สภาเกษตรผวา หวั่นหลักเกณฑ์แก้ปัญหารุกล้ำลำน้ำกระทบเกษตรกร

สภาเกษตรกรแห่งชาติผวา ขอหารือกรมเจ้าท่า หวั่นหลักเกณฑ์รายละเอียดการแก้ปัญหาการรุกล้ำลำน้ำกระทบเกษตรกร ด้านสมาคมการประมงฯจับมือสภาเกษตรกรฯ และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดโครงการฝึกแรงงานไทยทดแทนต่างด้าว 50% ใน 5 ปี

นายสิทธิพร จริยพงศ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า แม้กรมเจ้าท่าจะไม่ลงโทษและปรับย้อนหลังแก่ผู้รุกล้ำลำน้ำตามบทบัญญัติพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 การไม่เก็บค่าธรรมเนียมผู้เลี้ยงปลาในกระชังและการลดค่าเช่ารายปีแก่ผู้รุกล้ำลำน้ำลง แต่รัฐต้องประกาศรายละเอียดให้ชัดเจน เพราะผู้เลี้ยงปลาในกระชังทั่วประเทศมีไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นครัวเรือน ที่เป็นห่วงคือ กลัวภาครัฐกำหนดหลักเกณฑ์ให้เลี้ยงไม่เกิน 4 กระชัง กระชังละกี่ตารางเมตร รวมทั้งชนิดของปลาด้วย

ด้าน นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่กังวลในรายละเอียดที่ไม่ชัดเจนที่จะออกมาในเร็ว ๆ นี้จากกรมเจ้าท่า คือ แม้ไม่เก็บค่าธรรมเนียมผู้เลี้ยงปลาในกระชังรายปี แต่กังวลว่าการขออนุญาตอาจไปขัดกับผังเมืองจังหวัดกับกฎระเบียบการควบคุมอาคาร แม้อธิบดีกรมเจ้าท่าแจ้งว่า ไม่ต้องให้วิศวกรเขียนแบบกระชังปลาที่ต้องเสียเงินประมาณ 3,000 บาทขึ้นไป เขียนแบบเองก็ได้ สภาเกษตรกรแห่งชาติ และสมาคมการประมงฯจึงต้องหารือกับกรมเจ้าท่าก่อนออกรายละเอียดในหลักเกณฑ์ อาทิ เสาเลี้ยงหอยในทะเลหรือลำน้ำ การสร้างกระเตง (กระท่อมเฝ้าหอยในทะเล) บันไดที่ลงจากท่าเทียบเรือ บ้านเรือนที่รุกล้ำไม่มีบ้านเลขที่ การซ่อมแซมเสาหรือฝาบ้านที่รุกล้ำโดยไม่มีการต่อเติมใหม่ ทำได้หรือไม่ เป็นต้น

ส่วนปัญหา พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ทำให้แรงงานต่างด้าวไหลกลับประเทศ ส่งผลให้เจ้าของเรือประมงขาดแคลนแรงงานนั้น สภาเกษตรกรฯ จะทำหนังสือถึงรัฐบาลให้เปิดรับขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวตลอดระยะเวลาผ่อนผันการจับกุม 180 วัน ไม่ใช่รับเฉพาะวันที่ 24 ก.ค.-7 ส.ค. 2560 เนื่องจากแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายจำนวนมากจนอาจดำเนินการไม่ทัน ควรรับขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวสีเทาที่บัตรหมดอายุและสีดำที่ไม่มีหลักฐานอะไรเลย เพื่อนำแรงงานเหล่านี้เข้าสู่ระบบ

“นายจ้างควรพาลูกจ้างแรงงานต่างด้าวไปพิสูจน์สัญชาติที่ศูนย์รับขึ้นทะเบียนใช้เวลาประมาณ 1-2 ชม. ค่าทำพาสปอร์ต 1-2 พันบาท ค่าทำวีซ่าเข้าเมือง 450 บาท และการขอใบอนุญาตทำงานอีก 550 บาท ดีกว่าปล่อยให้แรงงานไหลกลับประเทศ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนตัวสูงถึง 1 หมื่นบาท และหากกลับมาไทยก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมมาทำงานเพิ่มอีก 2 หมื่นบาท และใช้เวลานาน อาจทำให้นายจ้างเดือดร้อนในการผลิต”


ขณะเดียวกัน สมาคมร่วมมือกับสภาเกษตรกรฯ และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดโครงการฝึกแรงงานไทยทดแทนต่างด้าวที่ขาดแคลน โดยให้สภาเกษตรกรฯช่วยจัดหาแรงงานในแต่ละจังหวัดมาฝึกเป็นแรงงานประมงที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสมาคมการประมงฯ ให้ค่าจ้างรายเดือนเดือนละไม่ต่ำกว่า 1.2 หมื่นบาท ไม่รวมสวัสดิการต่าง ๆ การประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ถ้าจ่ายเป็นค่าแรงงานรายวันขั้นต่ำ 400-1,000 บาท โดยวางเป้าหมายว่า ภายใน 5 ปีจะช่วยให้มีแรงงานไทยเพื่อมาทดแทนต่างด้าวสูงถึงประมาณ 50%