กนอ.ปั้นบริษัทลูก IEATinter ผนึก”เอกชน-รัฐวิสาหกิจ”ลงทุนนิคมนอก

แฟ้มภาพ

กนอ.จ่อผนึกกำลังเอกชน “ปตท.-อมตะ-WHA” ลุยลงทุนต่างประเทศ ภายใต้ชื่อ “การนิคมอินเตอร์” หรือ “IEAT inter” ปักหมุดประเทศเพื่อนบ้าน หลังบังคับใช้ พ.ร.บ.การนิคมใหม่ เร่งร่างกฎหมายลูกคาดเสร็จทันกลางปี”63 ด้าน “อมตะ” เผยสนใจ ส่วน WHAยังขอเวลา ลุ้น ปตท.ตอบรับ

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจาก พ.ร.บ.การนิคม พ.ศ. 2562 ประกาศใช้แล้ว จากนี้ได้เริ่มเข้าสู่ขั้นตอนของการร่างกฎหมายลูกอีก 5-6 ฉบับ เพื่อทยอยออกมากำหนดใช้อย่างสมบูรณ์ทั้งหมด โดยเฉพาะการร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการออกไปลงทุนต่างประเทศ ที่ขณะนี้ได้เร่งให้เห็นอย่างเร็วที่สุดกลางปี 2563

ทั้งนี้ กฎหมายใหม่กำหนดให้ กนอ.สามารถตั้งบริษัทลูกขึ้นมาได้ เพื่อขยายการลงทุนออกไปยังต่างประเทศ โดยรูปแบบการตั้งบริษัทได้หลายรูปแบบ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการดึงเอกชนรายใหญ่ที่มีศักยภาพ มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม และมีความเชี่ยวชาญในการลงทุนต่างประเทศ เบื้องต้น กนอ.จะเข้าเจรจากับเอกชนที่เป็นพาร์ตเนอร์เคยจับมือทำโครงการร่วมกับทาง กนอ.อยู่แล้ว อาทิ เตรียมหารือกับทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่มีความสามารถในการลงทุนต่างประเทศ, บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เชี่ยวชาญและเป็นผู้นำในการบริหารจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ

สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“เราต้องหาเอกชนรายใหญ่มาร่วมทุนเขาจะช่วยเราดูทั้งเรื่องเม็ดเงิน ประเทศที่จะไปลงทุน เพราะเอกชนเหล่านี้เก่ง มีเครือข่าย เราอาจมีงบประมาณน้อยการร่วมทุนกันจึงเป็นรูปแบบที่ดี”

สำหรับประเทศที่เหมาะสมออกไปลงทุน ขณะนี้มีคณะทำงานทำการศึกษาเรื่องนี้อยู่ และเป้าหมายหลักจะยังคงเป็นประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ส่วนกฎระเบียบและกฎหมายในแต่ละประเทศนั้น ๆ จะกำหนดให้ลงทุนได้ทั้งหมด 100% หรือต้องมีความร่วมมือกับรัฐบาลหรือเอกชนในท้องถิ่นด้วยหรือไม่นั้น จะอยู่ในผลของการศึกษาทั้งหมด ที่จะเร่งสรุปภายในปี 2563-2564 ในส่วนของร่างกฎหมายลูกฉบับอื่น ๆ ที่จะตามมาอีก 4 ฉบับ ประกอบด้วย กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน, กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร, กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข และกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ที่ กนอ.มีอำนาจในการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบ หรือเป็นผู้มีอำนาจในการรับจดทะเบียนหรือรับแจ้งตามกฎหมายได้

วิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การร่วมทุนกับ กนอ.เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และเป็นไปได้ที่จะดึงเอกชนมาถือหุ้น เพราะการออกไปลงทุนต่างประเทศ อมตะฯมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้มีการลงทุนนิคมอุตสาหกรรมที่เวียดนามถึง 3 แห่ง

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวว่า การจะร่วมทุนครั้งนี้ยังไม่ได้มีการตัดสินใจ และต้องใช้เวลาในการพิจารณา ซึ่งต้องรอให้มีการหารือกับ กนอ.ก่อน อย่างไรก็ตาม WHA เองมีการลงทุนในต่างประเทศอยู่แล้ว และมีความเชี่ยวชาญในการให้บริการด้านโลจิสติกส์ครบวงจร คลังสินค้า นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งการลงทุนต่างประเทศถือเป็นการขยายกลุ่มลูกค้า

รายงานข่าวระบุว่า สำหรับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คาดว่า กนอ.จะเข้าหารือในไม่ช้า หลังจากที่ทั้ง 2 ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อศึกษาพัฒนาธุรกิจใหม่ ในการให้บริการระบบดิจิทัล หรือ Industrial Transformation PlatformProgram (ITP program) ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนกลางให้แต่ละภาคส่วนได้พบปะกัน เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในแพลตฟอร์มดิจิทัล ช่วยให้ผู้ประกอบการ โรงงานทั้งในและนอกนิคมเข้าถึงมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ อาทิ การขอรับการส่งเสริมการลงทุน การขอรับคำปรึกษา การประเมินความพร้อมและความคุ้มค่าในการลงทุน และการจัดหาแหล่งเงินทุนและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ