“เฉลิมชัย” ชู7นโยบายหลักลุยแก้แล้ง-ประกันรายได้

“เฉลิมชัย” เดินหน้านโนบาย “ประกันรายได้” พืชเศรษฐกิจต่อเนื่องมั่นใจช่วยยกระดับราคา พร้อมชู 7 นโยบายหลักปี 2563 หวังดันรายได้เกษตรกร ส่วน “โครงการหมอนยางประชารัฐ 30 ล้านใบ” รอไปก่อนยังไม่ได้หารือ

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า นโยบายหลักปีนี้ มี 7 นโยบายในการช่วยยกระดับรายได้เกษตรกร โดยเรื่องเร่งด่วนคือการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และมุ่งเน้นมาตรการประกันราคาสินค้าเกษตร เพราะจากประสิทธิภาพโครงการดังกล่าวทำให้สามารถยกระดับราคายางจาก กก.ละ 38 บาท เป็น 43 บาทในปัจจุบัน นอกจากนี้ ราคาปาล์มน้ำมันได้รับผลดีจากนโยบายดูดซับปาล์มน้ำมัน ทำให้ราคาขึ้น กก.ละ 6 บาท

โดยในสัปดาห์หน้า (วันที่ 8-9 ม.ค. 63) จะมีการพิจารณางบประมาณปี 2563 ตามนโยบายการผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐใช้ยางพารา หากผ่านกระบวนการเรียบร้อยจะสามารถผลักดันการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น 100% แน่นอน ทั้งยังมีแผนการขายตรงกับต่างประเทศซึ่งจะช่วยระบายสินค้า จากทั้งในส่วนของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กลุ่มสหกรณ์มีการผลิตเพื่อส่งออกขายตลาดต่างประเทศ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เดินทางไปโรดโชว์ขายยางต่างประเทศ อาทิ ขายหมอนยางพาราให้ตุรกีได้ 20 ล้านใบ ถือเป็นการแปรรูปสินค้าเพิ่มมูลค่า ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่กระทรวงจะขับเคลื่อนในปี 2563 เชื่อมั่นว่าจะช่วยยกระดับราคายางพาราในประเทศให้ขยับขึ้น

“ท่านนายกฯกำชับทุกหน่วยงานรัฐ ให้มาช่วยดูแลผลผลิตของคนไทย ไม่ใช่แค่เรื่องยางเท่านั้น ซึ่งกระทรวงเกษตรฯทำเอ็มโอยูกับหน่วยงานต่าง ๆ ให้เพิ่มใช้ยางในประเทศเพิ่ม 100% ซึ่งต้องรอการพิจารณางบประมาณปี 63 หากผ่านแล้วจะสามารถดำเนินการได้ทันที”

ส่วนโครงการหมอนยางประชารัฐ ตามแนวทาง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังไม่มีการหารือในรายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไร หากจะขับเคลื่อนนโยบายนี้จริง ต้องมีการตรวจสอบอย่างโปร่งใสเพื่อไม่ให้เกิดการทุจริต และเน้นย้ำว่าโครงการนี้จะไม่เกี่ยวกับการใช้ยางในประเทศ

ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มผลิตหมอนยางพาราประชารัฐ 30 ล้านใบ งบประมาณ 18,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง 65 บาท/กิโลกรัม (กก.) รวมรับซื้อยางพาราทั้งหมด 150,000 ตัน จากนั้นจะมอบให้ประชาชนเดือนละ 3 ล้านใบเป็นเวลา 10 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 ก.พ.-30 พ.ย. 2563 และจะแจกจ่ายให้กับหน่วยงานรัฐ อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอความต้องการหมอนยางพารามาทั้งหมด 433,702 ใบ

สำหรับนโยบาย 7 ด้านหลัก ประกอบด้วย 1.การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ โดยจะต้องลดวิกฤตให้กับประชาชน ด้วยการเพิ่มแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก มอบให้กรมชลประทานสำรวจพื้นที่ที่คาดว่าจะสามารถสร้างเป็นแหล่งกักเก็บน้ำได้ โดยจะเน้นในส่วนของแก้มลิง ในบริเวณลุ่มน้ำต่าง ๆ ที่ได้มีการทำแผนที่สำรวจเอาไว้แล้ว จะมีการเพิ่มคุณภาพและปริมาณการผันน้ำ จากลุ่มน้ำตะวันตกมาช่วยเหลือในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะมีการเพิ่มกำลังในการส่งน้ำจาก 800 ล้าน ลบ.ม./ปี เป็น 2,000 ล้าน ลบ.ม./ปี เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร และรักษาสมดุลระบบนิเวศ ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา

2.การส่งเสริมสินค้าเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ จะมีการนำศาสตร์พระราชาและเกษตรทฤษฎีใหม่ เข้ามาเป็นนโยบายที่จะขับเคลื่อนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมีมาตรการในการ “ลด ละ เลิก” การใช้สารเคมี การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรมาทดแทนเรื่องแรงงาน 3.การใช้ระบบการตลาดนำการผลิต ได้มีมาตรการในการหาตลาดใหม่ทั้งในและต่างประเทศ เป็นการเพิ่มช่องทางในการขายให้กับผู้ผลิตสินค้าเกษตรแบบออนไลน์ อาทิ การร่วมมือกับ LAZADA Thailand ในการจัดอบรม การเข้าสู่ตลาดออนไลน์ การขายสินค้าเกษตรโดยตรง รวมถึงการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว และจะ kick off โครงการในเดือนมกราคม 2563

4.การลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพการผลิต ได้มีการตั้งคณะกรรมการการปรับปรุงปุ๋ย การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ของดิน หรือปุ๋ยสั่งตัด โดยมีเป้าหมายในการดำเนินการคือการลดต้นทุนในส่วนของค่าปุ๋ยลง 30%

5.การบริหารจัดการประมงอย่างยั่งยืน ทั้งประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน สำหรับประมงพื้นบ้านได้มีการขึ้นทะเบียน ซึ่งขณะนี้มีการขึ้นทะเบียนแล้วประมาณ 50,000 กว่าลำ ส่วนประมงพาณิชย์จะเร่งส่งเสริมให้รักษาสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เพื่อให้สามารถทำประมงได้ตลอดทั้งปี

6.การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เกษตรกร กระทรวงเกษตรฯ มีมาตรการที่จะส่งเสริมรายได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องเกษตรกร ทั้งการจ้างงานของกรมชลประทาน ซึ่งขณะนี้ได้มีการตั้งงบประมาณไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ในขณะที่ไม่สามารถทำการเกษตรตามปกติได้ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์ที่มีความต้องการของตลาด ได้แก่ โค กระบือ แพะ และการแจกที่ดินทำกิน (ส.ป.ก.) ให้แก่เกษตรกรด้วย

และสุดท้าย คือ 7.การตั้งศูนย์เทคโนโลยีทางการเกษตร (Agri-technology and innovation center: AIC) โดยจะมีการตั้งศูนย์ AIC ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ และการจัดทำข้อมูลสารสนเทศด้านการเกษตร (big data) เป็นการเชื่อมโยงกับ 10 หน่วยงานหลัก