“บีโอไอ” จ่อออกมาตรการส่งเสริมใหม่เร่งลงทุนใน 6 เดือน เน้นพัฒนาคนรับอุตสาหกรรมใหม่

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวในงาน “2020 ปีแห่งการลงทุน : ทางออกประเทศไทย” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน ว่าภาพรวมการลงทุนของไทยหากย้อนกลับไปช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีอัตราการเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด โดยปี 2560 มียอดขอรับการส่งเสริม 1,547 โครงการ มูลค่า 610,510 ล้านบาท ปี 2561 มีจำนวน 1,517 โครงการ มูลค่า 814,860 ล้านบาท ปี 2562 มีจำนวน 1,624 โครงการ มูลค่า 756,100 ล้านบาท

“ตัวเลขดังกล่าวจะเป็นการลงทุนในสัดส่วน 15% ของการลงทุนทั้งหมดของประเทศ แต่ก็ได้สะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรม บริการ การลงทุนไปในทิศทางไหน เพื่อที่จะกำหนดนโยบายในปีถัดไป”

และแน่นอนว่าโจทย์คือจะทำอย่างไรให้นักลงทุน ที่ยื่นขอรับการส่งเสริมแล้วมีการลงทุนโดยเร็ว เป็นที่มาของการออกมาตรการ Thailand Plus ช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมา หลักการคือต้องการให้โครงการขนาดใหญ่มูลค่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป หากนำเงินมาลงทุนภายในระยะเวลาที่กำหนด จะได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคล 50% เพิ่มอีก 5% จากเกณฑ์เดิมที่ได้อยู่

ล่าสุดนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบาย ในปี 2563 ที่บีโอไอจะต้องเข้ามาเร่งรัดการลงทุนภายใน 6 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะการออกมาตรการรองรับค่าเงินบาท เพราะมีความกังวลว่า พ.ร.บ.งบประมาณ จะล่าช้ากว่ากำหนดที่จะทำให้เกิดการลงทุนช้าตามไปด้วย

ดังนั้นจึงหารือกับทางกระทรวงการคลัง เพื่อเพิ่มเครื่องมืออีกช่องทางในการเอามาตรการทางภาษี มาให้สิทธิประโยชน์กับนักลงทุนที่ไม่ได้ขอส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ เพราะบีโอไอไม่ได้ครอบคลุมทุกกลุ่ม การใช้พลังจากคลังบวกกับบีโอไอจึงจะช่วยให้ไทยสามารถแข่งขันได้จากประเทศอื่นๆ

และนับตั้งแต่ปี 2558-2561 จะเห็นได้ว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในกลุ่มประเทศอาเซียน ไทยอยู่ที่อันดับ 4 สะท้อนว่านักลงทุนยังคงมุ่งเป้ามาที่ไทย

นอกจากนี้ มาตรการ EEC คือตัวที่ได้ปรับเกณฑ์ใหม่และจะเป็นอีกมาตรการที่จะใช้ดึงการลงทุน เพราะเดิมการให้สิทธิประโยชน์จะแบ่งเป็นโซน แต่ปัจจุบัน EEC คือหัวใจสำคัญและกำหนดเกณฑ์ในเรื่องของพื้นที่ เปิดโอกาสให้กิจการเป้าหมายที่อยู่ในกลุ่ม A1 A2 A3 สามารถลงทุนนอกเขตพื้นที่ ที่ถูกประกาศเป็นเขตส่งเสริมพิเศษได้และความร่วมมือในการพัฒนาคน เช่น รับนักศึกษาฝึกอาชีพในสัดส่วน 10% ของจำนวนพนักงานหรือ 40 คน ได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 50% เพิ่ม 3 ปี เพิ่มเติมจากสิทธิประโยชน์เดิมยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลพื้นฐาน เพื่อป้อนตลาดแรงงาน ซึ่งหากรวมๆแล้วสิทธิประโยชน์นี้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดจะได้ถึง 12 ปี

ส่วนมาตรการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ขณะนี้อยู่ระหว่างหามาตรการส่งเสริม โดยจะคุยกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการสนับสนุน โดยใช้เครือข่ายจากเอกชนที่มีอยู่ในการช่วยเหลือ

“ตอนนี้ทรัพยากรไทยมีจำกัด จะไม่เกิดประโยชน์สูงสุดถ้าไม่รู้จักใช้ อย่างการลงทุน 5จี คงไม่ใช่แค่ความเร็ว แต่ต้องการสร้างประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ ขณะที่แนวทางการทรานฟอร์เมชั่นนั้น ในส่วนของบีโอไอเองมีการออกมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ในอดีตเรียกมาตรการลดผลกระทบจากเงินบาทแข็ง ปัจจุบันยอมรับว่ายังไม่มียอดคำขอลงทุนมากนัก ไม่ถึง 100-200 โครงการ และจำนวนนี้สัดส่วนเพียง 20% ที่ขอลงทุนในมาตรการปรับปรุงการผลิต และ 80% กลับเป็นการติดตั้งโซลาร์เซลล์ หรือการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หลังจากนี้จะต้องสร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการว่าสามารถเข้ามายื่นขอลงทุนในกิจการประเภทนี้ได้ เพื่อให้การลงทุนมุ่งสู่การพัฒนาเทคโนโลยี ยกระดับการลงทุนไทยในระยะยาว”