“สมคิด” บี้ EEC ผุด Smart City ตั้งแปดริ้วเป็นเมืองการเงิน เร่งโครงสร้างพื้นฐานให้เสร็จQ1

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการประชุม มอบนโยบายแนวทางการดำเนินงาน อีอีซี 2563 ว่า จะเร่งให้ได้ผู้ชนะการประมูลโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายในไตรมาส 1 และลงนามในสัญญาให้จบภายให้ไตรมาส 3 และมีการลงทุนในไตรมาส 4 มูลค่า 650,000 ล้านบาทภายใน 5 ปี (2562-2566)

สำหรับแผนในปี 2563 นี้ จะเน้นเรื่องการขยายการลงทุนสู่พื้นที่และชุมชน เพื่อสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนในพื้นที่อีอีซี ขณะเดียวกันจะต้องเคลียร์โครงการเก่าที่ยังคั่งค้างให้เเล้วเสร็จ ทั้งโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน และสนามบินอู่ตะเภาเมืองการบินภาคตะวันออก ที่อยู่ระหว่างรอคำสั่งศาลตัดสินถึงการเดินหน้าต่อในการพิจารณาการประมูล

และส่วนสำคัญคือการ เริ่มสู่การลงมือเดินสร้างเมืองใหม่อัจฉริยะ (Smart City) ซึ่ง เตรียมตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อที่จะได้กำหนดกรอบการทำงาน (TOR) กำหนดคอนเซ็ปของเมือง พื้นที่ องค์ประกอบต่างๆ เช่น การกำหนดให้เป็นศูนย์กลางด้านการเงิน มีพื้นที่ที่อยู่อาศัยที่ Smart ซึ่งจะต้องใช้พื้นที่เท่าไรและต้องทำการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) หรือไม่ หากอยู่ในกฎหมายก็ต้องทำ ทั้งหมดกรอบคอนเซ็ป โดยกรอบการทำงานจะต้องเสร็จภายในไตรมาส 1 เพื่อที่จะเริ่มเปิดการประมูลในไตรมาส 3-4

โดยสั่งให้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ปรับมาตรการ Smart City เพื่อให้จูงใจนักลงทุนอีกและให้เตรียมการที่จะเดินทางไปโรดโชว์ต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่แสดงความสนใจไทย ทั้งฮ่องกง ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเร่งการเดินทางให้เร็วที่สุดจากเดิมที่กำหนดไว้เดือน ก.พ. รวมถึงไต้หวันที่อาจจะดึงให้เข้ามาดูพื้นที่จริงของอีอีซี

“โจทย์ใหญ่ตอนนี้คือเราไม่ได้อยากให้แค่รายใหญ่ลงทุน แต่เราต้องช่วยให้ฐานรากเขาได้ประโยชน์ด้วย รายใหญ่ต้องพัฒนาพื้นที่ อย่าง ปตท. แผนงานงบด้าน CSR ถ้าเอามาบรรจุในยุทธศาสตร์ก็ต้องให้สิทธิประโยชน์ ดังนั้นแพคเกจที่บีโอไอจะต้องปรับตีโจทย์ให้แตก และทำยังไงให้บริษัทที่เป็นประเภทเกษตร อาหารลงทุนแล้วได้แพคเกจจูงใจดีที่สุด เหมือนกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์”

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ เลขาฯ EEC) กล่าวว่า สำหรับยอดการลงทุนจริงในอีอีซี ของปี 2562 ที่ผ่านมา 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายและอุตสาหกรรมบริการดิจิทัล มีมูลค่าการลงทุนทั้งหมด 404,982 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม 323,506 ล้านบาท (ข้อมูลจาก การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) นอกนิคมฯ 68,134 ล้านบาท (ข้อมูลจาก กรมโรงงานอุตสาหกรรม) และการลงทุนจริงจากการออกบัตรส่งเสริมของบีโอไอ 125,548 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามอีอีซีได้เดินหน้ามาถึงระยะที่ 4 แล้ว จากที่เริ่มตั้งแต่การทำกฎหมาย โครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนภาคอุตสาหกรรม และได้เข้าสู่การสร้างเมืองใหม่ โดยต่อจากนี้จะเร่งโครงการที่เหลือหลักๆ อีก 3 โครงการให้เสร็จภายในไตรมาส 3