จีนแซงญี่ปุ่นครั้งแรก ดันยอดบีโอไอ ปี’62 ทะลุเป้า 7.56 แสนล้าน

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายปี 2563 แก่ บีโอไอ

จีนแซงญี่ปุ่นครั้งแรก ดันยอดขอรับการส่งเสริม BOI ปี 2562 ทะลุเป้า 7.56 แสนล้าน สั่งอัพเกรดสิทธิประโยชน์ยกแผง

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายแก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า จากการรายงานสถานการณ์การลงทุนปี 2562 ที่ผ่านมา มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน 1,624 โครงการ มูลค่า 756,100 ล้านบาท ทะลุเป้าจากที่ตั้งไว้ 750,000 ล้านบาท โดยนักลงทุนจีนมีมูลค่าสูงที่สุดถึง 260,000 ล้านบาท แซงญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก

โดยเป็นคำขอจากพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 506 โครงการ มูลค่า 444,880 ล้านบาท หรือคิดเป็น 59% ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด โดยจังหวัดระยอง มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด ตามด้วยจังหวัดชลบุรีและจังหวัดฉะเชิงเทราตามลำดับ

และได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานปี 2563 ที่จะเพิ่มประเภทกิจการที่ยังไม่เคยได้รับการส่งเสริมเข้าไป และเพิ่มปรับสิทธิประโยชน์ เน้น 4 เรื่องหลัก คือ 1.ท่องเที่ยวบริการ 2.ครีเอทีฟ อีโคโนมี 3.กลุ่ม BCG (ไบโอ เซอคูล่า กรีน) 4.เศรษฐกิจฐานราก

สำหรับเป้าหมายยอดขอรับส่งเสริมปี 2563 จะรอเข้าบอร์ดบีโอไอ ในเดือน ก.พ. นี้

ทั้งนี้ยอดคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมีจำนวน 838 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 286,520 ล้านบาท หรือคิดเป็น 38% ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด

โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เงินลงทุนรวม 80,490 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เงินลงทุนรวม 74,000 ล้านบาท และอันดับ 3 ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ เงินลงทุนรวม 40,100 ล้านบาท

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า สำหรับปี 2563 คาดว่าการลงทุนยังมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากบีโอไอได้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนหลายด้าน เพื่อเร่งรัดการลงทุนโดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ผ่านมาตรการ Thailand Plus ที่เพิ่มสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี สำหรับโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2563 และมีการลงทุนจริง ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ภายในปี 2564

รวมทั้งได้ขยายเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ใช้อยู่เดิมจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก ก่อนที่บีโอไอจะนำเสนอมาตรการ SMEs ที่ปรับปรุงใหม่ในการประชุมบอร์ดครั้งต่อไป

นอกจากนี้ บีโอไอยังได้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยให้โครงการลงทุนในทุกพื้นที่ในอีอีซีสามารถได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม (ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% 3 ปี หรือยกเว้น 2 ปี) ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมหรือไม่ หากโครงการรับนักศึกษาฝึกงานตามจำนวนขั้นต่ำที่กำหนด

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ส่วนโครงการที่ตั้งในพื้นที่พิเศษ (เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) และศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ พัทยา หรือ EECmd) รวมทั้งนิคมนิคมหรือเขตอุตสาหกรรม ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมอันเนื่องจากที่ตั้งอีกด้วย
ซึ่งมาตรการนี้ใช้สำหรับคำขอรับการส่งเสริมที่ยื่นตั้งแต่ 2 มกราคม 2563 จนถึงสิ้นปี 2564 แต่หากตั้งโครงการในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ ได้แก่ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) และศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ พัทยา หรือ EECmd ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้ไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด