TDRI จี้รัฐทบทวนประกันรายได้ ปิดช่องพ่อค้ากดราคาพืชเกษตร

ทีดีอาร์ไอร้องรัฐบาล “ทบทวน” นโยบายประกันรายได้พืชเกษตร หลังถูกพ่อค้าใช้เป็นช่องว่างฉวยโอกาสกดราคายาง-มันสำปะหลัง ผลักให้รัฐบาลควักเงินชดเชยช่วยเหลือเกษตรกร แถมยังซ้ำซ้อนกับโครงการช่วยเหลือเกษตรกรต่างคนต่างพรรคล่อกันวุ่น ด้านสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรยังมองโลกสวย ปีหน้า GDP เกษตรจะขยายตัวถึง 3% สวนทางปัจจัยเสี่ยง

หลังจากโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ 5 พืช ตามนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านมาได้ 3 เดือน นับจากการประกันรายได้ปาล์มน้ำมัน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ตามมาด้วย การประกันรายได้ข้าวเปลือกนาปี 2562/2563 ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ตามตาราง)

ล่าสุด ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้ตรวจสอบสถานการณ์ราคาพืชทั้ง 5 ชนิด เปรียบเทียบก่อน-หลังการประกันรายได้พบว่า ปาล์มน้ำมันเป็นชนิดเดียวที่ราคาขายสูงขึ้นที่ กก.ละ 4.00-4.70 บาท จากก่อนประกันที่ กก.ละ 2.30-2.90 บาท ขณะที่พืชอีก 4 ชนิด ราคาทรงตัวและปรับตัวลดลง เช่น ข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 12,000-16,500 บาท จากก่อนประกัน ตันละ 16,500-18,500 บาท, มันสำปะหลัง กก.ละ 2.00 บาท จากก่อนประกันรายได้ กก.ละ 2.30-2.40 บาท และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กก.ละ 6.50 บาท ลดลงจากก่อนประกัน กก.ละ 7.72 บาท และยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคาทรงตัว กก.ละ 38-40 บาท

โดยมีข้อสังเกตว่า โครงการประกันรายได้ไม่ได้ช่วยยกระดับราคาสินค้าเกษตรเหมือนนโยบายรับจำนำ เนื่องจากระบบนี้ไม่ได้ดึง “ซัพพลาย” สินค้าเกษตรที่ล้นทะลักออกจากตลาด ขณะเดียวกันยังเป็นช่องทางให้ผู้ส่งออกฉวยโอกาส “กดราคา” ด้วยเพราะราคาสินค้าเกษตรผูกโยงกับราคาส่งออก ซึ่งในช่วง 11 เดือนแรก ยอดส่งออกสินคาเกษตรและอาหารลดลง 2.36%

TDRI แนะทบทวนประกันรายได้

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รัฐบาลควรทบทวนโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร เนื่องจากเป็น “ช่องว่าง” ทำให้พ่อค้ากดราคาพืชเกษตรจากเกษตรกร เพราะพ่อค้ามั่นใจว่า เกษตรกรจะได้เงิน “ส่วนต่าง” จากราคาประกันอยู่แล้ว รัฐบาลควรให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการประกันรายได้เร่งสรุปผลการดำเนินการ ปัญหาการดำเนินนโยบายที่เกิดขึ้น เพื่อพิจารณาทบทวน-ปรับแก้โครงการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลต้องทบทวนการดำเนินงานนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยซ้ำซ้อนกันเพื่อให้เป็นตามนโยบายที่หาเสียงไว้ จึงถือเป็นการเพิ่มการใช้งบประมาณสูงขึ้น ดังนั้น ควรกระจายงบประมาณไปยังกลุ่มบุคคลอื่นด้วย

“นโยบายของรัฐบาลทุ่มงบประมาณมาที่จุดเดียว มาตรการที่เกิดขึ้นล้วนใช้งบประมาณจำนวนมาก ขณะที่การเก็บรายได้จากภาษีไม่ได้มากนัก ในระยะยาวต้องการให้พิจารณาทบทวนนโยบายให้เหมาะสม หากเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจขึ้นมาอาจจะไม่สามารถแก้ไขหรือผลักดันการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก”

โลกสวย GDP เกษตรโต 3%

ด้านนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ภาคเกษตรปี 2563 จะขยายตัว 2-3% เพิ่มจากปีนี้ ที่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 0.5% ปัจจัยหลักมาจากนโยบายของรัฐบาล ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว และเศรษฐกิจโลกทำให้การส่งออกในหลายสินค้าดี ตลอจนมาตรการส่งเสริมการบริโภคและการใช้สินค้าเกษตรในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงช่วงต้นปี 2563 ภาคเกษตรต้องปรับเพื่อเผชิญกับ 1) ความเสี่ยงจากเงินบาทแข็งค่า หากแข็งค่าหลุดกรอบ 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จะกระทบการส่งออกสินค้าเกษตรอย่างแรง ทาง สศก.ได้ประสานและตั้งคณะทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อประเมินภาวะค่าเงิน รักษาเสถียรภาพ 2) ปัญหาภัยแล้งคาดการณ์ปริมาณน้ำจะน้อยกว่าปี 2562

ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญด้านการบริหารจัดการน้ำให้รัดกุม และเพียงพอไปถึงสิ้นสุดฤดูแล้ว อย่างไรก็ตาม แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรภาพรวมในปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นจากนโยบายประกันราคาของรัฐบาล ความต้องการของตลาดโลกที่ยังมีออร์เดอร์ต่อเนื่อง

ทั้งนี้ GDP ภาคเกษตรที่ขยายตัวขึ้น มาจากสินค้าพืช 0.7% โดยเฉพาะผลผลิตพืชเศรษฐกิจที่มีการประกันรายได้ เช่น ยางพารา กับปาล์มน้ำมัน ปรับขึ้นเเตะ กก.ละ 5 บาท ส่วนมันสำปะหลังมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเนื้อที่เก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากราคามันสำปะหลังในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนข้าวจะมีผลผลิตพืชจะลดลงจากประสบภัยแล้งช่วงต้นฤดูปลูก ตลอดจนผลกระทบจากพายุโพดุลและคาจิกิ ทั้งยังต้องเผชิญการเเข่งขันกับข้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน และคู่แข่งที่ปลูกทั้งเวียดนามและจีน โดยในปีหน้าไทยจะเปิดตัวข้าวขาวพื้นนิ่มพันธุ์ใหม่ ขณะที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับลดลงจากช่วงครึ่งปีแรกจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ส่วนไม้ยางพาราได้รับประโยชน์จากโครงการประกันรายได้ ทำให้ตัดโค่นไม้ยางพาราลดลง เพื่อรอรับเงินชดเชย

ปาล์มแพงไม่เกี่ยวประกันรายได้

นายสุวรรณ อ่องคณา นายกสมาคมปาล์มน้ำมันเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า ราคาปาล์มขณะนี้ปรับขึ้นถึงกก.ละ 4 บาท และน่าจะทรงถึงปีหน้า ซึ่งไม่ได้เป็นผลมาจากการประกันรายได้ แต่เป็นเพราะช่วงนี้ไม่มีผลผลิตปาล์มออกสู่ตลาด และความต้องการใช้สูง

ส่วนในปีหน้ารัฐบาล “ไม่จำเป็น” ที่จะต้องประกันรายได้ปาล์มน้ำมันอีก แต่ควรส่งเสริมให้กลไกตลาดทำงาน และยังมีแนวโน้มผลผลิตปาล์มลดลงจากภัยธรรมชาติ ประกอบกับนโยบายส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 และ B100 ของกระทรวงพลังงาน ความต้องการใช้เพื่อส่งออกและบริโภคภายในเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณสต๊อกปาล์มภายในประเทศ “น่าจะปรับลดลง และราคาปาล์มจะสูงขึ้น” สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแลมากที่สุด อาทิ ปัญหาป้องกันการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) จากประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากราคา CPO ไทยสูงกว่าประมาณ 10 บาทต่อ กก.

ยางถูกพ่อค้ากดราคาหนัก

นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยางพารา-ปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประกันรายได้ชาวสวนยางที่ผ่านมา “ไม่ได้ตอบโจทย์” แต่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ยั่งยืน วิธีการนี้ไม่ได้แก้ปัญหาด้านตลาดและราคา ทำให้พ่อค้าได้ใจ กดราคายางในประเทศต่ำลง ทางออกในเรื่องนี้ รัฐบาลต้องขับเคลื่อนการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความสมดุล กล่าวคือการนำยางพารามาทำถนนทั่วประเทศอย่างจริงจัง การนำพื้นที่ปลูกยางประมาณ 100,000 ไร่ ของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่ภาคใต้ มาทำโครงการนำร่องนิคมอุตสาหกรรมยาง เพื่อลดปริมาณส่งออกยาง รวมทั้งต้องจัดโซนนิ่งการปลูกยางใหม่ พื้นที่ไม่เหมาะสมต้องยกเลิก เช่น ภาคเหนือ และภาคอีสาน ที่เหมาะกับการปลูกพืชไร่มากกว่าเพราะฝนตกน้อย

หัวมันสดก็โดนกดราคาด้วย

ด้านนายธีระชาติ เสยกระโทก รักษาการนายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ขณะนี้มีการ “กดราคา” รับซื้อหัวมันสดในพื้นที่ เพราะพ่อค้ามั่นใจว่า เกษตรกรจะได้รับเงิน “ชดเชย” ส่วนต่างราคาประกันจากรัฐบาลอยู่แล้ว และหากรัฐบาลจะเดินหน้าโครงการประกันรายได้มันสำปะหลังต่อไป ควรต้องปรับหลักเกณฑ์คำนวณราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงตั้งแต่ปลายทางลดทอนมาเป็นราคาหัวมันสด สำหรับผลการดำเนินโครงการประกันรายได้งวดแรก 1 ธันวาคม 2563 รัฐต้องจ่ายชดเชยให้เกษตรกร กก.ละ 0.23 บาท เนื่องจากราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง กก.ละ 2.27 บาท

“ต่ำกว่า” ราคาประกันที่กำหนดไว้ กก.ละ 2.50 บาท ส่วนงวดที่ 2 วันที่ 1 มกราคม 2563 คาดว่ารัฐบาลจะต้องจ่ายชดเชยมากขึ้น เพราะขณะนี้ราคาหัวมันในตลาด กก.ละ 2.25 บาท ส่วนผลผลิตในปี 2563/2564 คาดว่าจะลดลงเพราะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

ข้าวรับมือภัยแล้ง

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวถึง สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักภาคกลางที่ใช้ทำนาปรังลดลง คาดว่าปริมาณผลผลิตปี 2563 จะลดลงและ แนวโน้มราคาข้าวน่าจะปรับสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีหลายพื้นที่ เช่น ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา อยุธยา อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร สิงห์บุรี เป็นต้น หากภัยแล้งเกิดขึ้นจะกระทบต่อการปลูก ขอให้รัฐแก้ปัญหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและเสริมมาตรการช่วยเหลือชาวนาทั้งพันธุ์ข้าวและการเก็บเกี่ยว ส่วนการดำเนินโครงการประกันรายได้ต่อ รัฐบาลต้องปรับเกณฑ์ราคาหรือทบทวนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพราะราคาข้าวปีหน้าจะปรับตัวสูงขึ้น