ผงะ 29 รง.น้ำตาลซื้ออ้อยไหม้ เกินลิมิตเพิ่มฝุ่นมลพิษ PM2.5

“สอน.” ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจทุกพื้นที่ชาวไร่-โรงงาน หลังครม.ออกมาตรการคุมเผาอ้อยลดฝุ่น PM 2.5 ใน 6 เดือน พบอ้อยไฟไหม้ลดเหลือ 48% จาก 60% พบ 29 โรงงานน้ำตาลอ้อยไฟไหม้เกินลิมิต เอกชนพร้อมร่วมมือลดอ้อยไฟไหม้หมดในปี 2565

นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินมาตรฐาน โดยตั้งเป้าหมายให้หมดไปในปี 2565 ทาง สอน.ได้เร่งดำเนินการเฝ้าระวัง พร้อมทั้งให้เจ้าหน้าที่เขตออกตรวจสอบพื้นที่ตามมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่จะคุมให้อ้อยไฟไหม้ในปี 2563 ไม่เกิน 50%

โดย ณ ปัจจุบันวันที่ 13 ม.ค. 2563 ฤดูการผลิต 2562/2563 มีอ้อยเข้าหีบ 35.65 ล้านตัน เป็นปริมาณอ้อยสดประมาณ 52% และอ้อยไฟไหม้ 48% ขณที่ภาคตะวันออกยังคงมีสัดส่วนอ้อยไฟไหม้สูงสุด คือ 53% แต่ทั้งนี้ยังคงมีโรงงาน 29 โรง จากทั้งหมด 57 โรงงาน ที่มีอ้อยไฟไหม้เกินกว่าที่กำหนด

“มาตรการมีความเข้มข้น โดยถ้าพบว่าหากในรถบรรทุกอ้อย 1 คัน มีอ้อยไฟไหม้ติดมาแค่เล็กน้อย เราก็ถือว่าเป็นอ้อยไฟไหม้ทั้งหมด ดังนั้นจริง ๆ แล้วอ้อยไฟไหม้จำนวน 17.219 ล้านตัน (48% ของ 35.65 ล้านตัน) อาจไม่ได้เป็นอ้อยไฟไหม้ทั้งหมด การควบคุมดังกล่าวจึงทำให้สัดส่วนอ้อยไฟไหม้ลดลง เกษตรกรเขาก็จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บอ้อยใหม่ให้เป็นอ้อยสด”

ในส่วนของโรงงานน้ำตาลทรายให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ แม้ยากในทางปฏิบัติที่กำหนดให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 50% เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้โรงงานห้ามปฏิเสธรับผลผลิตอ้อยจากชาวไร่ และหากปฏิเสธต้องเสียค่าปรับ 500,000 บาท หรือรับอ้อยไฟไหม้เกินกว่าที่กำหนดก็ต้องเสียค่าปรับ ดังนั้น ทางออกที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้แบบยั่งยืน เช่น การรับซื้อใบอ้อยเพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า การส่งเสริมการปล่อยสินเชื่อเพื่อรถตัดอ้อยในอัตราดอกเบี้ยต่ำ การช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิต

ล่าสุด 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลเปิดเผยข้อมูลว่า 45 วันที่ผ่านมาหลังเปิดหีบอ้อย ฤดูการผลิต 2562/2563 มีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้ว 36.85 ล้านตัน เป็นอ้อยสด 18.99 ล้านตัน และอ้อยไฟไหม้ 17.85 ล้านตัน นับว่าเป็นสัดส่วนอ้อยสดที่ดีขึ้น อ้อยไฟไหม้ลดลงเพราะต่ำกว่า 50% ในปริมาณอ้อยดังกล่าวสามารถผลิตน้ำตาลได้ 37.13 ล้านกระสอบ หรือน้ำตาล/ตันอ้อย 100.76 กก.

ทั้งนี้ ปริมาณอ้อยภาคเหนืออยู่ที่ 9.24 ล้านตัน มีอ้อยไฟไหม้ 4.26 ล้านตัน อ้อยสด 4.97 ล้านตัน, อ้อยภาคกลางอยู่ที่ 9.02 ล้านตัน เป็นอ้อยไฟไหม้ 4.74 ล้านตัน อ้อยสด 4.27 ล้านตัน อ้อยภาคตะวันออกอยู่ที่ 1.43 ล้านตัน อ้อยไฟไหม้ 0.18 ล้านตัน อ้อยสด 0.61 ล้านตัน, อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ 17.14 ล้านตัน อ้อยไฟไหม้ 8.02 ล้านตัน อ้อยสด 9.12 ล้านตัน

รายงานข่าวระบุว่า มาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ที่ ครม.เห็นชอบเมื่อเดือน มิ.ย. 2562 ประกอบด้วย 1.มาตรการทางกฎหมาย กำหนดให้โรงงานน้ำตาลลดสัดส่วนการรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบลง ในฤดูการผลิตปี 2562/2563 กำหนดให้โรงงานน้ำตาลจะรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 30% ต่อวัน และทยอยลดลงในฤดูถัดไปต้องไม่เกิน 20% ต่อวัน และฤดู 2564/2565 อ้อยไฟไหม้เข้าหีบเพียง 0-5% ต่อวัน 2.มาตรการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตร ผ่านโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจรปี 2562-2564 3.มาตรการขอความร่วมมือด้านการบริหารจัดการ เพื่อเป็นต้นแบบการเก็บเกี่ยวและการขนส่งอ้อยให้โรงงาน โดยกำหนดพื้นที่ปลอดการเผาอ้อยเป็นจังหวัดต้นแบบปลอดการเผาอ้อย ตัดอ้อยสด 100% ในแต่ละภาครวม 5 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี ชัยภูมิ เลย อุตรดิตถ์ การจัดการพื้นที่ลดการเผาอ้อยรอบชุมชนในรัศมี 5 กิโลเมตร และรอบโรงงานน้ำตาลในรัศมี 10 กิโลเมตร และกำหนดคิวรับอ้อยสดและอ้อยไฟไหม้