Energy for all เร่งสปีดโรงไฟฟ้าชุมชน

สัมภาษณ์พิเศษ

ภายหลังจากที่ผลนโยบายส่งเสริมการใช้น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) มาผลิตไบโอดีเซล B10 เป็นน้ำมันชนิดหลัก ช่วยทำให้ราคาผลปาล์มน้ำมันปรับขึ้นไป กก.ละ 7 บาท ขณะที่ราคาน้ำมันซีพีโอปรับขึ้นไป กก.ละ 34 บาท สูงกว่าราคาในตลาดต่างประเทศถึง กก.ละ 15 บาท สร้างความกังวลต่อเกษตรกรว่าจะเกิดปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากต่างประเทศ

“นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงภารกิจเร่งด่วนที่ต้องสปีดอัพช่วงครึ่งปีแรกตามนโยบาย Energy for all ว่า ในวันที่ 20 มกราคม 2563 ตนจะนำคณะลงพื้นที่จังหวัดกระบี่ เพื่อดำเนินมาตรการดูแลและป้องกันปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าต้องดำเนินนโยบายการผลิตพลังงานทดแทนจากพืชเรื่องนี้ต่อ เพราะถือเป็นมาตรการที่ช่วยเกษตรกรในการรักษาเสถียรภาพราคา โดยขณะนี้เตรียมจะขยายผลต่อเนื่องไปยังกลุ่มเอทานอลทั้งจากอ้อยและมันสำปะหลัง

ลุยเอทานอลข้าวโพด-อ้อย

“การดูแลเกษตรกรเป็นเป้าหมายบริหารจัดการสินค้าเกษตร 3 ตัว แม้ว่าจะเกิดภัยแล้งทำให้ผลผลิตลดลง ก็จะไม่กระทบต่อการสานต่อนโยบาย เพราะการวางนโยบายนี้มุ่งไปที่การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว”

นายสนธิรัตน์กล่าวอีกว่า ในช่วงครึ่งปีแรกกระทรวงจะเร่งการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งจะช่วยดึงเม็ดเงินลงทุนจากภาคเอกชนได้ไม่ต่ำกว่า 70,000 ล้านบาทเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ สร้างรายได้ประชาชน จากการขายพืชที่เป็นวัตถุดิบ เช่น หญ้าเนเปียร์ ซังข้าวโพดฟาง ทะลายปาล์ม และทั้งยังช่วยลดปัญหาการเผ่าในที่โล่ง ซึ่งเป็นที่มาของฝุ่นละออง PM 2.5 ด้วย

สร้างสมดุลราคาพลังงาน

ทั้งนี้ แม้ว่ากระทรวงจะมุ่งดูแลเกษตรกร แต่อีกด้านกระทรวงก็มีนโยบายที่จะเข้าไปส่งเสริมให้เกิดต้นทุนพลังงานที่เป็นธรรม โครงสร้างน้ำมันและการดูแลราคาค่าไฟฟ้าที่จะลดภาระประชาชนที่มีรายได้น้อยได้อย่างไร

เช่นเดียวกับมาตรการการลดค่าไฟให้เอสเอ็มอีที่ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เสนอเข้ามานั้น โดยหลักการดี แต่เราต้องมีงบประมาณ ทางกระทรวงต้องประชุม (กกพ.) ร่วมกับ 3 การไฟฟ้าฯ คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เราก็จะเร่งรัดขอดูรายละเอียดว่าจะต้องใช้งบประมาณมากเพียงใด

ดันไทยฮับพลังงานอาเซียน

นอกจากนี้ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลาง hub LNG ถือเป็นสเต็ปหนึ่งที่กระทรวงต้องทำ ซึ่งเราเตรียมจะประกาศความสำเร็จให้ ปตท.สามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปลายไตรมาส 3 โดยการจะเป็นฮับต้องมีความพร้อมด้านต่าง ๆ เช่นเดียวกับการส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาค ซึ่งทาง กฟผ.จะต้องลงทุนสายส่งกัมพูชาไปเมียนมา รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มซื้อขายไฟฟ้า เทรดเดอร์ออฟอาเซียน ทั้งสองต้องลงทุนแน่นอน กฟผ.มีแผนจะใช้เงินลงทุนปีละ 30,00-40,000 ล้านบาท ส่วนปตท.มีแผนลงทุนปีละ 1 แสนล้านบาท

จ่อเปิดระบบสัมปทานใหม่

ขณะเดียวกัน ในปีนี้มีนโยบายที่จะเปิดสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมรอบใหม่ หลังจากหยุดชะงักไป 10 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคง ด้านพลังงาน และยังเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนภาคเอกชนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยได้มอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติไปจัดทำรายละเอียด ต้องให้ดูปัญหาอุปสรรคและวิธีการต่าง ๆ มาเสนอให้เห็นภาพชัดเจนในปีนี้