“จุรินทร์”เร่งส่งออกหมอนยาง กยท.ดันหน่วยงานรัฐซื้อน้ำยาง9หมื่นตัน

จุรินทร์เร่งเครื่องดันส่งออกหมอนยางพารา 20 ล้านใบถึงมือ “ตุรกี” ลอตแรก 4 แสนใบ ม.ค.นี้ พร้อมหิ้วกระเป๋าเซลส์แมนลุยขายไม้ยางพาราอินเดียต่อ ด้าน กยท.รับนโยบายรัฐเร่งเดินหน้าโครงการใช้ยางหน่วยงานรัฐ ตั้งเป้าปี 2563 ดึงน้ำยางออกจากสต๊อก 9 หมื่นตัน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นโยบายการประกันรายได้ยางพาราเป็นนโยบายที่ประสบความสำเร็จ ช่วยให้เกษตรกรมีความมั่นคง ได้รับเงินชดเชยจากการประกันราคา ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาลที่มุ่งจะประกันรายได้ โดยไม่เข้าไปแทรกแซงกลไกตลาด พร้อมกันนี้ ทางภาครัฐยังได้มีการส่งเสริมกระตุ้นความต้องการใช้ยางพารามากขึ้น เพื่อช่วยยกระดับราคา โดยในปีที่ผ่านมาได้นำคณะเดินทางไปเจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้นำเข้าตุรกี ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ซื้อหมอนยางพาราจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึ่งหลังจากทำ MOU แล้วมอบให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) ติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการส่งมอบสินค้าตามสัญญา

“ตอนนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ติดตามผลการส่งมอบสินค้าที่ไปลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ไว้ในปีที่ผ่านมาด้วยว่าจะส่งมอบเท่าไร เช่น MOU ขายหมอนยาง 20 ล้านใบ โดยจะเริ่มส่งมอบในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2563 นี้ เดือนละ 400,000 ใบ ในส่วนของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึ่งผมมีกำหนดจะคิกออฟส่งสินค้าลงเรือ ถ้ากระตุ้นการส่งออกหมอนยางได้ จะช่วยให้มีการใช้น้ำยางจำนวนมาก และที่สำคัญ ตุรกียังเป็นฮับส่งออกไปยังตลาดยุโรปได้ด้วย” นายจุรินทร์กล่าว

ส่วนในกลางเดือนนี้มีกำหนดจะนำคณะนักธุรกิจ 100 รายเดินทางเยือนอินเดีย เพื่อเจรจาขายสินค้าหลายรายการ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ไม้ยางพารา เพราะตลาดอินเดียมีความต้องการใช้ไม้ยางพาราจำนวนมาก น่าจะเป็นโอกาสผลักดันการส่งออกได้”

ด้านนายขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปี 2563 กยท.ยังคงเดินหน้ามาตรการเพิ่มการใช้ยางพาราภายในประเทศ โดยส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ เป็นการเพิ่มปริมาณการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อลดผลกระทบปัจจัยที่ส่งผลต่อราคายางพาราในประเทศ

โดยปี 2563 มีแผนการใช้งานของหน่วยงานภาครัฐ 7 กระทรวง เป้าหมายในการดําเนินการใช้น้ำยางสดรวมทั้งสิ้น 90,377.610 ตัน (ตามกราฟิก) ส่วนผลการใช้งานของหน่วยงานภาครัฐ ปี 2562 ที่ผ่านมา มีหน่วยงานภาครัฐ 11 กระทรวง ที่ร่วมรายงานแผนและผลการดําเนินการใช้ยางมายัง กยท. โดยหน่วยงานที่ใช้มากที่สุด กระทรวงคมนาคม

ทั้งนี้ โครงการใช้ยางในประเทศเริ่มตั้งแต่ปี 2559 กำหนดให้ซื้อยางจากเกษตรกรรายย่อยที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ตามระดับคุณภาพยางในราคาตลาด แต่ไม่เกิน กก.ละ 60 บาท แต่กำหนดราคากลางตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ล่าสุด กยท.จะใช้งบประมาณกองทุนพัฒนายางพาราของ กยท. 500,000 บาท โดยตั้งเป้า 1 ล้านตัน ใน 3 ปี (2563-2565) ต่อไป