อัพเกรดมาตรการแก้ PM 2.5 ตัวการใหญ่ “รถบรรทุก-ปิกอัพ” พ่นฝุ่น

ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้กลายเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศไทยไปแล้ว โดยในปีนี้ AIR Quality ได้รายงานมลพิษทางอากาศจาก 95 ประเทศทั่วโลก ปรากฏประเทศไทยติด top 20 จากความน่าเป็นห่วงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ประลอง ดำรงค์ไทย” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ในฐานะประธานคณะทำงานในการประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นและมลพิษ PM 2.5 ถึงการขับเคลื่อนมาตรการแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว ซึ่งได้กลายเป็นวาระเร่งด่วนแห่งชาติ

ไทยติดอันดับโลกเรื่องฝุ่น

การจัดอันดับตาม AQI หรือดัชนีวัดคุณภาพอากาศ(Air Quality Index) จะเห็นว่าบางวันสูงถึง 100 กว่า แต่ข้อเท็จจริง ค่า AQI นี้ไม่ใช่ค่า PM 2.5 เพราะดัชนีนี้จะมีตัวชี้วัดค่ามลพิษ 6 รายการ ได้แก่ PM 2.5, PM 10, โอโซน, คาร์บอนมอนอกไซด์, ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนไดออกไซด์ ตัวเลข AQI ที่ปรากฏคือ การแสดงค่ามลพิษ 6 ตัว หากค่ารายการใดสูงสุดมันจะดึงค่านั้นมาโชว์ เช่น มีการก่อสร้างเยอะจะเป็นค่า PM 10 ไม่ใช่ PM 2.5 อย่างนี้ เป็นต้น แต่หากเทียบ AQI ปีนี้เทียบกับปีก่อนพบว่าค่าลดลง เช่น ล่าสุดเดือนมกราคม 2561 มีเกินค่า 23 วัน และปีนี้แค่เพียง 6 วัน

ค่าฝุ่นปีนี้มาเร็วกว่าปีก่อน

การที่ประชาชนจะรู้สึกว่าความเย็นมาเร็วและไม่มีลม ชั้นบรรยากาศกดทับลงมาต่ำมากเหมือนเราอาศัยอยู่ในห้องที่ฝ้าเพดานต่ำจะอึดอัดกว่าห้องที่เพดานสูง ซึ่งตามปกติหากอากาศปลอดโปร่งควรจะสูง 2.5-3.0 กม. จะทำให้การกระจายตัวของฝุ่นได้ดี ในช่วงก่อนวันเด็กระหว่าง 6-9 ม.ค. 2563 พบค่าฝุ่นสูงขึ้นทุกวัน เลยสีแดง หมายถึง ค่าฝุ่นเกิน 91 มคก./ลบ.ม. เกิน 24 ชม.ในจำนวน 30 สถานี จากทั้งหมด 50 สถานี ถือว่ามีอันตรายต่อสุขภาพของคนปกติ เราก็กังวลว่าเด็กจะออกเที่ยววันเด็กไม่ได้ ก็ประสานไปยังคณะทำงาน โดยกรมการขนส่งทางบกห้ามรถบรรทุกเข้ามาถ้าไม่จำเป็น บก.จร.ตรวจสอบรถยนต์ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นจาก 4 ชม.เป็น 8 ชม. สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กำกับดูแลการเผาในที่โล่ง 50 เขต และช่วยหยุดการก่อสร้างรถไฟฟ้าช่วงเวลาดังกล่าว หรือแม้แต่กลางคืน ทำให้ค่าฝุ่น 11 ม.ค. 2563 เหลือ 26 มคก./ลบ.ม. ต่ำกว่าค่ามาตรฐานปกติที่ 50 มคก./ลบ.ม.

ต้นเหตุของฝุ่น PM 2.5

การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้ดำเนินมาตรการลดวิกฤตเร่งด่วนต่อเนื่อง ด้วยมาตรการระยะแรกปี 2562-2564 แต่เรามองว่าการแก้ไขต้องปรับไปตามสถานการณ์อากาศและอุณหภูมิช่วงนั้นด้วย เราเน้นต้องแก้ปัญหาจากต้นเหตุที่แท้จริง กรมจึงมอบให้สถาบัน AIT ศึกษาสาเหตุการเกิดมลพิษ เมื่อ 6-7 เดือนก่อน ผลสรุปเพิ่งจะออกมาไม่กี่วันมานี้พบว่า ค่ามลพิษเป็นผลจากยานพาหนะเพิ่มขึ้น 72.5% จากข้อมูลเดิมแค่ 54% ซึ่งมีรถบรรทุกเป็นสาเหตุหลัก 28% รถปิกอัพ 24% และรถยนต์ส่วนบุคคล 10% ส่วนโรงงานอุตสาหกรรม 14% และการเผาในที่โล่ง 5% เราจึงโฟกัสการแก้ไขไปที่ยานพาหนะ

การอัพเกรดมาตรการ

ได้มีการประชุมคณะกรรมการควบคุมมลพิษ ในวันที่14 มกราคม จะมีข้อเสนอ 3 ข้อเข้าสู่ที่ประชุม คือ 1) ให้กรมการขนส่งทางบกควบคุมไม่ให้รถบรรทุกเข้ามาชั้นในกรุงเทพมหานครช่วงกลางวัน ให้เข้าเฉพาะช่วงกลางคืน จากเดิมให้เข้าเขตเมืองได้ 10.30-15.00 น. และให้เฉพาะรถบรรทุกอาหารสดกรณีจำเป็นเท่านั้น ถ้ามีมติเห็นชอบก็จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 2) จะเสนอ ครม.ให้ส่วนราชการระดับกรมทั้งหมด 152 กรม ข้าราชการเกือบ 2 ล้านคน ถือเป็นแนวทางปฏิบัติให้งดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลอย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 วัน และ 3) ขอให้สำนักงานกรุงเทพมหานครห้ามเผาในที่โล่งทั้ง 50 เขต หากใครฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษจำคุก 3 เดือน ปรับ 25,000 บาท ตามกฎหมาย พ.ร.บ.สาธารณสุข ทางผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการสั่งการได้

นอกจากนี้ยังมีการสรุปมาตรการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน 5-6 มาตรการ เน้นไปที่การลดการใช้รถยนต์ ลดการเผาที่โล่ง และโรงงานอุตสาหกรรม จากนั้นจะเสนอที่ประชุม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้ทันในเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์นี้

ส่วนแผนปฏิบัติการได้จัดทำขึ้นใน 3 มาตรการ คือ 1) การแก้ไขปัญหาพื้นที่เชิงวิกฤต การแก้ไขปัญหาจากแหล่งต้นทางแหล่งกำเนิดฝุ่นและการบริหารจัดการ ปรับปรุงเรื่องเครื่องมือและการตรวจวัดต่าง ๆ โดยในปีนี้ไม่มีการฉีดพ่นน้ำเพราะเราประเมินแล้วว่า มาตรการดังกล่าวให้ผลดีในเชิงจิตวิทยา เราต้องการแก้ที่สาเหตุ เช่น การล้างถนน เป็นการลดฝุ่น PM 10 เช่นเดียวกับการก่อสร้างรถไฟฟ้า ไม่ได้เป็นเหตุให้เกิด PM 2.5 แต่ทำให้มีการลดช่องจราจร เราต้องขอคืนพื้นผิวถนนเพื่อให้จราจรได้เร็วขึ้น ถ้าก่อสร้างรถไฟฟ้าเสร็จก็จะทำให้ปัญหาPM 2.5 ดีขึ้น เพราะลดปัญหาการจราจร วันนี้รัฐเร่งส่งเสริมให้คนใช้ขนส่งมวลชน ขนส่งสาธารณะ จะดีขึ้นในระยะยาว ผมเชื่อว่าหากการขนส่งสาธารณะเสร็จภายใน 2 ปีจะแก้ไขปัญหาได้

2) เรากำลังหาวิธีการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) คุยกันเรื่องสถานีชาร์จไฟฟ้ามาช่วย การส่งเสริมรถไฮบริด

3) การปรับเปลี่ยนน้ำมันที่มีค่าซัลเฟอร์ 50 ppm ลดลงเหลือ 10 ppm ตามมาตรฐานยูโร 5 ที่สหภาพยุโรปใช้ ซึ่งทางกระทรวงพลังงานรับว่าจะมีครบทุกสถานีบริการ ปี 2567

สำหรับเรื่องมาตรฐานรถ เรากำลังคุยกับทางกรมการขนส่งฯเรื่องการตรึงอัตราภาษีป้ายวงกลม จากเดิมป้ายไทยยิ่งเก่าจะยิ่งถูก สวนทางกับต่างประเทศที่ยิ่งเก่าจะยิ่งปรับสูงขึ้น กรมการขนส่งทางบกจะพิจารณาไม่ปรับลดค่าต่อทะเบียนวงกลม โดยจะตรึงไว้ในปีหน้าและมาตรการที่กำหนดว่า จะต่อทะเบียน 7 ปี จึงจะให้ตรวจสภาพรถยนต์ แต่ในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น 2 ปีก็ต้องตรวจสภาพแล้ว ทางกรมมีแนวคิดว่า อาจลดเหลือ 5 ปีต้องตรวจสภาพ ส่วนทางกระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศห้ามนำเข้ารถยนต์มือสองแล้ว และกำลังจะทำเรื่องของการห้ามนำเข้าเครื่องยนต์เก่าเซียงกง ทั้งหมดนี้อยู่ในแผนปฏิบัติการของเรา

การแก้มลพิษข้ามแดน

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รองนายกฯประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้มอบนโยบายให้ดูแลการแก้ไขปัญหามลพิษข้ามแดน ทั้งการเผาในที่โล่งจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ค่าฝุ่น PM 2.5 ในหลายจังหวัดสูงขึ้น ทั้งที่เชียงราย-แม่ฮ่องสอน-อ.แม่สอด จ.ตาก เกิดจากการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน กลไกดูแลในปีก่อน ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมก็ได้ประสานงานไปยังทุกภาคส่วน โดยผ่านทางสำนักงานเลขาธิการอาเซียน ทำงานร่วมกัน ส่วนในปีนี้เราเตรียมประสานงานไว้ในการประชุมอาเซียนครั้งต่อไป ที่ประเทศเวียดนามเป็นประธานช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2563 จะมีการทบทวนเป้าหมายการลดจุดฮอตสปอต ซึ่งจริง ๆ ก็มีโรดแมปอยู่แล้ว