะใช้ยางพารา 52,000 ตัน, กระทรวงเกษตรฯจะใช้ยางเพื่อทำถนน ฝาย งานปูพื้นคอกปศุสัตว์จำนวน 6,170 ตัน, กระทรวงกลาโหมคาดว่าจะใช้ทำยางนอก-ปืนจำลอง-รองเท้าบูต-ถุงมือ-หมอน-ที่นอนจำนวน 982.70 ตัน, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะใช้ทำหมอน-รองเท้าบูต-ยางรถยนต์จำนวน 1,116 ตัน, กระทรวงยุติธรรมคาดว่าจะใช้ยางพาราทำที่นอนและพื้นสนามจำนวน 1,113.96 ตัน และกระทรวงสาธารณสุขใช้ยางพาราทำหมอน-ถุงมือ-สายยาง-ถุงยางอนามัยคิดเป็นมูลค่า 29,715.58 ล้านบาท

“โครงการหมอนยางประชารัฐจะช่วยดันราคายางในประเทศขึ้นได้ เพราะเราดำเนินการโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง แต่ผมยังไม่ได้เริ่มโครงการก็ถูกกล่าวหาว่า ทุจริตไปแล้ว ในภาคอีสานหันมาปลูกยางพารากันมาก แต่ราคาตกต่ำแล้วชาวบ้านจะอยู่ได้อย่างไร ผมก็พยายามหาทางช่วยเหลือและแก้ปัญหาและพยายามบูรณาการการทำงานเรื่องยางจากทุกภาคส่วน โครงการผลิตหมอนยางประชารัฐเป็นโครงการที่ดำเนินการเพื่อผลักดันการใช้ยางพาราในประเทศ โดยมุ่งหวังยกระดับราคายางที่ 65 บาท/กก.ตามที่พรรคพลังประชารัฐได้หาเสียงไว้” ร.อ.ธรรมนัสกล่าว

ด้าน พ.ต.อ.รวมนคร ทับทิมธงไชย หัวหน้าคณะทำงาน รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงานผลิตหมอนยางประชารัฐ กล่าวภายหลังการประชุมคณะทำงานผลิตหมอนยางพาราประชารัฐจำนวน 30 ล้านใบ งบประมาณ 18,000 ล้านบาทว่า เป้าหมายของโครงการจะรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางในราคา กก.ละ 65 บาท รวมรับซื้อยางพาราทั้งหมดประมาณ 150,000 ตัน เพื่อนำมาผลิตหมอนยางพารารวมจำนวน 30 ล้านใบ มอบให้ประชาชนเดือนละ 3 ล้านใบเป็นระยะเวลา 10 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์-30 พฤศจิกายน 2563 และจะแจกจ่ายให้กับหน่วยงานรัฐ อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งความต้องการหมอนยางพาราทั้งหมด 433,702 ใบ

โครงการนี้จะใช้งบประมาณทั้งหมด 18,000 ล้านบาท เดิมจะเสนอ ครม.ให้องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ทำการออกสลากการกุศลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางจำนวน 10 ล้านใบ/งวด ซึ่ง อ.ต.ก.จะหักค่าใช้จ่าย 18 บาท/ใบ หรือพิมพ์สลาก 10 ล้านบาท/งวด ทำให้ อ.ต.ก.มีเงินรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 180 ล้านบาท/งวดหรือ 4,320 ล้านบาท/ปี หรือหากดำเนินโครงการต่อเนื่อง 6 ปีจำนวน 144 งวดก็จะมีเงิน 25,920 ล้านบาท โดย อ.ต.ก.จะนำเงินหลังหักค่าใช้จ่าย จากการจำหน่ายสลากการกุศลไปชำระหนี้เงินกู้ที่กู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 18,000 ล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินโครงการนี้ โดย อ.ต.ก.จะปลอดการชำระหนี้ในปี 2563 และเริ่มชำระหนี้เงินกู้ 18,000 ล้านบาทในวันที่ 1 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป เริ่มจาก 180 ล้านบาท/งวดหรือ 380 ล้านบาท/เดือน จนครบจำนวนเงินกู้จำนวนเงินกู้พร้อมดอกเบี้ย

แต่ล่าสุดจากการหารือ กระทรวงการคลังได้ยก พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะขึ้นมาชี้แจงว่า อ.ต.ก.ไม่สามารถกู้เงินได้ เนื่องจากพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะระบุไว้ชัดเจนตามมาตรา 29 ว่าด้วยหลักเกณฑ์และกรอบวงเงินที่กระทรวงการคลังจะสามารถค้ำประกันเงินกู้แก่รัฐวิสาหกิจใด ๆ ได้นั้นต้องไม่มีการขาดทุนสะสมเกิน 3 ปี ส่วน อ.ต.ก.นั้น “ขาดทุนสะสมมาแล้ว 5 ปีจึงไม่สามารถทำได้” ดังนั้นจึงต้องเสนอขอ “งบฯกลาง” เพื่อดำเนินการไปก่อน

ด้านนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) ให้ความเห็นว่า หากโครงการนี้สามารถเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้ก็จะช่วยดูดซับ “น้ำยางข้น” ออกจากระบบได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราแทนที่จะส่งออกวัตถุดิบไปยังต่างประเทศ

“ถ้าทำได้ก็ดี เพราะจะช่วยดูดซับยางพาราออกจากระบบได้มาก ทำให้ราคายางพาราสูงขึ้น โดยรัฐบาลไม่ต้องมีการประกันรายได้ยางพารา แต่ผมเกรงว่า จะเป็นราคาคุยมากกว่า บอกไปวัน ๆ แล้วก็ไม่ทำเหมือนทุกโครงการที่มีการดำเนินการมาก่อนหน้านี้ อาทิ การนำยางพารามาเป็นส่วนผสมในการทำถนนหมู่บ้านละ 1 กิโลเมตรรวม 80,000 หมู่บ้าน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องการให้มีการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้น แต่จนป่านนี้ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ” นายอุทัยกล่าว