สมคิดสั่ง กฟผ. ดูแลค่าไฟฟ้าผู้มีรายได้น้อย-ลุยโรงไฟฟ้าชุมชน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่า จากที่หารือผู้บริหารกฟผ.ที่ได้นำเสนอวิสัยทัศน์และแผนการทำงาน ชี้ให้เห็นว่ากฟผ.ได้ก้าวจากธุรกิจดั้งเดิมไปสุ่ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต โดยมุ่งเน้นนวัตกรรมที่จะขยายธุรกิจได้มากขึ้น ซึ่งต้องชื่นชมว่ามีแผนชัดเจนสอดคล้องกับสถานการณ์โลก เนื่องจากไฟฟ้าเป็นหลักของความมั่นคงเศรษฐกิจของประเทศ

โดยกฟผ.ได้มองถึงอนาคตในการทำธุรกิจในประเทศกลุ่มเพื่อนบ้าน กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม (CLMV) ที่ขณะนี้กฟผ.มีความแข็งแกร่งมากและด้วยธุรกิจไฟฟ้าที่มีผลประกอบการดี ส่งรายได้เข้ารัฐ มั่นคง สามารถประยุกต์เทคโนโลยีไปสู่ผู้บริโภค ด้วยศักยภาพดังกล่าวจึงสามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆได้ รวมถึงการมุ่งสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่กฟผ.ให้ความสำคัญ ด้วยการยกระดับพัฒนาไฟฟ้าให้เป็นระบบ Eco-System ไม่ว่าจะเป็น พลังงานทดแทน ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แบตเตอรี่ ซึ่งรถ EV นั้นถือเป็นเทรนแห่งอนาคต ทั้งนี้ ต้องมีความพร้อมด้านระบบด้วย หากสถานีชาร์จไฟไม่เพียงพอจะไม่สามารถรองรับได้ จึงได้มอบให้กฟผ.หาผู้ร่วมทุนที่จะรุกสู่ธุรกิจนี้ให้มากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ กฟผ.มีความพร้อมที่จะดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากในการยกระดับพี่น้องเกษตรกรให้มีรายได้จากการเข้าร่วมโครงการที่จะนำพืชเกษตรเหลือใช้ หรือส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชพลังงานมาเป็นเชื้อเพลิงสร้างรายได้ให้ชุมชน ซึ่งจะร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ในการช่วยเหลือชุมชน ในอีกทางด้วย

สำหรับ จากสถานการณ์ด้านพลังงานความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลาง เบื้องต้น ได้ขอให้ทางกฟผ.ดูแลค่าไฟฟ้าเพื่อไม่ให้กระทบภาระประชาชนท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ โดยเฉพาะการขอให้มุ่งเน้นดูเเลค่าไฟฟ้ท กลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่จะต้องเน้นเป็นพิเศษว่าจะมีแนวทางใดในการช่วยเหลือให้มากขึ้น

“ต้องขอชื่นชมการทำงานกฟผ.ที่มีแนวคิดวิสัยทัศน์ยกระดับองค์กรไปสู่พลังงานอนาคต ช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดีนัก รวมทั้งเหตุการณ์ตะวันออกกลาง ขอให้อุ่นใจว่ากฟผ.และกระทรวงพลังงานจะดูเเลค่าไฟประชาชนได้ รวมถึงค่าเงินบาทแข็งค่า ก็ได้หารือที่จะให้ กฟผ.ลงทุนมากขึ้นในช่วงนี้ ใช้วิกฤติเป็นโอกาส โดยไม่รอช้า เพราะขณะนี้ 4 เดือนแล้ว งบประมาณฯเองยังไม่ผ่านสภาฯ ก็ยิ่งล่าช้า ซึ่งที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจ ถือเป็นมือและไม้ในการระดมการลงทุน” นายสมคิดกล่าว

ทางนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า รองนายกฯได้มอบนโยบายกฟผ.ให้จะดูแลค่าไฟฟ้าไม่ให้กระทบค่าครองชีพ และให้ศึกษาแนวทางดูแลค่าไฟฟ้าสำหรับของผู้มีรายได้น้อยให้ต่ำลง รวมถึงไมโครเอสเอ็มอี เพื่อให้ต้นทุนพลังงานมีความเป็นธรรมมากขึ้น โดยจะได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป คาดว่าจะมีการหารือเร็วๆนี้ โดยจะมุ่งเน้นเชื่อมโยงข้อมูลให้สอดคล้องผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เป็นกลไกในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอยู่แล้วด้วย

“เรากำลังศึกษาแนวทางช่วยผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ดูแลผู้ใช้ไฟที่ไม่เกิน 50 หน่วย แต่สิ่งที่เรามองมากกว่านั้นคือปรับโครงสร้างค่าไฟราคาเดียวทั่วประเทศ ให้ถูกลงเพื่อนำไปช่วยประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเอสเอ็มอีขนาดเล็กด้วยวิธีการใหม่ๆคาดว่าจะเห็นความชัดเจนเร็วๆนี้” นายสนธิรัตน์กล่าว

นอกจากนี้ สถานการณ์ราคาน้ำมันจะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.)วันที่ ‪10 ม.ค.‬ เพื่อพิจารณาว่าจะใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างไรในการดูแลระดับราคาน้ำมันในช่วงภาวะตึงเครียดตะวันออกกลาง รวมถึงในวันเดียวกันจะหารือกับผู้บริหารบมจ.ปตท.ที่จะใช้โอกาสนี้ให้ทั้งกฟผ.และปตท.เร่งรัดการลงทุนช่วงภาวะค่าเงินบาทที่แข็งค่าอีกด้วย

อย่างไรก็ตามวันที่ ‪20 ม.ค.‬นี้ จะลงพื้นที่จ.กระบี่เพื่อติดตามสถานการณ์ปาล์มที่ขณะนี้พบว่าจากการส่งเสริมการใช้ดีเซลบี 10 ได้ส่งผลให้ราคาปาล์มทะลายสูงถึง 7 บาทต่อกิโลกรัม และทำให้น้ำมันปาล์มดิบ(CPO) ราคาสูงกว่า 30 บาทต่อลิตร ซึ่งกระทรวงพลังงานจะเข้ามาดูแลไม่ให้เกิดการขาดแคลนน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์(บี100)เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายให้ทุกปั๊มมีการจำหน่ายดีเซลบี 10 ครบ‪ในวันที่‬ ‪1 มี.ค.‬นี้ อย่างไรก็ตามในส่วนของการบริหารสต็อก CPO นั้นเป็นเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์จะดูแล

ทางด้าน นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่าสำหรับการลงทุนปี 2563 ของกฟผ.ได้เตรียมวงเงินไว้ 36,000 ล้านบาท ไม่สามารถปรับเพิ่มได้เพราะเป็นโครงการที่ผ่านการอนุมัติมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา แต่จะเร่งรัดการลงทุนในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า ขณะที่ปี 2564 จะลงทุนวงเงิน 40,000 ล้านบาท จำนวนนี้จะเป็นการลงทุนของสายส่ง และ 2 โรงไฟฟ้า คือ โรงไฟฟ้านครใต้ และโรงไฟฟ้าบางปะกง

ทั้งนี้ กฟผ.ยังเตรียมวงเงินลงทุนไว้อีก 3 แสนล้านบาท สำหรับก่อสร้างโรงไฟฟ้าหลักอีก 8 แห่ง เริ่มจ่ายไฟเข้าระบบ (COD) ตั้งแต่ปี 2568-72 อาทิ โรงไฟฟ้าน้ำพอง โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ 2 หน่วย เพื่อสร้างความมั่นคงในพื้นที่ภาคใต้ โดยการลงทุนนี้ต้องเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติในเร็วๆนี้ และคาดว่าจะสามารถจ่ายงบลงทุนได้ตั้่งแต่ปี 2566 ต่อไป