กระทรวงเกษตรฯลุยสร้างแก้มลิง-เจาะบาดาลแก้ภัยแล้งทั่วประเทศ

แฟ้มภาพ

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงนโยบายเร่งด่วนที่จะบริหารจัดการในปี 2563 โดยเฉพาะในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ว่า จะบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ เพื่อลดภาวะวิกฤติและความเดือดร้อนของประชาชนให้บรรเทาลง จากปีนี้เกิดภาวะภัยแล้งค่อนข้างหนัก โดยจะก่อสร้างแหล่งเก็บกักน้ำทั่วประเทศทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ การเพิ่มพื้นที่เก็บกักด้วยแก้มลิง 2 ข้างลำน้ำต่างๆในพื้นที่เหมาะสม ไม่ให้น้ำไหลทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งกรมชลประทานจะหาพื้นที่ที่เหมาะสม พร้อมกับจะร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำน้ำใต้ดินมาช่วยประชาชนไม่ให้ขาดแคลนในการอุปโภคบริโภคอย่างเด็ดขาด การช่วยเหลือด้านน้ำกับกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ทั่วประเทศ การผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองเพิ่มจากปีละ 800 ล้าน ลบ.ม. มาลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็น 2,000 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี เพื่ออนุรักษ์ระบบนิเวศน์และไล่น้ำเค็มไม่ให้กระทบต่อการผลิตน้ำประปา

ด้าน ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และกลางทั่วประเทศว่า ณ วันที่ 2 ม.ค.2563 มีปริมาณน้ำในอ่างรวมกัน 46,906 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 62 ของความจุเก็บกักรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 23,070 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เปรียบเทียบกับปี 2558 มีน้ำใช้การได้เพียง 16,410 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 35 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อป่าสักชลสิทธิ์)มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,987 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 44 ของความจุอ่างรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 4,291 ล้านลบ.ม. เทียบกับปี 2558 มีน้ำใช้การได้รวมกัน 3,930 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 22 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน

สำหรับผลการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 กรมชลประทานได้มีการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 17,620 ล้านลบ.ม. น้อยกว่าปีที่แล้วประมาณ 7,000 ล้านลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำจัดสรรทั้งสิ้น 4,000 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปีที่แล้ว 3,700 ล้านลบ.ม. ผลการจัดสรรน้ำทั่วประเทศ ณ วันที่ 2 ม.ค.63 มีการใช้น้ำตามแผนไปแล้วประมาณ 5,558 ล้านลบ.ม.หรือร้อยละ 31 ของแผนจัดสรรน้ำ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำตามแผนไปแล้วประมาณ 1,707 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 43 ของแผนจัดสรรน้ำ

ส่วนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2562/63 ได้วางแผนเพาะปลูกพืชทั้งประเทศ รวม 2.83 ล้านไร่ แยกเป็นข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.52 ล้านไร่ ปัจจุบัน ณ.วันที่ 25 ธ.ค.62 ได้ทำการเพาะปลูกทั้งประเทศ 2.33 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 82 แยกเป็นข้าวนาปรัง 2.21 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.12 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกพืช เนื่องจากน้ำต้นทุนมีน้อยไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนด้านเกษตร แต่จากการสำรวจพบว่าบางพื้นที่เพาะปลูกพืชนอกแผนคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 1.54 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองเพาะปลูก

“นอกจากนี้ยังพบว่า มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำนอกเขตการให้บริการของการประปาส่วนภูมิภาคอยู่ 43 จังหวัด ประกอบกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ป.ภ.)ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งในเขต 13 จังหวัดได้แก่ เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ นครราชสีมา กาญจนบุรี ฉะเชิงเทราและอุทัยธานี กรมได้เตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำและเครื่องจักรกลอื่นๆตามสำนักงานชลประทานทั่วประเทศ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำใช้สำหรับอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้งอย่างเพียงพอ ทั้งนี้กรมต้องดำเนินการบริหารจัดการน้ำตามแผนที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดเสถียรภาพและความมั่นคงด้านน้ำ จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนใช้น้ำตามแผนอย่างประหยัดและคุ้มค่ามากที่สุด” อธิบดีกรมชลประทานกล่าว