ไทยที่ 3 ลงทุนเมียนมา โอกาสเปิดกว้าง ถือหุ้นได้ 100%

Photographer: Taylor Weidman/Bloomberg via Getty Images

แม้ว่าธนาคารโลกจะจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ “Ease of Doing Business 2019” ให้เมียนมาอยู่ที่ 171 จาก 190 ประเทศทั่วโลก จากการชี้วัดด้านต่าง ๆ อาทิ การเริ่มต้นธุรกิจ, การขออนุญาตก่อสร้าง, การขอใช้ไฟฟ้า, การจดทะเบียนทรัพย์สิน, การได้สินเชื่อ, การคุ้มครองผู้ลงทุน, การชำระภาษี, การค้าระหว่างประเทศ, การแก้ปัญหาการล้มละลาย และการบังคับให้เป็นไปตามสัญญา แต่น่าจับตามองว่าใน “เมียนมา” ได้มีการวางเป้าหมายจะปรับสถานะให้ก้าวขึ้นสู่อันดับที่ 100 ภายในปี 2563-2564 และสู่อันดับที่ 40 ภายในปี 2578-2579

กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา

เมียนมาขุมทองนักลงทุน

ในงานสัมมนา เมียนมา 2020 : มิติการเปลี่ยนแปลงกับโอกาสของธุรกิจไทย ซึ่งจัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อเร็ว ๆ นี้ “นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์” ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา กล่าวว่า เมียนมายังเป็นประเทศที่น่าลงทุน เพราะปัจจุบันเมียนมามีประชากร 60 ล้านคน และคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ ปี 2563 จะขยายตัว 6.8%

“แม้รายได้ต่อหัวของประชากรเมียนมาจะไม่สูงมากนัก แต่หากดูแนวโน้มและการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานภายในเมียนมาที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตเมียนมาอาจจะเป็นทั้ง “ตลาด” ที่มีศักยภาพ และยังสามารถเป็น “ฐานการลงทุนเพื่อผลิตและส่งออกไปยังประเทศที่ 3 โดยใช้สิทธิประโยชน์ในการลดภาษีศุลกากร และอาศัยจำนวนแรงงานที่มีอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเพียง 90 บาทต่อคนต่อวัน และมีจำนวนแรงงานฝีมือที่พัฒนาขึ้นด้วย”

Photo credit should read ROBERTO SCHMIDT/AFP via Getty Images

ไทยท็อป 3 ลงทุนเมียนมา

ทั้งนี้ ปัจจุบัน “ไทย” เป็นนักลงทุนอันดับ 3 ที่เข้าไปในเมียนมา รองจากสิงคโปร์ และจีน แต่ผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปลงทุนส่วนใหญ่เป็นรายใหญ่ เช่น บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (เอสซีจี) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น ขณะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs ของไทยยังมีสัดส่วนไม่มากนัก

ประเภทอุตสาหกรรมที่ต่างชาติสนใจลงทุนในเมียนมามากที่สุด ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2018-2019 (ตุลาคม 2561-พฤษภาคม 2562) อันดับที่ 1 คือ การคมนาคมและการสื่อสาร อันดับที่ 2 คือ อุตสาหกรรมการผลิต อันดับที่ 3 ภาคพลังงาน อันดับที่ 4 โรงแรมและการท่องเที่ยว และอันดับที่ 5 อสังหาริมทรัพย์ สำหรับธุรกิจที่มีโอกาสสูงในตลาดนี้ ประกอบด้วย สินค้าอุปโภคบริโภค ยา เครื่องสำอาง อุปกรณ์ไอที กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มฝึกอบรม กลุ่มการศึกษา เป็นต้น

เปิดนักลงทุนถือหุ้น 100%

ด้วยกฎระเบียบกฎหมาย หรือเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เริ่มเปิดกว้าง เพื่อดึงดูดการลงทุนมากขึ้น โดยให้สิทธิประโยชน์สำหรับนักลงทุนต่างชาติให้สามารถถือหุ้นได้ถึง 100% หรือจะเข้าไปลงทุนในลักษณะคู่ค้าก็สามารถทำได้ ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนสนใจที่จะขยายโอกาสในการส่งออกหรือขยายตลาดในเมียนมาเป็นโอกาสที่ดีที่ควรจะเข้าไปทำตลาด ส่วนประเด็นที่ผู้ประกอบการยังกังวลเกี่ยวกับความพร้อมของระบบสาธารณูปโภค และระบบโลจิสติกส์นั้น ปัจจุบันเมียนมามีการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ระบบคมนาคม เพิ่มขึ้นอย่างมาก

สำหรับมูลค่าการค้าไทยและเมียนมา 5 เดือน (มกราคม-พฤษภาคม) 2562 เท่ากับ 3,188.69 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.43% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ไทยส่งออกมูลค่า 1,888.32 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้ามูลค่า 1,300.37 ล้านเหรียญสหรัฐ

สินค้าสำคัญที่ส่งออกไปเมียนมา ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องดื่ม เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของ เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญจากเมียนมา ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป สัตว์มีชีวิตไม่ได้ทำพันธุ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น