ยักษ์ธุรกิจไขทางออกประเทศไทย ขานรับ 2020 ปีแห่งการลงทุน

15 มกราคม 2563 หนังสือพิมพ์มติชนจัดสัมมนาหัวข้อ “2020 ปีแห่งการลงทุน : ทางออกประเทศ” หนึ่งในไฮไลต์มีการเชิญวิทยากร 4 ยักษ์ธุรกิจต่างวงการขึ้นเวที เพื่อร่วมกันฉายภาพทางเลือก ทางรอด ในการทำธุรกิจปีชวด

โมเดลลงทุน 3 มิติเครือ SCG

หัวข้อเสวนา “ลงทุนไทย 2020 สู่บริบทใหม่” ประเดิมด้วย “รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ระบุว่าปี 2562 เป็นปีที่มีความเปลี่ยนแปลงและผันผวนมาก สงครามทางการค้าแม้มีสัญญาณดีขึ้น แต่ก็อาจไม่ใช่ระยะยาว ปัญหาความตึงเครียดในตะวันออกกลาง และค่าเงินบาทต้องหาวิธีรับมือกันต่อไป

เอสซีจีมองการลงทุนปีชวดเป็น 3 มิติ 1.growth-การเติบโต ธุรกิจเอสซีจีส่วนใหญ่อยู่ในอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนาม-อินโดนีเซียที่สามารถโตได้ มีศักยภาพเรื่องคนและตลาดทั้งปิโตรเคมีและแพ็กเกจจิ้ง

2.transformation-การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง ต้องยกเครื่องเพราะการทำธุรกิจสมัยใหม่ไม่สามารถเน้นตัวสินค้าอย่างเดียว แต่ต้องมีบริการและคุณค่า (value) ที่ตอบโจทย์ลูกค้าด้วย

อาทิ ยุคนี้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีบทบาททำให้ตลาดโตขึ้น แต่ packaging ก็สำคัญ เช่น ฉีกได้ง่ายขึ้น, ธุรกิจแบบ B2B ลูกค้าไม่ได้ต้องการแค่เฉพาะการส่งของ แต่มองเรื่องดีไซน์ด้วย, นอกจากส่งสินค้าแล้ว มีการเก็บขยะหรือของเหลือใช้จากโรงงานลูกค้ากลับมาด้วย

3.sustainability-การลงทุนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเอสซีจีกำลังสนใจเรื่อง circular economy เพราะจะเป็นประโยชน์ในระยะยาว

ทั้ง 3 มิตินี้นำไปสู่เรื่องคน โจทย์สำคัญเอสซีจีจะทำอย่างไรให้เกิด people transformation “…ต้องทำให้คน involve ในเรื่องของการ transform ธุรกิจ กล่าวคือนำคนที่อาจไม่มีทักษะเข้าไปลองทำงาน แล้วใช้เครื่องมือ (tools) เข้ามาช่วย สุดท้ายจะเกิดการเรียนรู้”

เอสซีบีมุ่งเข็มทิศ Venture Builder

หัวข้อเดียวกัน “อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า โจทย์ท้าทายเศรษฐกิจไทย ธุรกิจที่แข็งแรง คือ ธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ รักษาความสามารถในการแข่งขันไว้ได้ ขยายตัวไปในทิศทางที่บริษัทมีความชำนาญ แต่อาจไม่สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตใหม่ของประเทศ

“ตัวเลขคำขอสินเชื่อเอสเอ็มอีและธุรกิจขนาดใหญ่ที่ผ่านมา น้อยมากที่จะขอเงินไปลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา (R&D) เราเห็นด้วยว่าการลงทุนเป็นทางออกของประเทศ แต่เราขาดการดำเนินการอย่างจริงจังที่จะทำให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย และทำให้บริษัทไทยมีความแข็งแรงและมีความสามารถในการแข่งขัน”

ข้อเสนอแนะ คือ รัฐต้องสนับสนุนการสร้างทรัพยากรบุคคล-human capital ผ่านโรงเรียน หรือกระบวนการพัฒนาทักษะเชิงเทคนิค-technical skill เพื่อยกระดับให้คนมีทักษะ หรือ reskill ตรงกับความต้องการของตลาดที่ผ่านมาไทยพาณิชย์ชักชวนผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปลงทุนใน EEC ให้ออกไปศึกษาองค์ความรู้จากต่างประเทศ

ส่วนงบฯลงทุนในการเปลี่ยนผ่านองค์กร-transformation 40,000 ล้านบาท กันสัดส่วน 10-15% มาใช้ในการพัฒนาและ reskill บุคลากร

ปี 2563 ตั้งงบฯลงทุนอีก 20,000 ล้านบาท จัดตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อดึงองค์ความรู้เฉพาะด้าน โฟกัสดิจิทัลเทคโนโลยีในลักษณะร่วมมือเป็นพันธมิตร โดยมีบริษัท เอสซีบี เท็นเอ็กซ์ จำกัด (SCB10X) เป็นบริษัทแม่ ส่วนบริษัทลูก ได้แก่ บริษัท มันนิกซ์ จำกัด (MONIX), บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด (Digital Ventures) และบริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด (SCB Abacus)

“เราเรียกการลงทุนลักษณะนี้ว่า เป็น venture builder มีทั้งไปลงทุนกับคนอื่น และร่วมทุนกับพาร์ตเนอร์”

กัลฟ์ฯเชียร์รัฐทำเขตเศรษฐกิจพิเศษแข่งสิงคโปร์

สำหรับการเสวนาหัวข้อ “ทางออกประเทศ : ปีแห่งการลงทุน” เจ้าพ่อพลังงาน “สารัชถ์ รัตนาวะดี” กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ภาครัฐควรกล้าตัดสินใจลงทุนในโครงการหรือระบบสาธารณูปโภคที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศในระยะยาว มากกว่าคำนึงถึงผลกำไรจากการลงทุน

เช่น การลงทุนระบบน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว เพราะไทยมีปัญหา “น้ำท่วม-น้ำแล้ง”, การลงทุน 5G ทั้งนี้ รัฐบาลอาจปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนในลักษณะร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) หากเป็นโครงการที่มีมูลค่าการลงทุนสูง ผลดี ทำให้มีระบบสาธารณูปโภคที่พร้อมรับการลงทุนในอนาคตด้วย

“ปัจจุบันไทยยังเป็นประเทศที่นักลงทุนให้ความสนใจเข้ามาลงทุน จากประสบการณ์สัมผัสกับต่างชาติมี 4 ปัจจัยหลักที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน 1.เสถียรภาพทางการเมือง 2.การขอใบอนุญาตต่าง ๆ ที่ไม่เป็นอุปสรรค มีกฎหมายคุ้มครองนักลงทุนอย่างยุติธรรม 3.กำลังซื้อในประเทศ 4.ค่าเงินบาท”

ตัวอย่างที่ผ่านมา คู่แข่งไทยอย่างประเทศเวียดนาม มีการให้สิทธิประโยชน์อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น การแพทย์ ได้รับลดหย่อนภาษี 50 ปี ฯลฯ, เมียนมา ยังมีประเด็นการเมือง, สปป.ลาว น่าลงทุน แต่สัดส่วนการบริโภคในประเทศไม่มากนัก, สิงคโปร์ เป็นศูนย์กลางทางการเงิน

ข้อเสนอแนะ คือ ประเทศไทยควรทำ special economic zone-SEZ ถ้าทำทั้งประเทศไม่ได้ อย่างน้อยที่สุดเสนอให้เลือกเกาะภูเก็ต เพื่อแข่งขันดึงดูดการลงทุนต่างชาติกับสิงคโปร์

เฟรเซอร์สฯแนะเอกชนดึงเอกชนลงทุน FDI

สุดท้าย “ปณต สิริวัฒนภักดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด กล่าวว่า เข้ามารับผิดชอบบริหารเฟรเซอร์สฯ 10 ปี โดยมีฮับในสิงคโปร์ มีศักยภาพเติบโตในฐานใหญ่ 10 ประเทศ ขยายงาน 25 เมือง ครอบคลุม 70 ประเทศทั่วโลก

ตัวช่วยหลักหนุนการเติบโตมาจากการทำธุรกรรมการกู้เงินในสิงคโปร์ มีความคล่องตัว โดยเฟรเซอร์สฯเพิ่งกลับเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เมื่อ 3 ปีก่อน ภายใต้แบรนด์ “วัน แบ็งคอก” มูลค่าโครงการ 1.2 แสนล้านบาท บนที่ดินเช่า 100 กว่าไร่ จากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

เบื้องหลัง วัน แบ็งคอก มีพิมพ์เขียวโปรเจ็กต์ในมือ 6 ปีกว่า ในขณะที่มีการลงทุนจริง 1 ปีครึ่งในช่วงที่่ผ่านมา เหตุผลเพราะ “…โอกาสกลุ่มเฟรเซอร์สฯเปิดให้เลือกลงทุนได้ทั่วโลก และเป็นจังหวะที่เราเลือกกลับมาลงทุนในไทย ซึ่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มองง่าย ๆ ว่าจะลงทุนได้ต้องอยู่ที่ความเสถียรของประเทศ เพราะไม่ใช่คิดวันนี้แล้วจะเกิดได้ทันที”

ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งปลูกสร้าง ปูน เหล็ก ระดับความสำคัญยังแค่ 40% แต่น้ำหนักส่วนใหญ่ 60% คือ ซอฟต์แวร์ คือ พีเพิล นำไปสู่บทสรุปว่า เฟรเซอร์สฯไม่ใช่ธุรกิจแอสเสตคอมปะนี แต่เราเป็นพีเพิลคอมปะนี รู้และเข้าใจลูกค้ามากน้อยแค่ไหน

สำหรับปี 2020 “ปณต” มองว่า จากประสบการณ์ท่องโลกเพื่อแสวงโอกาสทางการลงทุน มองย้อนกลับประเทศไทย ข้อคิดเห็นตรงไปตรงมา คือ เรา (รัฐ-เอกชน) ยังไม่ได้ทำเรื่องการรวมพลังอย่างเต็มที่ แต่เห็นโอกาสของประเทศ เพราะไทยเป็นเป้าหมายที่คนอยากมาลงทุน มาอยู่อาศัย มาเยือน มาพักผ่อน


“ผมเองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำ FDI-foreign direct investment เข้ามาเมืองไทย เราเป็นส่วนหนึ่งของการดึงนักลงทุนต่างประเทศ แนวทางการทำธุรกิจยุคใหม่มองเรื่องการลงทุนอย่างยั่งยืน ระยะยาว ผมฟอลโลว์ในกรอบนั้นด้วย เราอยากโปรโมตเอฟดีไอเพราะต่างประเทศมีโนว์เลดจ์ที่ชัดเจน เป้าหมายชวนเขาเข้ามาอยู่และเติบโตในประเทศไทยด้วยกัน ไม่ใช่เข้ามาเอากำไรออกไปอย่างเดียว”