อีอีซีเดินหน้า “ระเบียงผลไม้ตะวันออก” 1.5พันล้าน

ระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก “EFC” 1 ปีไม่คืบ “คณิศ” เลขาฯ EEC ดึงกลับเดินหน้าสานต่อเอง เริ่มหาผู้ลงทุนและบรรจุเข้าโครงการหลักปี”63 จับมือปตท.-BIG-SCG ทุ่มเฟสแรกกว่า 1,500 ล้านบาท ผุดห้องเย็น คลัง ยกระดับผลไม้เกรดพรีเมี่ยมดันเป็นตลาดกลางประมูลราคาสูง หวังส่งเสริมภาคการเกษตรและชุมชน เร่งผู้ว่าฯ จ.ระยองเคลียร์ส่งมอบพื้นที่ให้เสร็จภายในปี 2563

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ EEC) กล่าวว่า ปี 2563 จะนำโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC) เข้ามาเป็นโครงการหลัก โดยมีเป้าหมายให้ภาคตะวันออกของไทยเป็นตลาดกลางประมูลผลไม้คุณภาพสูงเพื่อให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงานของนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในด้านพัฒนาชุมชนและสังคม

“ขณะนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study : FS) เสร็จเรียบร้อยแล้ว จากนี้ สกพอ.จะรับช่วงต่อเดินหน้าและให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จัดเตรียมพื้นที่ขนาด 23 ไร่ ใน ต.มาบข่า อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง ไว้รองรับให้เสร็จภายในปี 2563 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทพาร์ค ที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รับผิดชอบอยู่ และได้ประกาศเป็นพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษที่จะได้สิทธิประโยชน์ตามมาตรการ EEC”

ทั้งนี้ รูปแบบของโครงการจะสร้างห้องเย็นสำหรับจัดเก็บผลไม้ อาคารคลังสินค้า อาคารโลจิสติกส์และบรรจุภัณฑ์ อาคารสำนักงานด้านศุลกากรและชิปปิ้งพื้นที่แสดงสินค้า อาคารประมูลผลไม้ โดยจะมีการใช้แนวทางประชารัฐให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม คาดว่าจะมีมูลค่าลงทุนถึง 1,500 ล้านบาท

โดยโครงการดังกล่าวจะมีเอกชนผู้มีส่วนร่วมในการลงทุนประกอบด้วย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG) ที่ได้ลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการหน่วยแยกอากาศ (Air Separation Unit) กำลังผลิต 450,000 ตัน/ปี เพื่อผลิตก๊าซไนโตรเจนป้อนให้กับห้องเย็นในโครงการ EFC ดังกล่าว ที่คาดจะดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2564 ขณะที่บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG จะลงทุนในส่วนของคลังสินค้าและโลจิสติกส์ บรรจุภัณฑ์

นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวจะนำระบบเกษตรสหกรณ์เข้ามาบริหารจัดการในส่วนของผลไม้ที่จะส่งเข้ามา โดยจะสามารถรองรับผลไม้ได้หลายแสนตัน เช่น เงาะ 1.51 แสนตัน ทุเรียน 3.43 แสนตัน สับปะรด 3.54 แสนตัน ขนุน 1 หมื่นตัน มะม่วง 2.6 หมื่นตัน มังคุด 1.19 แสนตัน ลองกอง 1.98 แสนตัน และจะมีกิจกรรมที่เกิดขึ้นอื่น ๆ อีก เช่น การประมูลผู้ส่งออก (exporterauction) ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป (finished product) เป็นต้น

“เราใช้เวลาในการปั้นโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2561 และใช้เวลาในการรวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยกัน และปีที่แล้วทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้เสร็จแล้วช่วงต้นปี”62 แต่โครงการยังไม่เดินหน้าต่อตามเป้าหมาย สกพอ.จึงขอดึงโครงการดังกล่าวกลับไปเร่งดำเนินการต่อที่จะยังคงบูรณาการกับทางกระทรวงอุตสาหกรรม อบจ. และ สกพอ. โดย ปตท.และนักลงทุนรายอื่น ๆ เขาก็พร้อมแล้ว”

ทั้งนี้ เพื่อยกระดับให้ไทยเป็นผู้นำด้านการผลิตผลไม้เมืองร้อน “มหานครผลไม้โลก” ในปี 2564 จึงกำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตผลไม้เมืองร้อนทั้งสดและแปรรูปให้มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จะต้องประกอบด้วย

1.กำหนดและส่งเสริมมาตรฐานการผลิตและการค้าผลไม้เกรดพรีเมี่ยมทั้ง Q-GAP, Thai GAP, Thailand Trust Markโดยยกระดับสัดส่วนสินค้าเกรดพรีเมี่ยมเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 10% ของผลผลิตรวม ให้เพิ่มขึ้นเป็น 20%

2.ส่งเสริมการทำการตลาดผลไม้เกรดรอง โดยการเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูป เช่น ผลที่รูปทรงไม่สวย แก้ปัญหาโดยการแกะออกมาใส่แพ็กเกจพร้อมรับประทาน

3.การสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการแปรรูป


4.การนำนวัตกรรมและงานวิจัยมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ผลไม้ เช่น การทำน้ำเชื่อมลำไย หรือลำไยไซรัป รับประทานเพื่อสุขภาพ และช่วยดูดซับปริมาณผลไม้ตกเกรดได้มากขึ้น