“ไบโอดีเซล” ดันราคาปาล์มพุ่ง CPO แซงตลาดโลก-หวั่นน้ำมันเถื่อนทะลัก

ราคา CPO ไทยแพงเว่อร์กว่าเพื่อนบ้านถึง กก.ละ 15 บาท จับตาน้ำมันปาล์มขวดขยับขึ้นจากราคาผลปาล์มดิบทะลุ 6 บ. “พาณิชย์” ยันไม่ให้ปรับราคาขาย 35-42 บาทต่อขวด เตรียมพร้อมมาตรการเสริมหากพบสัญญาณราคาขยับ เกษตรกร ลุ้นแล้งดันราคาขยับอีก เอกชนแนะรัฐสร้างสมดุลราคา ไล่ตรวจสต๊อกสกัดนำเข้า

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ขณะนี้ราคาผลปาล์มปรับขึ้นกก.ละ 6.23-6.33 บาท จากช่วงปลายปี 2562 ที่ กก.ละ 4.00-4.70 บาทหลังจากรัฐบาลดำเนินมาตรการประกันรายได้ปาล์มน้ำมัน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ราคา กก.ละ 4.00 บาท และยังมีมาตรการส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 เป็นน้ำมันหลัก และให้ใช้น้ำมัน B7 สำหรับรถเก่าและรถยุโรป คู่ขนานกับ B20 สำหรับรถบรรทุก โดยกำหนดมาตรการจูงใจให้ราคาน้ำมัน B10 ถูกกว่าน้ำมัน B7 ลิตรละ 2 บาท

ทั้งนี้ มีเป้าหมายว่าจะเพิ่มปริมาณการใช้ B10 วันละ 50 ล้านลิตรได้ในกลางปี 2563 ซึ่งจะช่วยเพิ่มการใช้ B100 ให้มีปริมาณ 7 ล้านลิตรต่อวัน ดูดซัพพลายปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ได้ถึง 2 ใน 3 ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 มีสถานีบริการน้ำมันเข้าร่วมส่งเสริมจำหน่ายน้ำมัน B10 แล้ว 450 แห่ง อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวส่งผลให้หลายฝ่ายเริ่มกังวลว่าสถานการณ์ราคาผลปาล์มดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มบรรจุขวด

นายกฤษดา ชวนะนันท์ กรรมการสมาคมโรงสกัดน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันระดับราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศอยู่ที่ กก.ละ 36 บาท สูงกว่าราคาในตลาดต่างประเทศ กก.ละ 21 บาทต่อกิโลกรัม ต่างกัน กก.ละ 15 บาท หรือราคาน้ำมันปาล์มดิบไทยสูงขึ้น 70% จากปลาย

ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาผลปาล์มราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง บริษัทเคยรับซื้อราคาสูงสุดถึง กก.ละ 7 บาทที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี ในเปอร์เซ็นต์น้ำมัน 18% เนื่องจากความต้องการมากทั้งกลุ่มพลังงานและกลุ่มบริโภค โดยเฉลี่ยด้านพลังงานต้องการ 150,000 ตันต่อเดือน และครัวเรือนต้องการ 100,000 ตันต่อเดือน และผลผลิตน้อยแต่เชื่อว่าจากนี้ราคาจะลดลงหากผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดช่วงเดือนมีนาคมนี้ แต่แนวโน้มราคาน้ำมันปาล์มดิบอาจปรับสูงขึ้นถึง กก.ละ 40 บาทต่อกิโลกรัมก็เป็นไปได้ หากผลผลิตในฤดูกาลที่กำลังจะทยอยออกสู่ตลาดนี้มีปริมาณน้อย

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันปาล์มดิบปัจจุบันสูงขึ้นน่าจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มขวดซึ่งเป็นปลายน้ำสูงขึ้น โดยหากคำนวณต้นทุนปัจจุบันราคาจำหน่ายน้ำมันปาล์มขวดจะอยู่ที่ขวดละ 38.50 บาทต่อขวด ซึ่งยังไม่รวมค่าจัดการอื่น ๆ เช่น ค่าบรรจุภัณฑ์ ขนส่ง เป็นต้น แต่ด้วยเหตุที่ผู้ผลิตยังใช้ราคาต้นทุนเดิม 1-2 เดือนที่ผ่านมา จึงยังไม่มีการปรับขึ้นราคา ดังนั้นราคาต้นทุนในจจุบันนั้นต้องติดตามต่อไป

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบของไทยปรับขึ้น 70% สูงกว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลก เทียบกันแล้วราคาน้ำมันปาล์มดิบต่างประเทศปรับขึ้นเพียง กก.ละ 6 บาท จาก กก.ละ 15 บาท เป็น 21 บาท จากที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย มีนโยบายผลิตไบโอดีเซล B30 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ภายในประเทศทดแทนการส่งออก หลังจากได้รับผลกระทบจากนโยบายลดการใช้ไบโอดีเซลของอียู และการกำหนดอัตราภาษีนำเข้าของอินเดีย

ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องสร้างสมดุลความต้องการในตลาด เพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบสูงกว่าราคาน้ำมันดิบในต่างประเทศ และควรให้มีการรายงานสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบด้วย ส่วนการติดตั้งกล้องวงจรปิดยังไม่มีการดำเนินการ

นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า แม้ว่าราคาผลปาล์มปรับสูงขึ้น แต่ยังไม่มีการยื่นขอปรับขึ้นราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดแต่อย่างใด โดยจากการตรวจสอบสถานการณ์ราคาจำหน่ายน้ำมันปาล์มขวดขนาด 1 ลิตรในปัจจุบันยังอยู่ที่ขวดละ 35-42 บาท เนื่องจากตลาดนี้ยังมีน้ำมันพืชชนิดอื่นที่สามารถทดแทนกัน หรือเป็นทางเลือกในการบริโภคได้ อีกทั้งห้างค้าปลีกยังมีการจัดทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย

“แม้ว่ากรมการค้าภายในไม่ได้มีมาตรการดูแลราคา ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด แต่กรมจะติดตามสถานการณ์ราคาอย่างใกล้ชิด หากมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจนอาจกระทบต่อผู้บริโภคก็พร้อมจะหารือทุกฝ่ายเพื่อหาแนวทางหรือมาตรการพิเศษเข้ามาดูแล”

นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ผลผลิตปาล์มน้ำมันขณะนี้เป็นช่วงปลายฤดูออกสู่ตลาดน้อย คาดว่าจะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2563 ส่งผลให้ช่วงนี้ราคาผลปาล์มสูง 5-6 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบกก.ละ 34-37 บาท ปรับสูงขึ้นจากราคาในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2562 ที่ กก.ละ 30-33 บาท ดังนั้น เห็นว่าภาครัฐจำเป็นต้องติดตามดูแลเรื่องปัญหาการลักลอบน้ำมันปาล์มดิบอย่างใกล้ชิด

โดยสิ่งที่ต้องการให้รัฐเร่งดำเนินการ คือ การเร่งติดตั้งมิเตอร์ตรวจวัดปริมาณน้ำมันปาล์มดิบของแต่ละแท็งก์ พร้อมกับการรายงานปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบให้รับรู้ด้วยเพราะในปัจจุบันเกษตรกรไม่ทราบข้อมูลว่าสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบมีปริมาณเท่าไร โดยตัวเลขล่าสุดที่ทราบ คือ เมื่อปี 2562 ปริมาณ 400,000 ตัน จากปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มที่เหมาะสม 250,000 ตัน

“เห็นด้วยกับการนำน้ำมันปาล์มไปผลิตน้ำมันบี 10 ต้องการให้มีการให้บริการทุกสถานีบริการทั่วประเทศ ส่วนการนำไปผลิตไฟฟ้าควรชะลอเพื่อลดการขาดแคลนน้ำมันปาล์มน้ำมัน”

“ปริมาณผลผลิตที่กำลังออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมีนาคม 2563 นี้ปริมาณเท่าไรนั้น ยังประเมินไม่ได้เพราะต้องติดตามเรื่องของสถานการณ์ภัยแล้งด้วย อาจต้องประเมินอีกครั้ง ผลผลิตอาจน้อย ราคาก็อาจยังคงสูงอยู่บ้าง ส่วนประกันรายได้ปาล์มน้ำมันเกษตรกรได้รับชดเชยไปแล้ว 2 งวด เพราะตอนนี้ราคาปาล์มสูงกว่าราคาประกัน”

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้บางจากจำหน่ายน้ำมัน B10 ประมาณ 100 สถานี คาดว่าถึงสิ้นปี 2563 จะสามารถขยายการให้บริการครอบคลุมทุกสถานี ทั้งนี้ ปัจจุบันมีกำลังการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล B100 อยู่ที่ 1 ล้านลิตร ซึ่งในช่วงที่สนับสนุนการใช้ไบโอดีเซล B7 มีการใช้ 4-5 แสนลิตร และการสนับสนุนใช้ B10 คาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็น 7 แสนลิตร