ค้าภายในยันตรึงปาล์มขวดไว้ 42 บาท ส่วนใครกุข่าวเท็จ พร้อมใช้มาตรการกฎหมายทันที

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงสถานการณ์ปาล์มน้ำมันว่า ขณะนี้ราคาผลปาล์มในท้องตลาด เฉลี่ยอยู่ที่ 7 บาทต่อกิโลกรัม เป็นผลมาจากความต้องการสูงขึ้น ผลผลิตลดลง มีผลต่อราคาผลปาล์มปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดีเชื่อว่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาด เชื่อว่าราคาผลปาล์มจะมีแนวโน้มปรับตัวลง ส่วนในข้อกังวลว่าราคาผลปาล์มที่ปรับสูงขึ้นจะกระทบต่อน้ำมันปาล์มขวด กรมการค้าภายในให้ความมั่นใจว่าขณะนี้ ยังคงตรึงราคาปาล์มขวดไว้อยู่ที่ 42 บาทต่อขวด 1 ลิตร อีกทั้งยังพบว่าหลายพื้นที่ขายในราคาต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 36-37 บาทต่อขวด ทั้งนี้แนะนำสำหรับผู้บริโภคต้องการซื้อน้ำมันพืชอาจจะมองน้ำมันพืชตัวอื่น เช่น น้ำมันถั่วเหลือง ปัจจุบันจำหน่ายเฉลี่ยที่ 33-35 บาทต่อขวดเพื่อทดแทน ในช่วงระยะสั้นนี้

โดยราคาน้ำมันปาล์มขวด กรมการค้าภายในขอความร่วมกับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทั้งโรงสกัดโรงกลั่น ผู้ประกอบการค้าปลีกในการตรึงราคาจำหน่ายขายปลีกที่ 42 บาทโดยอาจจะให้ผู้ประกอบการนำสินค้าสต๊อกเก่าและของใหม่เฉลี่ยนำออกมาจำหน่ายเพื่อยังคงขายในราคาที่ต้นทุนพอจะรับได้ เพื่อรอผลผลิตที่กำลังจะออก ขณะนี้พบว่าน้ำมันปาล์มดิบที่อยู่ในสต๊อกภาพรวมทั้งประเทศอยู่ที่ปริมาณ 400,000 ตันโดยอยู่ในสต๊อกของโรงสกัดเฉลี่ยอยู่ที่ 340.000 ตัน ส่วนปริมาณน้ำมันปาล์มดิบที่เหลือจะเฉลี่ยไปอยู่ที่โรงงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องทั้งด้านพลังงานและบริโภค ซึ่งยังมีปริมาณเพียงพอ ในความต้องการผลิต

ทั้งนี้ มั่นใจว่าน้ำมันปาล์มดิบจะไม่ขาดแคลน เนื่องจากกรมการค้าภายในได้มีการส่งสัญญาณให้กับผู้ประกอบการในการสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม ทั้งการบริโภคและพลังงานทำให้ผู้ประกอบการหลายกลุ่มได้มีการสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 ซึ่งมีการรับซื้อล่วงหน้าเฉลี่ยราคารับซื้ออยู่ที่ 20 บาทต่อกิโลกรัมสำหรับน้ำมันปาล์มดิบเอง ดังนั้นปริมาณน้ำมันปาล์มดิบในสต๊อกที่มีอยู่ยังไม่กระทบต่อต้นทุนการผลิต ทั้งในกลุ่มน้ำมันปาล์มขวดอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตสินค้าเช่น โรงงานบะหมี่ เป็นต้น แม้ว่าราคา ปาล์มน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้น

ขณะนี้ ปัญหาในเรื่องของการติดตั้งมิเตอร์วัดแทงก์น้ำมันปาล์มดิบ หรือ CPO ที่กำหนดติดตั้งแท้งค์น้ำมันปาล์มดิบให้ครบทั่วประเทศ ที่มีความล่าช้าไปและมีการออกมาให้ข้อมูลเท็จว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการติดตั้งและประวิงเวลาทำให้เกิดความล่าช้า ในส่วนนี้ขอชี้แจงว่าไม่ได้มีการประวิงหรือดำเนินการติดตั้งล่าช้า การที่ติดตั้งล่าช้างเนื่องจากติดปัญหาเรื่องของงบประมาณซึ่งต้องรอให้ทางสำนักงบประมาณได้พิจารณาอนุมัติงบออกมาก่อนจึงจะติดตั้งได้ ซึ่งได้ชี้แจงแล้วว่า จะต้องรองบประมาณของปี 2563 ซึ่งจะออกมาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 นี้ หากมีการพิจารณาเห็นชอบแล้วเสร็จ กรมการค้าภายในจะดำเนินการติดตั้งทันที โดยเชื่อว่าจะสามารถติดตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน

“ปริมาณแท้งก์น้ำมันปาล์มดิบในทั่วประเทศมีอยู่ 400 แท้งก์ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการติดตั้ง เป็นอุปกรณ์ที่ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศดังนั้นหากยังไม่มีการอนุมัติงบประมาณก็จะยังไม่มีการสั่งซื้ออุปกรณ์นำเข้ามา หาก งบประมาณสามารถดำเนินการได้ก็จะมีการสั่งซื้อเพื่อมาติดตั้งในทันที”

ส่วนกรณี การนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากประเทศเพื่อนบ้านปัจจุบันยังไม่มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบแต่อย่างไร ส่วนกรณีที่มีการปล่อยข่าวว่าจะมีการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากประเทศเพื่อนบ้านกรมการค้าภายในขอตำหนิผู้ให้ข่าวว่าไม่เป็นความจริงและเป็นการกระทำหรือการปล่อยข่าวที่ร้ายแรงที่กระทบต่อเกษตรกรอย่างมาก โดยมีเจตนาที่จะกดดันราคาผลปาล์มให้ลดลงหรือไม่ ดังนั้น จึงขอให้ผู้ที่ปล่อยข่าวในเรื่องของการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากประเทศเพื่อนบ้านขอให้ยุติ สร้างความปั่นป่วนผ่านสื่อสังคมออนไลน์หากพบว่าเป็นการกระทำที่สร้างผลกระทบต่อเกษตรกร กรมการค้าภายในพร้อมใช้มาตรการกฎหมายเข้ามาดูแลพร้อมทั้งอาจจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายน้ำมันปาล์มแห่งชาติ (กนป.) เพื่อที่จะหารือต่อไป อย่างไรก็ดีขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับฟังข้อมูลจากภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นหลักเพื่อ ให้ได้ข้อมูลที่ตรงกัน

นายวิชัย กล่าวอีกว่า สำหรับการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้กับสินค้าเกษตรภายใต้โครงการ ประกันราคาสินค้าเกษตรของภาครัฐ สามารถช่วยเหลือเกษตรกรไปแล้ว 2,440,924 ครัวเรือน ใช้งบประมาณไปแล้วทั้งสิ้น 33,704 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งสิ้น 67,778 ล้านบาท โดยจ่ายชดเชยให้กับ เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ไปแล้ว 328,000 ราย วงเงิน 2,720 ล้านบาท คิดเป็น 20.93% ของงบประมาณในโครงการ เกษตรกรผู้มันสำปะหลัง จ่ายไปแล้ว 5,482 ราย วงเงิน 134 ล้านบาท คิดเป็น 1.42% ของงบประมาณในโครงการ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จ่ายไปแล้ว 89,720 ราย วงเงิน 323 ล้านบาท คิดเป็น 35.02% ของงบประมาณในโครงการ เกษตรกรผู้ปลูกข้าว จ่ายไปแล้ว 888,388 ราย วงเงิน 18,586 ล้านบาท คิดเป็น 88.76% ของงบประมาณในโครงการ และเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา จ่ายไปแล้ว 1,033,022 ราย วงเงิน 12,309 ล้านบาท คิดเป็น 52.44% ของงบประมาณในโครงการ

อย่างไรก็ดี สำหรับทิศทางแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรในโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตรนั้น คาดว่าจะมีแนวโน้มราคาปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะสินค้าข้าว โดยปัจจุบันผลผลิตข้าวเริ่มออกสู่ตลาดน้อยลงโดยยังคงเหลือเฉพาะพื้นที่ทางภาคใต้ ดังนั้น จะทำให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นการดำเนินการจ่ายเงินส่วนต่างจากโครงการก็จะลดลง โดยข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ข้าวเหนียวและข้าวหอมมะลิ ส่วนราคาข้าวที่ยังต้องติดตามคือราคาข้าวขาว ส่วนทิศทางของการส่งออกข้าวมองว่าจะมีการปรับตัวดีขึ้นเห็นได้จากมีการสั่งซื้อเข้ามาและการเข้าไปประมูลการนำเข้าข้าวของภาคเอกชน ส่วนสินค้าเกษตรตัวอื่น เช่น ปาล์มน้ำมันจากราคาผลผลิตที่ดีขึ้น ดังนั้น การจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างๆในปัจจุบันไม่มีโดยที่ผ่านมาจ่ายชดเชยไปแล้ว 2 งวด