GULF เทงบฯลงทุน 2 โรงไฟฟ้า-ระบบน้ำไฟ

เป็นไปตามแผนที่บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ได้ประกาศไดเร็กชั่นว่าจะเดินหน้าการลงทุนโครงการในธุรกิจหลักด้านพลังงานทั้งในและต่างประเทศ และเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในโครงการที่เป็นประโยชน์กับสาธารณะตามนโยบายของภาครัฐ (public utility) โดยวางงบประมาณสำหรับการลงทุนปี 2563 ไว้ที่ 20,000 ล้านบาท

เริ่มเปิดศักราชใหม่ในเดือนมกราคม GULF เข้าลงทุน 3 โปรเจ็ค ในบริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (HKH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH) สัดส่วน 49% เพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง ขนาดกำลังการผลิต 1,400 เมกะวัตต์ (MW) ต.หินกอง จ.ราชบุรี ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2564 และแล้วเสร็จในปี 2567-2568

โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติกำลังการผลิต 540 เมกะวัตต์ ด้วยงบลงทุน 120 ล้านบาท ผ่านบริษัท บูรพา พาวเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ในปี 2570 และบริษัท แบงค็อก สมาร์ท เอ็นเนอร์จี จำกัด หรือ BSE ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้าระหว่าง GULF และ Mitsui & Co., Ltd. และ Tokyo Gas Engineering Solutions Corporation ได้ลงนามสัญญาเพื่อดำเนินโครงการระบบจำหน่ายกระแสไฟฟ้า ระบบผลิตน้ำเย็นแบบรวมศูนย์ (district cooling system) ให้โครงการ One Bangkok

นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยว่า เป้าหมายของการเข้าไปลงทุนในโครงการวัน แบงค็อก เพื่อจะวางระบบไฟฟ้า น้ำร้อน น้ำเย็น โรงรับ โครงการดังกล่าว ซึ่งหากมีโอกาสหลังจากนี้ก็ “อาจจะ” พิจารณาขยายการลงทุนไปยังโครงการอื่นด้วย

สำหรับแผนการลงทุนปีนี้บริษัทยังมุ่งแสวงหาโอกาสการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ในส่วนการขยายการลงทุนในต่างประเทศ ปัจจุบันกัลฟ์ลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 326 เมกะวัตต์ในโอมาน และมีแผนจะขยายกำลังการผลิตเพิ่ม เช่นเดียวกับเวียดนามที่ได้ลงทุนโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) กำลังผลิต 6,000 เมกะวัตต์ ขณะนี้รอเพียงความชัดเจนของแพลน master plan

“เราไม่ได้ลงทุนโดยฉวยจังหวะค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่เป็นการลงทุนตามแผนงาน และเพื่อกระจายความเสี่ยง แม้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะแข็งค่าในทิศทางเดียวแต่บริษัทได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยทำสัญญาซื้อขายเงินตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (forward) ไว้จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก สำหรับแผนการขยายการลงทุนออกไปต่างประเทศได้มีการหารือกับบริษัทพันธมิตร RATCH ไว้หลายโครงการ เพราะมองว่าไม่สามารถเดินทางไปลำพังได้ และที่สำคัญแต่ละคนก็มี resource ที่เชี่ยวชาญคาดว่าจะเห็นความร่วมมือการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในต่างประเทศของทั้งสองบริษัทอย่างแน่นอน”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทจะเน้นลงทุนในธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญอย่างธุรกิจไฟฟ้า แต่อีกด้านได้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในโครงการระบบสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นที่ฐานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ โดยขณะนี้จะเร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการที่ลงนามไว้ในปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1)

ซึ่งขณะนี้ได้ผู้รับเหมาก่อสร้างแล้ว คาดว่าในส่วนการถมทะเลและท่าเรือจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในไตรมาส 2 นี้ จะแล้วเสร็จในอีก2 ปีข้างหน้า วงเงินลงทุนก่อสร้างประมาณ12,900 ล้านบาท หลังจากนั้นจะลงทุนสร้าง LNG terminal คาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 3-4 ปี ส่วนการร่วมประมูลนำเข้า LNG หรือไม่ยังต้องรอความชัดเจนจากภาครัฐว่าจะดำเนินการอย่างไรจึงจะพิจารณาความเป็นไปได้ในการลงทุน ขณะที่การลงทุนในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งปีก่อนได้มีการร่วมลงทุนมอเตอร์เวย์ 2 เส้นทาง คาดว่าจะลงนามในเร็ว ๆ นี้

“สารัชถ์” ยังคงเน้นย้ำว่าจะไม่ลงทุนในธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักเว้นแต่จะเป็น public utility ที่ภาครัฐสนับสนุนให้เข้าร่วมเพื่อทำให้เกิดการแข่งขันราคาที่ดี ส่วนโอกาสที่จะลงทุนสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าตามนโยบายที่รัฐบาลสนับสนุนนั้น เขามองว่า “หากเป็นโครงการสำคัญที่รัฐบาลหวังจะกระตุ้นให้เกิดอย่างรถยนต์ไฟฟ้า รัฐต้องเป็นหัวหอกในการลงทุนพัฒนาสถานีชาร์จให้กระจายไปตามจุดต่าง ๆ ที่อยู่ไกล เช่นเดียวกับการส่งเสริม NGV ที่ ปตท.ต้องไปลงทุนสร้างท่อก่อนอย่างในอดีต จะทำให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา”