เร่งเครื่อง”ทีมไทยแลนด์พลัส” ดึง”อินเดีย”เข้า RCEP กู้ส่งออกชะลอตัว

“พาณิชย์” เตรียมเปิดเวทีระดมสมองเอกชนวางเป้าส่งออกรายสินค้า 29 ม.ค. 63 ก่อนถกทูตพาณิชย์ “สภาหอการค้าฯ” หวั่นใจโอกาสติดลบสูง หลัง First Trade Deal สหรัฐ-จีน เปิดทางนำเข้าสินค้าสหรัฐแข่งไทย 2 แสนล้าน หนุน ใช้ “Team Thailand Plus-เร่งเซ็น RCEP” ดันส่งออก

สนั่น อังอุบลกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 29 มกราคม 2563 ภาคเอกชนจะประชุมร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อประเมินสถานการณ์การส่งออกรายสินค้า ก่อนจะมีการประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลกในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ (จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) เป็นประธานมอบนโยบายกำหนดทิศทางการส่งออก โดยเบื้องต้นเอกชนมองว่าการส่งออกปี 2563 มีโอกาสติดลบ ดังนั้นในการประชุมครั้งนี้ นอกจากการวางเป้าหมายการส่งออกรายอุตสาหกรรมแล้ว ยังจะต้องร่วมกันกำหนดแผนทำตลาดหลายประเทศด้วย

“เอกชนให้ความสำคัญเรื่องการดูแลปัญหาค่าเงินบาท ปัจจุบันยังแข็งค่าระดับ 30.45 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และภาครัฐเร่งส่งเสริมการลงทุนช่วยลดปัญหาค่าเงินบาทแข็ง ซึ่งต่อไปการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศไม่ควรอิงกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินหลักมากเกินไป ควรหันมาใช้สกุลเงินอื่น ๆ ด้วย เช่น บาท หยวน หรือยูโร เป็นต้น หรือใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการค้าชายแดนให้มากขึ้น ทั้งยังมีปัจจัยผลกระทบจากภัยแล้งต่อผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง เช่น ข้าว ปัจจัยสถานการณ์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องสงครามการค้าสหรัฐและจีน หลังจากลงนามข้อตกลงทางการค้ารอบที่หนึ่ง ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและอิหร่านที่จะกระทบต่อราคาน้ำมันให้มีแนวโน้มสูงขึ้น และความไม่แน่นอนเรื่องที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเช่นกัน”

สำหรับผลวิเคราะห์การลงนามข้อตกลงทางการค้ารอบที่หนึ่ง (First Trade Deal) ซึ่งสหรัฐและจีนลงนามไปเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สาระสำคัญข้อตกลงนี้ระบุว่า จีนจะซื้อสินค้าและบริการจากสหรัฐเพิ่มขึ้นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ภายในเวลา 2 ปี นับจากวันที่ 1 ม.ค. 2563-31 ธ.ค. 2564 และสองฝ่ายจะมีความร่วมมือด้านสินค้าเกษตรและอาหาร ลดอุปสรรคการค้า สนับสนุนการขยายตลาดสินค้าสหรัฐ เช่น ผลิตภัณฑ์นม อาหารทารก สัตว์ปีก เนื้อสัตว์ สินค้าประมง ข้าว อาหารสัตว์ พืชสวน และผลิตภัณฑ์เกษตรชีวภาพ

“ความตกลงด้านการลดภาษีนำเข้าจากจีน อาจทำให้ไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐได้น้อยลงในอนาคต เนื่องจากสินค้าจีนจะกลับเข้าไปในตลาดสหรัฐมากขึ้น ไทยควรเร่งใช้โอกาสในการทดแทนสินค้ากระชับมิตรกับผู้นำเข้า ควบคู่กับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐและจีน”

สำหรับกลุ่มสินค้าส่งออกไทยที่ทดแทนสินค้าจีน ได้แก่ สินค้าเกษตรกรรม อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป เคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติก ยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักร เครื่องมือ และส่วนประกอบ เหล็กและอะลูมิเนียม และของใช้ในบ้านและสำนักงาน กลุ่มสินค้าส่งออกไทยที่ทดแทนสินค้าสหรัฐ ได้แก่ อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เครื่องประดับ และเครื่องสำอางต่อนโยบายแผนการผลักดันการส่งออก 18 ตลาดเป้าหมายโดยกระทรวงพาณิชย์

ซึ่งประกอบด้วย อินเดีย ญี่ปุ่น แอฟริกาใต้ ฮ่องกง จีน เวียดนาม ฝรั่งเศส อังกฤษ ตะวันออกกลาง รัสเซีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ติมอร์-เลสเต เกาหลี บังกลาเทศ มัลดีฟส์ กัมพูชา ปากีสถาน และศรีลังกา ครอบคลุมทั้งตลาดเดิม และตลาดใหม่ เพียงพออยู่แล้ว แต่เนื่องจากสถานกงสุลใหญ่ไทยในหลายประเทศมีขอบเขตที่ต้องรับผิดชอบในหลายพื้นที่ ทำให้การดูแลผลักดันส่งเสริมการค้าไม่ทั่วถึง ดังนั้น เราต้องการให้ทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในลักษณะ Team Thailand Plus ให้มากขึ้น

นอกจากนี้ หากรัฐบาลเร่งลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ในต้นปีนี้ตามแผน และสามารถดึงอินเดียกลับสู่การเจรจาได้ จะช่วยเปิดการค้าเสรีสินค้า บริการ และแรงงาน ในกลุ่มประเทศที่มีประชากรรวมกันกว่า 3,500 ล้านคน เกือบครึ่งของประชากรโลก มีมูลค่า GDP รวมกันกว่า 27.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 32.3% ของ GDP โลก มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 29.3% ของมูลค่าการค้าโลก นอกจากนี้การลงทุนจะทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตและมีการลงทุนมากขึ้น

“ในช่วงก่อนที่ลงนาม RCEP หากสามารถหารืออินเดียให้กลับมาร่วมลงนามได้ จะทำให้ RCEP เป็นความตกลงที่มีศักยภาพมากที่สุด เพราะขนาดเศรษฐกิจอินเดียในปี 2562 โตขึ้นเป็นอันดับ 5 ของโลก ดังนั้นการเข้าร่วมของอินเดียใน RCEP จะยิ่งเป็นการขยายทั้งตลาดและความหลากหลายทางการผลิตมากยิ่งขึ้น ผมจึงขอเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยเร่งรัดเจรจากับอินเดียให้เข้าร่วม RCEP ให้ทันการลงนามความตกลงในปี 2563 นี้ด้วย”

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ในการหารือกับกระทรวงพาณิชย์ ยังประเมินปีนี้กลุ่มอาหารน่าจะขยายตัว 5% จากช่วง 11 เดือนแรก 2562 ติดลบ 2.7% มูลค่าอยู่ที่ 227,090 ล้านบาท โดยกลุ่มอาหารแปรรูปยังคงเติบโตอย่างโดดเด่นในปีนี้ และมีสินค้าอาหารเทรนด์ใหม่ที่ตลาดยังต้องการนำเข้า อาทิ โปรตีนแทนเนื้อสัตว์ อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ อาหารสำหรับผู้สูงอายุ อาหารที่มีโภชนาการเฉพาะบุคคล อาหารที่ใช้วัตถุดิบและส่วนผสมจากท้องถิ่น อาหารแปรรูปจากแมลง และอาหารที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เป็นต้น

ส่วนกลุ่มอาหารที่อาจจะติดลบ เช่น ข้าว ผลไม้สด เนื่องจากปัญหาแหล่งวัตถุดิบประสบภัยธรรมชาติทำให้ผลผลิตลดลง ภาครัฐอาจต้องหันมาส่งเสริมให้มีการนำเข้าวัตถุดิบมาทดแทน จะช่วยให้การส่งออกปรับตัวดีขึ้น สำหรับแนวทางการทำตลาดต้องให้ความสำคัญในเรื่องการวางเรื่องราว หรือ story สินค้าอาหารจะผลักดันให้เป็นสินค้า premium มูลค่าสูง โดยเฉพาะกลุ่มผลไม้น่าจะเป็นสินค้ากลุ่มแรกที่ทำได้