เกษตรฯ เข้มเผาตอซัง-กรมชลฯวอนประหยัดน้ำชี้อ่างใหญ่เหลือแค่ 1.8พัน ล้านลบ.ม.

นายชาตรี บุญนาค รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า การรณรงค์หยุดเผาตอซัง กรมส่งเสริมการเกษตร พบว่าเกษตรกรให้ความร่วมมือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกว่า 80% และหันมาวิธีการไถกลบแทน แต่ในปีนี้เนื่องจากภัยแล้งมีความรุนแรง พื้นที่นาแห้งและแข็งอย่างรวดเร็ว การไถกลบไม่สามารถทำได้ เกษตรกรจึงใช้วิธีการเผาทำลาย ทำให้ผลการรณรงค์การลดเผาตอซัง ขณะนี้ทำได้ประมาณ 70-75% สำหรับ มลพิษที่เกิดการเผาทำลายตอซังดังกล่าว เป็นฝุ่นควันขนาดใหญ่ หรือพีเอ็ม 10 และภาคการเกษตรมีส่วนสร้างมลพิษที่เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพฯเพียง 5% เท่านั้น

จากพื้นที่ทำการเกษตรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยการเผาในพื้นที่เกษตรจะทำให้ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กสะสมเพิ่มขึ้น รวมถึงการเผาในพื้นที่การเกษตรยังเป็นการทำลายโครงสร้างและความอุดมสมบูรณ์ของดินและส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชด้วยเช่นกัน

นายชาตรี กล่าวต่อว่า สำหรับ ผลการดำเนินงานในปี 2562 ที่ผ่านได้เพิ่มพื้นที่ดำเนินการอีกกว่า 26 จังหวัด โดยมอบให้กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานในสังกัดระดับพื้นที่ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนเกษตรเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร สร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรจำนวน 15,720 ราย เพื่อสร้างเป็นวิทยากรด้านการทำการเกษตรปลอดการเผารวมทั้งสร้างชุมชนเกษตรปลอดการเผาต้นแบบ จำนวน 166 แห่ง ดำเนินการในพื้นที่ 26 จังหวัด ซึ่งพบว่ามี 16 จังหวัดที่มีการเผาในพื้นที่การเกษตรที่สูง อาทิ กาญจนบุรี ลพบุรี สกลนคร และอุดรธานี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการไปยังจังหวัดแล้ว ให้เร่งดําเนินการควบคุม กํากับดูแล และเข้มงวดไม่ให้เกิดการเผาในพื้นที่การเกษตรในความรับผิดชอบอย่างเคร่งครัด และเร่งสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบจากการเผาในเวทีถ่ายทอดความรู้ต่างๆ รวมทั้งให้ความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ในการแก้ไขและป้องกันปัญหาหมอกควันที่เกิดจากการเผา และฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ ตลอดจนให้การสนับสนุนมาตรการ ที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร

ขณะที่ นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) เปิดเผยว่า ในโค้งสุดท้าย 100 วันของฤดูแล้งที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เมษายนนี้ มีปริมาณน้ำที่ใช้การได้ในเขตลุ่มเจ้าพระยา ที่มาจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 เขื่อน คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพียง 3,931 ล้านลูกบากศ์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 22% ของปริมาณน้ำใช้การได้

ดังนั้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกันไว้เพื่อการบริโภคอุปโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ซึ่งตามแผนของกรมฯ จะระบายน้ำใน 100 วัน ก่อนสิ้นสุดฤดูแล้งรวมประมาณ 1,800 ล้าน ลบ.ม. หรือวันละ 18 ล้าน ลบ.ม. โดยจะระบายเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพื่อไล่น้ำเค็มในวันที่ 24-26 มกราคม 2563 แต่จะอยู่ในปริมาณที่ไม่เกินจากแผน กรณีที่การไล่น้ำเค็มต้องการใช้น้ำมากกว่านี้ กรมฯจะผันน้ำจากแม่กลอง ที่ขอไว้ในปีนี้รวม 850 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ไปแล้ว 350 ล้านลบ.ม. ทั้งนี้ ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนที่อาศัย อยู่ตามแนวคลองส่งน้ำต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ให้งดการใช้น้ำในระยะนี้ ยกเว้นการใช้น้ำเพื่อผลิตประปาตามรอบเวรที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม กรมฯ จะดำเนินการบริหารจัดการน้ำตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอใช้ต่อการอุปโภคบริโภค การผลิตประปา และรักษาระบบนิเวศ ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า