BOIสอบผ่านยอด7.5แสนล. ไต้หวันแห่ลงทุนออกมาตรการช่วยค่าบาท

ทุนดิจิทัลไต้หวันย้ายเข้าไทยยกยวง ดันยอดบีโอไอ Q4 พลิกทะลุเป้าหมาย 7.5 แสนล้านบาท “สมคิด” ปลื้ม ฝีมือบีโอไองบฯน้อยแต่ศักยภาพสูง ดึงลงทุนจีน-ฮ่องกงสัมฤทธิผล ส่วนปี 2563 วาง 4 แนวทางเร่งลงทุนลดผลกระทบค่าบาท พร้อมปรับมาตรการ SMEs-เศรษฐกิจฐานราก โรงไฟฟ้าชุมชนได้สิทธิประโยชน์ เล็งเพิ่มประเภทกิจการครีเอทีฟ-ท่องเที่ยว-bio circular green

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายแก่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า ถึงแม้บีโอไอจะได้รับการจัดสรรงบประมาณที่น้อยแต่กลับทำผลงานได้ดี โดยปี 2562 สามารถดึงการลงทุนเข้ามาจากนักลงทุนเป้าหมายและอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ทั้ง 12 อุตสาหกรรม ส่งผลให้มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน 1,624 โครงการ มูลค่า 756,100 ล้านบาท สูงเกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 750,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) สูงถึง 500,000 ล้านบาท ที่ส่วนใหญ่มาจากนักลงทุนจีนมูลค่าสูงที่สุดถึง 260,000 ล้านบาท โดยเฉพาะฮ่องกงเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวแซงญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก เนื่องจากเป็นการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินถึง 160,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากแยกคำขอจากพื้นที่ พบว่า เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีจำนวนคำขอ 506 โครงการ มูลค่า 444,880 ล้านบาท หรือคิดเป็น 59% ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด โดยจังหวัดระยองมีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด ตามด้วย จ.ชลบุรี จ.ฉะเชิงเทรา และหากแยกประเภทยอดคำขอรับ

ส่งเสริมการลงทุนตามกลุ่มอุตสาหกรรม จะพบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมีจำนวน 838 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 286,520 ล้านบาท หรือคิดเป็น 38% ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เงินลงทุนรวม 80,490 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วน เงินลงทุนรวม 74,000 ล้านบาท และอันดับ 3 ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ เงินลงทุนรวม 40,100 ล้านบาท

นายสมคิดกล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานปี 2563 จะเพิ่มประเภทกิจการที่ยังไม่เคยได้รับการส่งเสริมและปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ เน้น 4 เรื่องหลัก คือ

1.ท่องเที่ยวบริการ

2.ครีเอทีฟอีโคโนมี

3.กลุ่ม BCG (ไบโอเซอร์คูลาร์กรีน)

4.เศรษฐกิจฐานรากที่จะต้องให้เกิดในปี 2563 นี้

โดยจะมีการกำหนดเป้าหมายยอดขอรับส่งเสริมปี 2563 ในการประชุมบอร์ดบีโอไอครั้งต่อไปในเดือนกุมภาพันธ์นี้

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ปี 2563 จะปรับมาตรการเดิมที่มีอยู่โดยเฉพาะมาตรการ SMEs จะปรับใช้มาตรการภาษีซึ่งเป็นมาตรการทางการคลังเข้ามาช่วย มาตรการเศรษฐกิจฐานรากจะปรับเงื่อนไขเปิดให้บริษัทที่ยังไม่เคยยื่นและยังไม่มีบัตรส่งเสริม สามารถได้รับสิทธิประโยชน์เมื่อมีความร่วมมือในการพัฒนาชุมชนในท้องถิ่น เช่น โรงไฟฟ้าชุมชน ทำกิจการด้านการท่องเที่ยวเพื่อให้ชุมชนโดยรอบได้ประโยชน์ หรือเอกชนทำกิจกรรมกับ ธ.ก.ส. เปิดโครงการช่วยภาคเกษตรในชุมชน เป็นต้น

พร้อมกันนี้จะเสนอบอร์ดบีโอไอพิจารณาออกมาตรการใหม่เพื่อเร่งรัดการลงทุน ลดผลกระทบค่าเงินบาท โดยมีเป้าหมายให้มีการลงทุนภายใน 6 เดือน เน้นไปยังผู้ประกอบการไทย และเตรียมการทบทวนเพื่อเพิ่มประเภทกิจการใน 3 กลุ่มที่ยังไม่เคยได้กำหนดให้ได้รับสิทธิประโยชน์ เพื่อให้เป็นไปตามสถานการณ์ปัจจุบัน โดยจะพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ

เช่น ไทยยังขาดกิจการอะไร มีความจำเป็นต้องมีหรือไม่ มีศักยภาพเพียงใด ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยวและบริการ เพิ่มประเภทกิจการที่จะรองรับด้านแรงงาน ด้านการผลิต เช่น กิจการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ท่าเรือครุยส์ กลุ่มครีเอทีฟอีโคโนมี เพิ่มประเภทกิจการแฟชั่นดีไซน์ แอนิเมชั่น ภาพยนตร์ ศิลปะการละคร ซึ่งอาจยกระดับเป็นอุตสาหกรรมกลุ่ม BCG (bio circular green) ด้านสิ่งแวดล้อม เปิดช่องให้ประเทศที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีสะอาดอย่างยุโรปเข้ามา เช่น โรงกำจัดขยะ

นอกจากนี้ จะเร่งการลงทุนในส่วนของเมืองใหม่อัจฉริยะ (smart city) ที่จะพัฒนา จ.ฉะเชิงเทราให้มีที่อยู่อาศัย ออฟฟิศบิลดิ้ง สำหรับยอดขอรับส่งเสริมการลงทุน ปี 2562 ที่สามารถบรรลุเป้าหมายได้จากเงินลงทุนไตรมาส 4/2562 ที่เพิ่มขึ้นประมาณ 440,000 ล้านบาท จากตัวเลข 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่าการลงทุนเพียง 314,130 ล้านบาทนั้น เป็นปกติในช่วงปลายปีที่นักลงทุนจะเร่งยื่นขอเพื่อให้ทันสำหรับบางมาตรการจะหมดอายุ และที่สำคัญบีโอไอสามารถดึงการลงทุนจากการไปโรดโชว์ได้จำนวนมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จากไต้หวันที่เมื่อบริษัทแม่ตัดสินใจลงทุนบริษัทลูกและซัพพลายเชนต่าง ๆ ก็ตามมาด้วยทั้งหมด และยังมีอุตสาหกรรมพลังงาน โรงไฟฟ้า

นางสาวซ่อนกลิ่น พลอยมี ผู้อำนวยการกองพัฒนาและเชื่อมโยงการลงทุน (กพช. หรือหน่วย Build เดิม) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนไปของอุตสาหกรรมเดิมไปสู่ S-Curve กพช. จึงกำหนดแผนงานปี 2563 เน้นไปสู่งการเชื่อมโยงเทคโนโลยีความรู้ในอุตสาหกรรม S-curve เป็นหลัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแพทย์ อากาศยาน ยานยนต์ไฟฟ้า เครื่องจักรออโตเมติกส์ ระบบราง ไม่ใช่แค่จับคู่ซื้อขาย

นอกจากนี้จะเริ่มทำการเชื่อมโยงเทคโนโลยีระหว่างผู้ประกอบการรายเล็ก SMEs กับหน่วยงานรัฐ อย่างมหาวิทยาลัยที่เคยลงนาม (MOU) 8 ราย กับไทยมากขึ้น เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้ชื่อเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network) หรือ RUN ไม่ใช่แค่เอกชนกับเอกชนเหมือนเดิมที่ผ่านมา

โดยปี 2562 ที่ผ่านมามีมูลค่าการเชื่อมโยงซื้อขายถึง 38,000 ล้านบาท และปี 2563 คาดว่ามูลค่าจะสามารถเติบโตได้ 10-15% ผ่านกิจกรรมผู้ซื้อพบผู้ขาย Venders Meet Customers (VMC) และ Subcon Thailand ที่จะจัดในช่วงวันที่ 13-16 พ.ค. 2563 ซึ่งที่ผ่านมามีการจับคู่ได้ถึง 8,000 คู่ มูลค่ากว่า 14,000 ล้านบาท


อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาพบว่า มีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเชื่อมโยงการลงทุนคือ เศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ชะลอตามไปด้วย, การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีจากยานยนต์ไปสู่ระบบไฟฟ้า ทำให้การขยายการลงทุนรถแบบเดิมชะลอตัว, ทิศทางการลงทุนของโลกจากสงครามการค้าที่ผู้ประกอบการจะต้องวางแผนการจัดซื้อกันใหม่กับประเทศคู่ค้าและมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในระบบการจัดซื้อจัดหาชิ้นส่วน ผู้ประกอบการไทยจึงต้องปรับตัว