หอการค้าไทยชงลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเจ็ท/ร้านอาหาร-ภาษีนำเข้าไวน์ หนุนธุรกิจ

หอการค้าไทย พบ รมว.คลัง ถกประเด็นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเจ็ท-ร้านอาหาร ลดภาษีนำเข้าไวน์ หวังส่งเสริมธุรกิจ
 
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการนำคณะกรรมการเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายอุตตม สาวนายน) พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงฯ เพื่อหารือ และผลักดันข้อเสนอประเด็นภาษีในการขับเคลื่อนแนวทางส่งเสริมการประกอบธุรกิจ
 
โดยหอการค้าได้เสนอประเด็นกระทรวงการคลังพิจารณประเด็นปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน (น้ำมันเจ็ท) ปัจจุบัน สายการบินฯ ได้รับผลกระทบจากอัตราการจัดเก็บภาษีน้ำมัน จากเดิม 0.20 บาท/ลิตร มาเป็น 4.70 บาท/ลิตร ทำให้มีต้นทุนภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 23% หากปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการประกอบการ สามารถนำนักท่องเที่ยวเดินทางสู่ต่างจังหวัดได้มากขึ้น ซึ่งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง และสร้างโอกาสให้ภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทย พร้อมทั้งเสนอการปรับปรุงระบบภาษีสรรพสามิต สำหรับการประกอบการร้านอาหาร (กรณีปิดร้านช่วงก่อนเที่ยงคืน และ หลังเที่ยงคืน) ปัจจุบันผู้ประกอบการร้านอาหาร ซึ่งมีการจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม และ มีการแสดงดนตรี หรือ การแสดงอื่นเพื่อการบันเทิง ที่ปิดทำการหลังเวลา 24.00 น. ถูกจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นอีก จากเดิมจัดเก็บเฉพาะผับและบาร์ ประเด็นนี้ขอหารือให้กระทรวงฯพิจารณาทบทวนแนวปฏิบัติต่อการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต สำหรับการประกอบการร้านอาหารกรณีดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง
 
ขณะเดียวกันจะเสนอให้มีการทบทวนภาษีนำเข้า สำหรับสินค้าสุราชนิดไวน์ เนื่องจากปัจจุบันมีคนลักลอบนำเข้าสุราชนิดไวน์โดยไม่เสียภาษีเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเนื่องจากภาษีนำเข้าค่อนข้างสูง จึงเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนอัตราภาษี สำหรับสินค้าสุราชนิดไวน์ ให้สามารถแข่งขันได้ โดยปัจจุบันมีโครงสร้างอัตราภาษีสุราชนิดไวน์ที่นำเข้าหลายอัตราและค่อนข้างสูง หากสามารถลดการลักลอบนำเข้าได้จะเพิ่มฐานรายได้ภาษีและกระจายรายได้สู่ผู้ประกอบการมากขึ้น
 
พร้อมกันนี้ หอการค้าไทยขอขอบคุณกระทรวงการคลัง กรมสรรพากร และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ช่วยผลักดัน เรื่อง การจัดตั้งจุดรับคืนภาษีในเมือง (Downtown VAT Refund) แบบถาวร สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งยังเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้เกียรติเปิดงานสัมมนาฯ และกล่าวปาฐกถาใน โครงการจัดสัมมนาฯ เรื่องภาษียุคใหม่ขับเคลื่อนไทยสู่อนาคต ซึ่งจะจัดสัมมนาร่วมกันระหว่างภาคเอกชน และ ภาครัฐ (กระทรวงการคลังทั้ง 3 กรม ได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร)
 
การสร้างความเข้าใจต่อแนวปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 เนื่องจากปัจจุบันหอการค้าไทยได้รับการสอบถามข้อมูลด้านแนวปฏิบัติตามพรบ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นจำนวนมาก ซึ่งรายละเอียดบางอย่างยังไม่มีความเข้าใจที่ดีพอต่อผู้เสียภาษี ซึ่งหอการค้าไทยและสภาหอการค้าฯ กำหนดจัดสัมมนา เรื่อง ไขข้อข้องใจภาษีที่ดินฯ ในวันที่ 24 ก.พ.2563 เพื่อสร้างความเข้าใจต่อแนวปฏิบัติตามพ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ โดยเชิญวิทยากรจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และ กรมธนารักษ์ เพื่อร่วมให้ความรู้ความเข้าใจต่อแนวปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ดังกล่าว
 
อีกทั้ง ขอให้กระทรวงฯ พิจารณาจัดทำ Application เพื่อตอบข้อซักถามที่เกิดขึ้นบ่อยให้ประชาชนศึกษาได้เอง และ ขอให้ทำ Video Clip อธิบายแนวทางการประเมินและชำระภาษีแต่ละประเภท เพื่อเป็นข้อมูลแนวปฏิบัติด้านภาษีแก่ประชาชน โดยในเรื่องนี้กระทรวงการคลังจะให้ความร่วมมือโดยจะสนับสนุนข้อมูลต่าง ๆ และขอให้เป็นการร่วมมือกันจัดทำระหว่างภาครัฐและเอกชน
 
นายกลินท์ กล่าวว่า หอการค้าไทยยังได้มีการหารือเพื่อติดตามความคืบหน้าในประเด็นต่าง ๆ ที่ได้เคยเสนอต่อกระทรวง อาทิ แนวทางขับเคลื่อนการกำหนดมาตรการทางภาษีสรรพากร เพื่อปรับปรุงโรงแรมและห้องพักเก่า (Renovate) รวมทั้ง เสนอให้โรงแรมได้รับสิทธิในการลดหย่อนภาษีนำเข้าเครื่องจักร โดยขอให้กระทรวงใส่ไว้ใน List เช่นเดียวกับโรงงานอุตสาหกรรม และการติดตามการลดหย่อนภาษีเงินได้และภาษีที่ดิน สำหรับเอกชนผู้ปลูกป่าเศรษฐกิจ โดยขอให้สามารถนำค่าใช้จ่ายที่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลใช้ในการปลูกและดูแลต้นไม้ที่ต้องการปลูกเป็นป่าเศรษฐกิจมาใช้หักลดหย่อนภาษีได้ และขอให้สามารถโอนสิทธิการลดหย่อนภาษีดังกล่าวให้ผู้ถือครองรายใหม่ ที่จะรับช่วงดำเนินการดูแลป่าเศรษฐกิจต่อเนื่อง รวมถึงข้อเสนอด้านการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจพาณิชยนาวีให้มีผลทางปฏิบัติ เป็นต้น
 
นอกจากนี้ ยังขอให้กระทรวงฯพิจารณาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างจากสถานการณ์อุทกภัย ตั้งแต่เดือน ก.ค. 60 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ประกอบการก่อสร้าง ที่เป็นสมาชิกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ ได้รับความเดือดร้อนทั้งสิ้น 68 ราย จำนวน 293 โครงการ คิดเป็นมูลค่า กว่า 4 หมื่นล้านบาท (ข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2562) โดยขอให้มีการออกเป็นมติคณะรัฐมนตรี และ/หรือ กำหนดมาตรการช่วยเหลือ เพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ ได้ถือปฏิบัติในการ
ให้ความช่วยเหลือ
 
สำหรับประเด็นปัญหาการขาดแคลนน้ำ หอการค้าไทยสนับสนุนรัฐให้มีการขุด ลอก คูคลอง เพื่อเพิ่มการกักเก็บน้ำ โดยได้หารือถึงวิธีการสร้างแรงจูงใจให้หอการค้าในแต่ละจังหวัดเร่งดำเนินการ รวมถึงวิธีการจัดการกับดินที่ขุดขึ้นมาถูกต้อง ซึ่ง รมว.คลัง ขอให้หอการค้าไทยเสนอแผนการดำเนินมาก่อน โดยผ่านสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และจะพิจารณาให้ต่อไป
ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้รับข้อเสนอต่าง ๆ ของหอการค้าไทย และจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่เพื่อผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติ โดยจะมีการติดตามความคืบหน้า และขอให้หน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงที่รับผิดชอบในแต่ละเรื่อง มารายงานให้ตนได้รับทราบในสัปดาห์หน้า นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังได้ขอให้ภาคเอกชนช่วยหาแนวทาง วิธีการและเสนอโครงการที่ดำเนินการโดยภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนภาครัฐ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป