ไทยยังไม่ปลอดแร่ใยหิน สมัชชาขยับเส้นตายปี’65

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานความคืบหน้ามาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 12 ที่ประชุมได้ “ทบทวน” มติสมัชชาฯที่เกี่ยวกับแร่ใยหินตั้งแต่เดือนเมษายน 2554 หลัง ครม.ในขณะนั้นมีมติให้ความเห็นชอบให้ดำเนินการตามมติสมัชชาฯให้สังคมไทยปลอดจากแร่ใยหิน แต่จนกระทั่งถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินได้ โดยการดำเนินการล่าสุดได้มีการประกาศที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน 2 ฉบับ

1) คณะกรรมการว่าด้วยฉลากฉบับที่ 29(2553) เรื่องให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก (ฉบับที่ 2) ระบุให้มีคำเตือน “ระวังอันตราย ผลิตภัณฑ์นี้มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ การได้รับสารนี้เข้าสู่ร่างกายอาจก่อให้เกิดมะเร็งและโรคปอด”

2) ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2560 เรื่องขีดจำกัดความเข้มข้นของสารเคมีอันตรายสำหรับแอสเบสทอสชนิดไครโซไทล์ไม่ให้เกิน 0.1 ไฟเบอร์/ลูกบาศก์เซนติเมตรเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 12 มีความเห็นว่า แม้กระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพเรื่องแร่ใยหินแล้วก็ตาม แต่ยังขาดการกำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนในการดำเนินการเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ดังนั้นในการประชุมสมัชชาฯครั้งที่ 12 จึงได้มีมติขอให้

1) กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งรัดในการดำเนินการให้ “ยกเลิก” การใช้แร่ใยหินชนิดไครโซไทล์เป็นวัตถุดิบในการผลิตทั้งหมดภายในปี 2565 เนื่องจากในขณะนี้มีผลิตภัณฑ์/วัสดุอื่นสามารถทดแทนแร่ใยหินชนิดไครโซไทล์ได้แล้วในสินค้ากระเบื้องแผ่นเรียบ-กระเบื้องยางปูพื้น กับให้ “ยกเลิก” การใช้แร่ใยหินชนิดไครโซไทล์เป็นวัตถุดิบในการผลิตทั้งหมดภายในปี 2568 สำหรับสินค้าผ้าเบรกและคลัตช์-ท่อซีเมนต์ใยหิน-กระเบื้องมุงหลังคา

2) กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางและมาตรการในการ “ลด-ละ-เลิก” การนำเข้าแร่ใยหิน

3) ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการให้มีแนวทางในการจัดการขยะอันตรายที่อาจมีแร่ใยหิน

4) ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนา “คู่มือ” การควบคุมการรื้อถอนซ่อมแซมต่อเติมอาคารที่มีการใช้วัสดุแร่ใยหิน

5) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องผลกระทบของแร่ใยหิน และออกข้อบัญญัติท้องถิ่นในกระบวนการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง

6) ขอให้กรมบัญชีกลางกำหนดแนวทางปฏิบัติให้การก่อสร้างหน่วยงานราชการทุกระดับใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดจากแร่ใยหิน

7) ให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนเครือข่ายแรงงานให้เฝ้าระวังตรวจสอบให้มีการใช้วัสดุที่ไม่มีแร่ใยหิน

8) ให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงแรงงานเผยแพร่ข้อมูลอันตรายจากแร่ใยหิน วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยประชาสัมพันธ์วัสดุที่ทดแทนแร่ใยหินได้ เช่น เมทัลชีต กระเบื้องที่ใช้สารทดแทนแร่ใยหิน

9) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคต้องกำกับติดตามการแสดงข้อมูล คำเตือนฉลากผลิตภัณฑ์

10) ให้กระทรวงสาธารณสุขพัฒนาระบบการวินิจฉัยโรคที่เกิดจากแร่ใยหินและระบบเฝ้าระวังติดตามกลุ่มเสี่ยง

11) ให้กระทรวงแรงงานจัดทำระบบลงทะเบียนสถานประกอบการและแรงงานที่ทำงานสัมผัสกับแร่ใยหิน

12) ให้กองทุนเงินทดแทนของสำนักงานประกันสังคมครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลการเฝ้าระวัง วินิจฉัย รักษา แรงงานที่มีประวัติการสัมผัสแร่ใยหิน

13) ให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกำกับติดตามสถานประกอบกิจการให้ดำเนินการเป็นไปตามกฎกระทรวง

14) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบต่อการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน กลไกทางเศรษฐศาสตร์และการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อมุ่งไปสู่การลด-เลิกการใช้แร่ใยหิน

15) ให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 14