5 ปี เขตเศรษฐกิจชายแดน SEZ ปั้น “สระแก้ว” นิคมต้นแบบ

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ได้เริ่มพัฒนาขึ้นมาเมื่อ 5 ปีที่แล้วในช่วงรัฐบาล คสช. ด้วยความพยายามที่จะเปิดพื้นที่ทางเศรษฐกิจใหม่ใน 10 จังหวัดริมขอบชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้ความเชื่อที่ว่า SEZ จะช่วยกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน จัดระเบียบความมั่นคงชายแดน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่เขต SEZ จะเริ่มต้นไม่ได้หากปราศจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติเข้ามาลงทุนในพื้นที่เป้าหมายที่เหมาะสมตลอดจนขยายความร่วมมือในด่านชายแดน และเปิดการค้าที่สะดวกให้กับทั้ง 2 ฝ่าย

ระดมปรับแผนกระตุ้น SEZ

จากการติดตามความคืบหน้าของ SEZ ในหลายปีที่ผ่านมา พบสถานการณ์ที่แตกต่างกันในหลาย ๆ เขตส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) หรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ต้องปรับแผนงานใหม่ มุ่งเน้นการชักจูงนักลงทุนและเป้าหมายทางการตลาดที่ชัดเจนด้วยการปรับและขยายมาตรการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย SEZ เพื่อให้สอดรับกับประเภทกิจการในแต่ละท้องถิ่น เช่นเป็นกิจการเป้าหมายใน 13 กลุ่มอุตสาหกรรม จะได้รับการ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคล สูงสุด 8 ปี และหากเป็นกิจการกลุ่ม A1 A2 จะได้ลดหย่อนภาษีอีก 50% เพิ่ม 5 ปี

นอกจากนี้ BOI ยังนำบางประเภทกิจการที่ได้ “ยกเลิก” ให้การส่งเสริมการลงทุนไปแล้วกลับมาให้การส่งเสริมใหม่ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า กิจการนั้นจะต้องอยู่ในพื้นที่ SEZ เช่น กิจการผลิตสบู่, ยาสระผม, เครื่องสำอาง, พลาสติก, วัสดุก่อสร้าง จะได้รับ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และยังได้ผ่อนปรนเงื่อนไขให้กับกิจการ SMEs เป็นพิเศษเพื่อให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้ง่ายขึ้น เพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มกับทรัพยากรในท้องถิ่น ถือว่ารัฐอัดโปรโมชั่นแรงตลอด

ขณะที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กำลังสำคัญในการจัดตั้ง “นิคมอุตสาหกรรม” ได้ตกลงที่จะตั้งนิคมขึ้นมารองรับนักลงทุนแล้ว 3 แห่งได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว จ.สระแก้ว, นิคมอุตสาหกรรมสะเดา จ.สงขลา และนิคมอุตสาหกรรมแม่สอด จ.ตาก มีเพียง 3 แห่งที่ “ดูเป็นรูปเป็นร่าง” มากที่สุดในเขต SEZ

ยอดตั้งธุรกิจเกือบ 4 พันราย

ข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่าระหว่างปี 2558-พฤศจิกายน 2562 ชี้ให้เห็นว่า 10 พื้นที่ SEZ มียอดจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ 3,986 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 7,852.21 ล้านบาท

โดย จ.เชียงราย มียอดจดทะเบียนมากที่สุดถึง 857 โครงการ มูลค่า 1,497.54 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ ตาก 770 โครงการ มูลค่า 1,910 ล้านบาท,หนองคาย 651 โครงการ มูลค่า 1,203.54 ล้านบาท, มุกดาหาร 516 โครงการ มูลค่า 1,019.67 ล้านบาท

นครพนม 388 โครงการ มูลค่า 728.89 ล้านบาท, สงขลา 255 โครงการ มูลค่า 815.32 ล้านบาท, นราธิวาส 152 โครงการ มูลค่า 262.22 ล้านบาท, สระแก้ว 100 โครงการ มูลค่า 222.57 ล้านบาท, กาญจนบุรี 68 โครงการ มูลค่า 115.21 ล้านบาท และตราด 59 โครงการ มูลค่า 81.38 ล้านบาท

ส่วนยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายใต้มาตรการส่งเสริมการลงทุนของ BOI ในพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่ปี 2558-กันยายน 2562 ปรากฏว่าให้การส่งเสริมการลงทุนแล้ว 67 โครงการ มูลค่า 10,534 ล้านบาท

“สระแก้ว” ต้นแบบ SEZ

น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในฐานะผู้รับผิดชอบในการเดินหน้าจัดตั้ง SEZ กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว ใน จ.สระแก้ว ถือเป็นโครงการต้นแบบ SEZ ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ในบรรดาเขต SEZ โดย กนอ.ใช้เวลาเข้าเคลียร์พื้นที่-ประชาสัมพันธ์ให้เกิดความเข้าใจถึงประโยชน์ที่จะได้รับในท้องที่ดังกล่าวและบริเวณใกล้เคียง เกิดการจ้างงานและจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ส่งผลให้ทุกวันนี้นิคมสระแก้วสามารถเปิดดำเนินการเป็นที่เรียบร้อย มีนักลงทุนทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญก็คือ ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมและประเภทกิจการที่สนับสนุนพัฒนาท้องถิ่นอย่างมาก

ส่วนนิคมอุตสาหกรรมสะเดา จ.สงขลา คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2563 กับนิคมอุตสาหกรรมแม่สอด จ.ตาก อยู่ระหว่างการเตรียมเปิดให้นักลงทุนเข้ามาเช่าพื้นที่ต่อ เพื่อจัดตั้งนิคมตามเป้าหมาย หลังจากที่กรมธนารักษ์เตรียมส่งมอบพื้นที่ให้ และจะเริ่มก่อสร้างในปี 2564

9 เขตเพิ่งเริ่มตั้งไข่ใหม่

ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานความคืบหน้าของ SEZ แต่ละพื้นที่ ประกอบไปด้วย 1) เขต SEZ จ.สระแก้ว กนอ.ได้ก่อสร้างนิคมเสร็จแล้ว ทั้งระยะที่ 1 และ 2สามารถเปิดรับการลงทุน โดยโรงงานทยอยเปิดดำเนินการแล้ว ด้านกรมศุลกากรอยู่ระหว่างก่อสร้างด่านศุลกากรอรัญประเทศแห่งใหม่ (บ.ป่าไร่) จะแล้วเสร็จปี 2562 2) เขต SEZ จ. ตาก ได้กำหนดพื้นที่พัฒนามี 2 ส่วน โดยส่วนที่ 1 กรมธนารักษ์จะให้ กนอ.เช่าซึ่งออกแบบนิคมเสร็จแล้ว คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างช่วงปลายปี 2563-2564

3) เขต SEZ สงขลา เตรียมเปิดให้เอกชนเช่า และสรรหานักลงทุน โดยส่วนแรก กนอ.เช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ เมื่อปี 2560 และอยู่ระหว่างก่อสร้างนิคม โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน ม.ค. 2564 ส่วนที่ 2 อยู่ระหว่างแก้ไขปัญหาการบุกรุกของราษฎรในพื้นที่ ซึ่งกรมธนารักษ์จะจัดให้ กนอ.เช่าต่อไป ส่วนที่ 3 อบจ.สงขลา เช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ ปัจจุบันปรับพื้นที่เพื่อก่อสร้างศูนย์คมนาคมขนส่งแล้ว และเริ่มกระบวนการศึกษารูปแบบการลงทุน ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในปี 2563 คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2565

4) เขต SEZ ที่ จ.มุกดาหาร กับ 5) เขต SEZ จ.หนองคาย เตรียมเปิดประมูลให้เอกชนลงทุน และให้กรมธนารักษ์ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการลงทุนต่อไป 6) เขต SEZ ที่ จ.ตราด บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) เช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ เมื่อปี 2559 โดยในระยะแรก บริษัทจะก่อสร้างตลาดการค้าชายแดน และระยะต่อไปจะพัฒนาเป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวนานาชาติ และบริการการค้าระหว่างประเทศครบวงจร

7) เขต SEZ จ.นครพนม บริษัท เจซีเค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์เมื่อเดือน ก.ค. 2562 เพื่อพัฒนาส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม พาณิชยกรรมศูนย์กระจายสินค้า SMEs OTOP และอุตสาหกรรมทั่วไป

8) เขต SEZ จ.กาญจนบุรี บริษัท พร้อมเพรียงชัยก่อสร้าง จำกัด เช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ เมื่อปี 2561 เพื่อพัฒนาโครงการลงทุนด้านอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และโลจิสติกส์ 9) เขต SEZ จ.นราธิวาส ทาง ศอ.บต.นราธิวาส และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างจัดเตรียมข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดซื้อที่ดิน

และ 10) เขต SEZ จ.เชียงราย คณะอนุกรรมการด้านการจัดหาที่ดินและบริหารจัดการ ให้ยกเลิกการจัดหาที่ดินของรัฐเพื่อใช้เป็นพื้นที่พัฒนา โดยเห็นควรให้ส่งเสริม/สนับสนุนตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และมาตรการทางผังเมืองแทนการจัดหาที่ดิน