บีโอไอผนึกพันธมิตรหนุนลงทุน ลุยถก “คลัง-ธ.ก.ส.” พลัสมาตรการเสริม

ปลุกลงทุนหนุนเศรษฐกิจฐานราก ชดเชยบาทแข็ง-งบประมาณช้า “บีโอไอ” รับนโยบายสมคิดผนึกพันธมิตรปรับมาตรการส่งเสริมการลงทุน ลุยถก “ธ.ก.ส.” ดันภาคเกษตรสู่สมาร์ทฟาร์มมิ่ง เพิ่มสิทธิประโยชน์เทียบเท่าอุตสาหกรรมยานยนต์ พร้อมถกคลังคลอดสิทธิประโยชน์บีโอไอใหม่ อีก 6 เดือน

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวในงาน “2020 ปีแห่งการลงทุน : ทางออกประเทศไทย” จัดโดยเครือมติชนว่า ภาพรวมการลงทุนของไทย หากย้อนกลับไปช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีอัตราการเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด โดยปี 2560 มียอดขอรับการส่งเสริม 1,547 โครงการ มูลค่า 610,510 ล้านบาท ปี 2561 มีจำนวน 1,517 โครงการ มูลค่า 814,860 ล้านบาท ปี 2562 มีจำนวน 1,624 โครงการ มูลค่า 756,100 ล้านบาท

“ตัวเลขของบีโอไอนี้จะคิดเป็นสัดส่วน 15% ของการลงทุนทั้งหมดของประเทศ สามารถสะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรม บริการ การลงทุนไปในทิศทางใด เพื่อนำไปกำหนดนโยบายส่งเสริม เดิมไทยส่งเสริมการลงทุนโดยมุ่งโฟกัสเรื่องที่ตั้ง (location) แต่หลังจากนั้นได้ปรับเปลี่ยนมาตรการให้สอดรับกับสถานการณ์ความต้องการการลงทุนของประเทศ เช่นปีก่อนมีโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้นักลงทุนที่ยื่นขอรับการส่งเสริมแล้วมีการลงทุนโดยเร็ว เป็นที่มาของการออกมาตรการ Thailand Plus ช่วงปลายปี 2562 คือ ต้องการให้โครงการขนาดใหญ่มูลค่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป หากนำเงินมาลงทุนภายในระยะเวลาที่กำหนดจะได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคล 50% เพิ่มอีก 5% จากเกณฑ์เดิมที่ได้อยู่”

ล่าสุด ขณะนี้บีโอไอกำลังปรับมาตรการส่งเสริมการลงทุน ร่วมกับกระทรวงการคลัง เตรียมออกมาตรการทางภาษีมาให้สิทธิประโยชน์เพิ่มจากเดิม เพราะสิทธิประโยชน์บีโอไอไม่ได้ครอบคลุมทุกกลุ่ม

“การใช้พลังจากคลังบวกกับบีโอไอจึงจะช่วยให้ไทยสามารถแข่งขันได้จากประเทศอื่น ๆ เร่งรัดการลงทุนภายใน 6 เดือนข้างหน้า ตามนโยบายรัฐบาลต้องการเร่งรัดการลงทุนเพื่อชดเชยความล่าช้าของการเบิกจ่าย พ.ร.บ.งบประมาณ และลดทอนผลกระทบจากค่าบาทแข็งค่ากระตุ้นให้เกิดการลงทุน”

พร้อมกันนี้ บีโอไอได้หารือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งถือเป็นหนึ่งหน่วยงานและเป็นเครื่องมือสำคัญ จะมีการสำรวจว่าชุมชนต้องการอะไร มีความพร้อมที่จะพัฒนายกระดับภาคเกษตรไปสู่สมาร์ทฟาร์มมิ่งได้มากน้อยเพียงใด เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงมาตรการเศรษฐกิจฐานราก

“การปรับเกณฑ์เงื่อนไขใหม่ และให้ได้รับสิทธิประโยชน์เทียบเท่ากับอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ และเปิดช่องให้ผู้ที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. ที่ไม่ได้ยื่นรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอสามารถขอใช้มาตรการหลังการปรับปรุงใหม่นี้ได้ ซึ่งเดิมมาตรการเศรษฐกิจฐานรากได้ถูกประกาศออกมาเมื่อปลายปี 2561 สิ้นสุด”

การขอยื่นรับการส่งเสริมภายในวันที่ 30 ธ.ค. 2563 จะให้สิทธิประโยชน์สำหรับนักลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมอยู่เดิม ต้องมีเงินลงทุนขั้นต่ำของแต่ละโครงการไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท โดยจะต้องสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สหกรณ์ หรือวิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่น ที่ดำเนินกิจการด้านการเกษตรและเกษตรแปรรูป กิจการในอุตสาหกรรมเบา กิจการท่องเที่ยวชุมชน ไม่น้อยกว่า 2 แสนบาท ต้องมีแผนความร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่นในการสนับสนุน เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิตหรือให้บริการ โดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี นับตั้งแต่วันออกบัตรส่งเสริมซึ่งจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็นสัดส่วนไม่เกิน 120% ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน)

ขณะนี้รัฐบาลมีมาตรส่งเสริมการลงทุนในระดับท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยมุ่งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการสนับสนุนกิจการขององค์กรท้องถิ่นในกิจการด้านการเกษตรและเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมเบา กิจการท่องเที่ยวชุมชน ตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งให้เกิดการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

ทั้งนี้ ความท้าทายของการส่งเสริมการลงทุนคือจะทำอย่างไร เพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด นับตั้งแต่ปี 2558-2561 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไทยอยู่ที่อันดับ 4 ในอาเซียน สะท้อนว่านักลงทุนยังคงมุ่งเป้ามาที่ไทย แต่ไทยจะทำอย่างไรให้เกิดการลงทุนเพื่อพัฒนาคนให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ตามการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 บีโอไอจึงมีการให้สิทธิประโยชน์เอกชนที่มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการพัฒนาคนเพิ่ม เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนผ่าน (transformation) เพราะหากรัฐพัฒนาฮาร์ดแวร์แล้วไม่มีซอฟต์แวร์ก็ไม่เกิดประโยชน์

เช่นเดียวกับการส่งเสริมให้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา ซึ่งเดิมมีสัดส่วนคำขอปีละ 20 โครงการ จากภาพรวมทั้งหมด 1,000 โครงการ เราต้องการเพิ่มสัดส่วนตรงนี้ให้มากขึ้น และการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มเอสเอ็มอีก็ถือเป็นอีกโจทย์สำคัญ เพราะเอสเอ็มอีบางกลุ่มต้องกลายเป็นอุตสาหกรรมซันเซตไม่สามารถปรับเปลี่ยนและแข่งขันได้ รัฐบาลต้องการสนับสนุนให้เอสเอ็มอีให้เกิดความเข้มแข็ง