“คูโบต้า” ผุด “รถแทรกเตอร์ไฟฟ้าไร้คนขับ” ฝ่าดิสรัปชั่น

“คูโบต้า” ตอกย้ำความสำเร็จ 130 ปี เครื่องจักรกลเกษตร ฝ่า game change ยุคดิสรัปชั่น ทุ่มลงทุนปั้นเมืองซาไกสร้างโมเดลแทรกเตอร์แห่งอนาคตไร้คนขับไฟฟ้า

นายยูอิจิ คิตาโอะ ประธานและกรรมการบริหาร บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น กล่าวปาฐกถาในงาน130th Anniversary Event of KUBOTA &KUBOTA Exhibition ในวาระครบรอบ 130 ปี ว่า บริษัทวางแนวทางดำเนินธุรกิจโดยการพัฒนาสินค้าให้สอดรับเทรนด์โลกอีก 10 ปีข้างหน้า (2030) ทั้งด้านอาหาร น้ำ และสิ่งแวดล้อม โดยมีกลยุทธ์มุ่งเน้นการสร้างแบรนด์ชั้นนำระดับโลก GMB (global major brand) ให้เกิดขึ้นจริง ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาคูโบต้ามีรายได้รวม 1.8 ล้านล้านเยน แยกเป็นส่วนของฟาร์ม 83% มูลค่า 1.5 ล้านเยน

ส่วนอื่น 2.9 หมื่นล้านเยน ภูมิภาคที่ทำรายได้มากที่สุด คือ ญี่ปุ่น สหรัฐและเอเชียโดยคูโบต้าได้วางแผนระยะสั้น 5 ปี (mid term plan) ให้สอดคล้องกับแนวทางที่ต้องการมุ่งไปถึงในปี 2030 เนื่องจากปัจจุบันทั่วโลกต่างเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่า game change ในหลาย ๆ ธุรกิจของคูโบต้าได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่อง digital transfor-mation เข้ามาใช้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อปรับเปลี่ยนจากการเป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียวไปเป็นผู้ให้บริการโซลูชั่นแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้กับลูกค้า

“ในปี 2019 คูโบต้าได้ลงทุนก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งใหม่ในเมืองซาไก เพื่อวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ของ KUBOTA Innovation Center ในระดับโลก สินค้าที่ตอบโจทย์บริบทที่เปลี่ยน คือ แทรกเตอร์แห่งอนาคตไร้คนขับที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า”

นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า ตลอด 130 ปีที่ผ่านมา คูโบต้าพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเครื่องจักรทางการเกษตรอย่างต่อเนื่องตามแผน 10 ปีดังกล่าว โดยไฮไลต์สำคัญของงานแสดงนิทรรศการคูโบต้า คือ โมเดลแทรกเตอร์ไร้คนขับโลกแห่งอนาคต เทคโนโลยีขั้นสูงไร้คนขับทำงานด้วยระบบ AI จะเห็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในอนาคต เช่น แทรกเตอร์ไร้คนขับ ที่มีกำลังแรงม้าสูง ใช้พลังงานไฟฟ้าแทนน้ำมัน ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสามารถทำงานด้วยตนเอง มีระบบ internet of things (IOT) เข้ามาช่วย ส่วนในไทยได้เห็นชัดและเริ่มต้นไปแล้วด้วยระบบ KSAS (KUBOTA Smart Agri System)

“แต่ละบริษัทย่อยจะนำนโยบายบริษัทแม่มาปรับเพื่อผลักดันยอดขายภายใต้กฎระเบียบข้อจำกัดของท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น อเมริกา มีกฎหมายควบคุมมลพิษจากแทรกเตอร์”

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาบริษัทสยามคูโบต้าฯมีรายได้ตามเป้าจากปัจจัยบวกสินค้าเกษตรอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่ เพิ่มผลผลิต โดยสัดส่วนใหญ่ในประเทศ 60% อีก 40% ส่งออกเพื่อนบ้าน อเมริกาเหนือ และอินเดีย ที่ต้องการรถเกี่ยวจำนวนมาก และในรายได้ดังกล่าวยังเป็นสัดส่วนการจำหน่ายรถแทรกเตอร์กว่า 50% ที่เกษตรกรมีเป้าหมายซื้อเครื่องจักรเพื่อการทำนาเป็นส่วนใหญ่ 50% เช่นกัน ส่วนอื่น เช่น พืชสวน พืชไร่ ปศุสัตว์ ซึ่งสยามคูโบต้าฯ มีแผนจะขยายตลาดพืชผัก โดยได้เตรียมหารือบริษัท เจียไต๋ จำกัด เพื่อคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องจักรกลที่เหมาะสม

ในปี 2563 นี้บริษัทยังต้องหารือถึงเป้าหมายรายได้อีกครั้ง เพราะยังมีข้อกังวลต่อสถานการณ์ภัยแล้ง ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถทำนาปรังได้ และการทำนาปีอาจล่าช้าออกไป เบื้องต้นเพื่อรองรับปัญหาที่เกิดขึ้น บริษัทได้เตรียมรับมือด้วยการร่วมมือกับภาครัฐบาลสนับสนุนการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น ข้าวโพดหลังนาเพื่อทดแทนการนำเข้า การปลูกถั่วเหลือง ถั่วเขียวที่สามารถเป็นพืชบำรุงดิน เป็นต้น การส่งเสริมการทำแปลงใหญ่ ทั้งยังได้ร่วมโครงการลดเผาตอซังเพื่อลดปัญหาฝุ่นขนาดจิ๋วได้ นอกจากนี้บริษัทยังก่อตั้งคูโบต้าฟาร์ม เนื้อที่ 220 ไร่ ที่ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี เพื่อเป็นฟาร์มสร้างประสบการณ์เกษตรสมัยใหม่ของอาเซียน โดยใช้นวัตกรรมเกษตรครบวงจรอย่างต่อเนื่อง


“ปัญหาเงินบาทแข็งค่านั้น ส่งผลกระทบบ้างกรณีที่สยามคูโบต้าฯมีการส่งออกบางส่วน แต่จะไม่นำมาเป็นอุปสรรค เนื่องจากการส่งออกยังต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง บริษัทมองว่า ยิ่งการส่งออกในช่วงค่าเงินอ่อนกลับเป็นความท้าทายและสร้างความเข้มแข็งได้มากขึ้น และยิ่งทำให้มองเห็นโอกาสในการลงทุนนำเข้าเทคโนโลยีใหม่เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป”