“เศรษฐกิจฟื้น พลังงานฟุบ” โจทย์ที่ต้องการคำตอบ

ในหลักสูตรของสถาบันวิทยาการพลังงาน (วพน.) ซึ่งขณะนี้อบรมถึงรุ่นที่ 10 ได้จัดเสวนาเรื่อง “เศรษฐกิจฟื้น พลังงานฟุบ” ที่ชั้น 6 ศูนย์เอ็นเนอยี่ คอมเพล็กซ์ ถ.วิภาวดีรังสิต โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และ นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต โดยมีพลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงาน

พลเอกอนันตพรกล่าวเปิดงานว่าเรื่องของไฟฟ้ามีพลังงานทดแทนเข้ามา ต้องเริ่มวิเคราะห์อย่างจริงจัง และต้องปรับตัว ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ปตท.รวมทั้งภาคเอกชนที่มีส่วนร่วมด้วย ยกตัวอย่างการเปิดให้ขายไฟฟ้า ไม่ว่าชีวมวล โซลาร์ หรือ สตอเรจ (Storage) กฟพ.เราเปิดให้ขาย 300 เม็กกะวัตต์ ตามเงื่อนไขราคา 3.66 บาท จากทั้งหมดที่ยื่นขอมา 4,000 เมกกะวัตต์ เปิดแค่ 300 ทำให้บ่นกันน่าดู แต่ว่าน่าสนใจอย่างหนึ่งคือเป็นการปรับตัวทางด้านพลังงานมีแน่นอน ซึ่งจะต้องมีเรื่องของความมีเสถียรภาพ การค้าที่เหมาะสมไม่ทำให้ค่าไฟเพิ่มขึ้น และเรื่องของความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม ด้วย

ตามแผนของกระทรวงพลังงาน โรงไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นใหม่ จะมีทั้งการก่อสร้างทดแทน และสร้างใหม่ตามปริมาณไฟฟ้าที่ต้องการใช้ตามแผนพีดีพี ขณะเดียวกันมีแผนอยู่แล้วว่าจะต้องมีไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 20% ในปี 2075 นี่คือไฟฟ้าในระบบของ กฟผ. แต่ไฟฟ้าที่อยู่นอกระบบ ที่สร้างเองใช้เอง ไม่ว่าจะเป็นในอาคารขนาดใหญ่ แม้กระทั่งในบ้านเรือนจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้การใช้ไฟของประชาชนจาก กฟผ.น้อยลง เพราะฉะนั้นจะมีผลกับค่าไฟฟ้าทำให้ราคาลดลงในอนาคต นี่คือปัญหาของ กฟผ. อย่างไรก็ตาม การผลิตไฟฟ้าใช้เองทำเองยังไม่น่ากลัวเท่าไหร่นัก พราะปริมาณยังไม่มาก ประมาณ 2-3% ในขณะนี้ ซึ่งถ้าถึง 10% เมื่อไหร่ น่าจะมีปัญหา คือมีนัยสำคัญต่อการจ่ายค่าไฟของคนกลุ่มใหญ่ จึงจะต้องมีการเตรียมการไว้ก่อน

สำหรับปิโตรเลียม ปัญหาคือการเปิดสัมปทานรอบใหม่ แหล่งเอราวัณและบงกช ขณะนี้กระทรวงพลังงานสามารถเดินหน้าตามแผน นำประกาศกฎกระทรวงเข้าสู่ ครม.เรียบร้อยแล้ว เหลือแค่รอกฤษฏีกาตรวจสอบ เมื่อตรวจสอบและส่งกลับคืนมาแล้วก็จะทำทีโออาร์ ให้ผู้สนใจเข้ามายื่นคาดว่าขั้นตอนนี้เดือนตุลาคม 2560 น่าจะเสร็จ จากนั้นเข้า ครม. และประกาศเป็นกฎกระทรวง จากนั้นในเดือนพฤศจิกายน 2560 น่าจะได้ผู้เข้ามาทำ ก็ขอให้ผู้ที่สนใจใครก็ได้เข้ามาดู จะเป็นรายเก่ารายใหม่ก็ได้ เท่าที่ทราบมีมากกว่า 1-2 รายแล้ว

“ตอนนี้ปัญหาเราคือต้องเตรียมการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี เรื่องปิโตรเลียมไม่ได้นิ่งนอนใจ เดินหน้าตามแผน ยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของเรายังคงเหมือนเดิมในเรื่องความมั่นคง เพื่อให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขัน และอยากมีส่วร่วมในการเพิ่มจีดีพีของประเทศ” นายอนันตพรกล่าว

จากนั้นนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ กล่าวเสวนาเป็นคนแรก ว่าเศรษฐกิจฟื้นหรือไม่ อย่าเอาความรู้สึกมาวัด แต่ต้องดูตัวเลข ซึ่งได้เปรียบเทียบเศรษฐกิจของประเทศไทยเหมือนเครื่องบิน แต่มีเครื่องยนต์ที่บิดเบี้ยว อยากให้ดูข้อมูลสามปีที่ผ่านมา เริ่มปี 2557 เศรษฐกิจไทยขยายตัวบินพ้นจากน้ำ 0.9% ต่อมา ปี 2558 ขยับขึ้นมาเป็น 2.9% ส่วนปี 2559 เป็น 3.3% และครึ่งแรกของปี 2560 คือ 3.5% ไตรมาสล่าสุด ขยายตัว 3.7% จะเห็นว่าเครื่องบินขยับบินขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นตัวเลขบอกว่าเศรษฐกิจฟื้นขึ้น แต่คำถามคือ “ทำไมคนไม่รู้สึกว่าฟื้น และฟื้นมาจากไหน”

นายเอกนิติอธิบาย ว่าโครงสร้างเศรษฐกิจทั่วโลก มีเครื่องยนต์ดันอยู่ 4 ตัว ได้แก่ การส่งออก(E-Export) การบริโภคภายในประเทศ(C-Consumption) การลงทุนภาคเอกชน(I-Investment) และ การลงทุนภาครัฐ(G-Goverment) ถ้า 4 ตัวนี้ทำงานได้ดีเศรษฐกิจก็บินได้สูง ในปี 2557 มีทั้งวิกฤติเศรษฐกิจในอเมริกา วิกฤติเศรษฐกิจในจีน ยุโรป ซึ่งเป็นคู่ค้าไทยทั้งนั้น ทำให้ส่งออกไทยโตแค่ 0.2% ขณะเดียวกันการบริโภคโตแค่ 9% เป็นเพราะคนระดับล่างคือเกษตรกรซึ่งเป็นคนจำนวนมาก กำลังซื้อหดหายไปเลย เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรลดลง คนระดับกลางมนุษย์เงินเดือนโดนกำกับคือหนี้สูง ทั้งหนี้ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน หนี้ครัวเรือน คนระดับบนมีเงินแต่ไม่ใช้ เลยโตแค่ 0.9% ภาครัฐเองตอนนั้นเป็นรัฐบาลรักษาการ อนุมัติงบประมาณมากๆไม่ได้ ก็ติดลบเข้าไปอีก

ต่อมาปี 2559 มีรัฐบาลเข้ามา ทำให้อเมริกาซื้อของได้มากขึ้น แต่ก็มีตัว G ตัวเดียว ตัวอื่นๆแย่หมด รัฐจึงเลือก 2 ทางคือขึ้นเงินเดือนข้าราชการให้มีกำลังซื้อและเร่งลงทุนภาครัฐ เกิดเป็นเช็คช่วยชาติ แต่ไม่ยั่งยืน ตัวเลขล่าสุด 3.7% ประเทศไทยวันนี้ที่ฟื้นขึ้นมาได้มีอยู่ 2 ตัว คือ G เป็นตัวนำ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ ตัว E ส่งออกฟื้นขึ้นมานิดหน่อยเพราะมีการท่องเที่ยวข้ามาช่วย ดังนั้น การกระตุ้นการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลในระยะยาว ดังนั้น จึงต้องใจเย็นๆ

“มาถึงคำถามว่าทำไมคนไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้น ประเด็นคือเพราะตอนนี้การฟื้นตัวส่งออกที่โตขึ้น โตมาจากเศรษฐกิจจีนดีขึ้น ยุโรปดีขึ้น คนที่ได้ประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่และใช้แรงงานไม่มาก ในอดีตการส่งออกเราผูกกับแรงงาน แต่เวลานี้เริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีใช้เครื่องยนต์แทนแรงงานมากขึ้น จึงทำให้ผลบวกจากการส่งออกที่โตขึ้นลงมาสู่คนระดับล่างและระดับกลาง โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนน้อยลง นอกจากนั้นแล้ว เราส่งออกได้มากก็จริงแต่ต้องนำเข้ามาผลิตมาประกอบแล้วส่งออกไป ทำให้เกิดผลกระทบไม่มาก และส่วนใหญ่ธุรกิจไทยเป็นเอสเอ็มอี รอบนี้เอสเอ็มอีถูกกระทบเพราะไม่ได้เชื่อมโยงส่งออกเท่าไหร่นัก ส่วนใหญ่ขายในประเทศ ยิ่งค่าเงินบาทแข็งเลยโดนสองเด้ง เงินจึงไม่ลงไปในระดับไมโครมากนัก นอกจากนี้ เศรษฐกิจขณะนี้ รัฐบาลพยายามดันการลงทุนภาครัญ แต่เนื่องจากการจ่ายเงินภาครัฐจ่ายเป็นงวดๆ จึงไม่ส่งผลอะไร อย่างไรก็ตามแต่ก็ได้ความมั่นใจตามมา ส่วนการลงทุนของภาครัฐเอกชนกว่าจะขับเคลื่อนได้ยากเย็น มันไม่ได้เกิดขึ้นเร็ว ต้องใช้เวลา นี่คือเหตุผล”

นายเอกนิติ กล่าวสรุปว่าในภาพใหญ่คิดว่าการฟื้นตัวรอบนี้เศรษฐกิจฟื้นจริง และเริ่มเห็นชัด แต่ไม่ได้กระจาย ซึ่งกว่าจะลงไปถึงคนแรงงานต้องใช้เวลานาน ในระยะยาวต้องทำอีกมาก โดยเฉพาะแรงงาน 31 ล้านคนในภาคเกษตร ต้องขยับเป็นแรงงานที่มีทักษะฝีมือ นี่เป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้เศรษฐกิจส่งผลไปถึงประชาชนช้าลง
ต่อมานายเจน นำชัยศิริ กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยตอนนี้แข็งนอกอ่อนใน คือเราส่งออกได้ดี พอตลาดต่างประเทศฟื้นเราก็ได้ประโยชน์ ตัวชี้วัดที่ดีคือตลาดรอบบ้านเรา แต่ต้องพยายามทำให้สินค้าเกษตรบ้านเรามีทางไป มีตลาด การเชื่อมโยงสินค้าเกษตรกับอุตสาหกรรมจะเป็นทางออกที่ทำให้เกษตรกรคนกลุ่มใหญ่ของประเทศมีทางเลือก ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วโครงสร้างเศรษฐกิจเราจะสมดุลมากขึ้น และเป็นไปตามเป้าในอีก 20 ข้างหน้าที่จะให้คนไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง อย่างไรก็ดี การจะพ้นจากกับดักไปให้ได้ มีความเสี่ยง เช่น รายได้ต่อหัวต้องมีรายได้ 12,500 เหรียญขึ้นไป ปัจจุบันเราอยู่ประมาณ 5,700-5,800 เหรียญ เพราะฉะนั้นต้องโตขึ้นอีก 2 เท่าเศษๆ หรือปีละ 6-7% เพราะฉะนั้นจะโตอย่างปัจจุบันไม่ได้ ต้องวางแผนใหม่ อาจต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์

ส่วน ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร กล่าวว่าตัวเลขพลังงานเป็นมุมกลับกับเรื่องจีดีพี คือโตน้อยกว่าจีดีพี คือ ปี 2559 และ 2560 ตัวเลขแทบไม่แตกต่างกันเลย ประมาณ 0.1% ไม่มีโกรว์ธ(Growth) แต่คำถามคือจริงๆแล้วเราใช้ไฟฟ้าน้อยลงจริงหรือ ไม่ ซึ่งคำตอบ คือ เรายังใช้ไฟฟ้าเท่าเดิม แต่ที่รู้สึกว่าพลังงานฟุบ เป็นเพราะมาจากราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันโตแค่บางตัว และมาจากการเปลี่ยนไปใช้พลังงานอย่างอื่นแทน สิ่งที่ยังไม่รู้ว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นอย่างไร คือการเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้ามากน้อยแค่ไหน ซึ่งตัวเลขปัจจุบันรถไฟฟ้ายังมีหลักสิบคันในประเทศไทย ปั๊มชาร์ตที่ส่งเสริมมีจำนวนมากกว่ารถเสียอีก นอกจากนี้ถ้ารัฐบาลสามารถลงทุนโครงการได้จริงตามแผนที่ปรากฏในปัจจุบัน คือโครงการระบบรางทั้งความเร็วสูง หรือรางคู่ จะมีผลในการใช้พลังงานภาคขนส่งพอสมควร อีกประเด็นคือมีระบบผลิตไฟฟ้าเองใช้เองมากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดว่าผลิตได้เท่าไหร่ ใช้เท่าไหร่

ดร.ทวารัฐ กล่าวอีกว่าไม่ว่าเศรษฐกิจฟื้นหรือไม่ แต่พลังงานจะฟื้นอย่างยั่งยืน คือการปฏิรูปหรือปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน หัวใจคือปรับบทบาท แยกนโยบายสำหรับกระทรวงพลังงานกับบทบาท 3 การไฟฟ้า ปตท. และบริษัทพลังงานอื่นทั้งหลาย อีกส่วนต้องปรับเทคโนโลยี และสุดท้ายคือปรับเพื่อการแข่งขันตามรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันกิจการเชื้อเพลิงแข่งขันเต็มรูปแบบในการผลิต ต่อไปอาจแข่งขันในการจำหน่าย ซึ่งเห็นว่าในห้วงเวลาปีนี้ถึงปีหน้า น่าจะปรับเพื่อให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น

นายนินนาท ไชยธีภิญโญ กล่าวว่าสถานการณ์รถยนต์ ราคารถยนต์มือสองดีขึ้นเยอะมากหลังปั่นป่วนมาสองปี ปกติการขายรถยนต์จะเพิ่มตามจีดีพี อาจจะคูณสองด้วยซ้ำ คือสูงกว่าจีดีพี ส่วนการส่งออกนั้น เนื่องจากกำลังซื้อของกลุ่มประเทศตะวันออกกลางลดลง เราต้องพยายามขวนขวายหาตลาดใหม่แทน เพราะฉะนั้นยอดส่งออกรถยนต์ปีนี้น่าจะต่ำกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย ยอดผลิตรถยนต์ประเทศไทยก็น่าจะเหลือสัก 1.9 ล้านคัน แต่ปีหน้าสดใสแน่นอน กราฟของเนชั่นแนลเอ็นเนอยีชี้ว่า ฟองสบู่แตกในปี 1997 พอปี 1998 การใช้พลังงานของทุกภาคลดลง แต่แค่ปีเดียว พอปีรุ่งขึ้นกลับมาเท่าเดิม ชี้ให้เห็นว่าพลังงานเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันและภาคอุตสาหกรรม สมมุติเรายังใช้พลังงานไม่บันยะบันยัง น่าตกใจ น่ากลัว เราจะต้องประหยัดและปรับตัวเพื่อรองรับกับพลังงานทางเลือกใหม่ๆ ยังใช้พลังงานเดิมๆไม่ได้ จึงเป็นแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ในอนาคต ว่าในปี 2050 ประมาณ 90% จะเปลี่ยนเป็นรถที่ใช้พลังงานสะอาด ไม่ว่าไฮบริด อีวี หรือปลั๊กอิน หรือรถไฮโดรเยน ในปี 2030 จะเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี กล่าวเป็นคนสุดท้ายว่ากำลังผลิตไฟฟ้าสำรองเกินอยู่ตอนนี้ 30% อย่างไรก็ตามต้องดูเป็นภาคๆไป ซึ่งไฟฟ้าในภาคใต้ยังไม่พอต่อความต้องการ ภาคใต้มีความต้องการมากกว่าภาคอื่น เฉลี่ย 15% ขณะที่ภาคอื่นต้องการ 3-4% ที่ทำได้คือสายส่งจากภาคกลางไปใต้ มีแผนขยายสายส่ง 500 KV ลงไปที่ อ.หาดใหญ่ และ จ.สงขลา จะทำให้สามารถส่งไฟจากภาคกลางลงไปภาคใต้ได้มากขึ้น ปัจจุบันส่งได้ประมาณ 600 เมกะวัตต์เต็มที่ แผนที่สองคือ กระทรวงพลังงานมอบหมายให้ไปดูทางเลือกอื่น คือไปเจรจากับแหล่งเจดีเอ นำก๊าซมาใช้ที่โรงไฟฟ้าในภาคใต้ อาจเป็นโรงไฟฟ้าจะนะ โรงที่ 3 กำลังผลิตประมาณ 800 เมกะวัตต์ ถามว่าไทยมีไฟฟ้าใช้เพียงพอหรือไม่ คำตอบคือมีพอใช้ แต่ความเสี่ยงเรื่องความสมดุลยังต้องดู

“กฟผ.มีแผนจะลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เป็นแผนอยู่ในพีดีพี ต้องการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานไฟฟ้าเป็น 23% ในปี 2579 แต่สิ่งที่ กฟผ.กำลังทำคือโรงไฟฟ้าชีวมวลใช้ชื่อว่า โรงไฟฟ้ารัฐวิสาหกิจ ลงนามเอ็มโอยูกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และร่วมกับโรงงานอุตสาหกรรมผลักดัน พรบ.ปลูกป่า ให้ปลูกไม้เป็นเชื้อเพลิงส่งโรงไฟฟ้า โดยจะใช้โมเดล กฟผ.ถือหุ้นส่วนใหญ่และให้ชาวบ้านในรูปของสหกรณ์การเกษตร หรือวิสาหกิจชุมชนเข้ามาถือหุ้นด้วย 10.20 % แล้วแต่ความสามารถของเกษตรกร ซึ่งจะทำให้มีรายได้สองทาง ทางแรกคือปลูกไม้โตเร็วมาขายเป็นเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้า และเมื่อขายไฟได้มีกำไรก็จะได้ปันผลตามสัดส่วนที่มาร่วมผลิต เป็นโมเดลตอบโจทย์ของรัฐบาลที่ต้องการเสริมส่งเกษตรกรให้เศรษฐฐานะที่ดีขึ้น” นายสหรัฐกล่าวในที่สุด