ลุ้นปัจจัย “บวก” ส่งออกไทยปี”63 จะฟื้น 3%

ไม่เกินความคาดหมายที่สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ รายงานตัวเลขส่งออกของไทยในปี 2562 มีมูลค่า 246,244 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 2.65% ต่ำสุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2558 ที่ติดลบ 5.78% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 236,639 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 4.66% ไทยได้ดุลการค้า 9,604 ล้านเหรียญสหรัฐ

เป็นผลจากแรงกดดันจากสงครามการค้า เศรษฐกิจโลก เงินบาทเข็งค่า และการปิดซ่อมโรงกลั่นในประเทศในช่วงปลายปี ทำให้การส่งออกที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น น้ำมัน เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ ยังคงติดลบ โดยยอดส่งออกเดือนธันวาคมมีมูลค่า 19,154 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 1.28% และนำเข้ามูลค่า 18,558 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2.54% ทำให้เดือนสุดท้ายได้ดุลการค้า 595 ล้านเหรียญสหรัฐ

หากวิเคราะห์ในรายละเอียดการส่งออกรายสินค้าปี 2562 พบว่าสินค้ากลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 16.4% ของการส่งออกรวมลดลง ซึ่งกลุ่มเกษตรกรรมน่าห่วง เพราะลดลง 6.21% ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรยังบวก 2.49% โดยสินค้าที่ลดลงมากคือข้าว ส่งออกได้เพียง 7.58 ล้านตัน ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 8-8.5 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อน 32% ยางพารา ส่งออกได้ 3.14 ล้านตัน ลดลง 10.67% มันสำปะหลัง 6.6 ล้านตัน ลดลง 20% ส่วนกลุ่มอาหารภาพรวมยังบวก 6.09% จากกลุ่มผักผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป และอาหารอื่น ๆ ขณะที่กลุ่มอาหารทะเลแช่แข็งลด 4.25% กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งลดลง 9.35% และน้ำตาลในเชิงปริมาณ 9.72 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5.07% แต่มูลค่าลดลง 0.47%

ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 79.9% ปรับตัวลดลง 1.79% ประกอบด้วย ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบลดลง 5.98% เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ลดลง 7.22% เม็ดพลาสติกลดลง 8.28% วัสดุก่อสร้างลดลง 7.55% เครื่องจักรกลและส่วนประกอบลดลง 10.89% สิ่งทอลดลง 3.28% เคมีภัณฑ์ลดลง 17.31% น้ำมันสำเร็จรูปลดลง 21.16% ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 0.05% อัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มขึ้น 30.91% จากการส่งออกทองคำเพิ่มขึ้น 73.71% และอัญมณีไม่รวมทองเพิ่มขึ้น 6.34% ผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้น 1.96%

สำหรับตลาดส่งออกภาพรวมพบว่าตลาดหลักเพิ่มขึ้น 1.9% จากการส่งออกไปยังสหรัฐที่เพิ่มขึ้น 11.8% สวนทางกับตลาดญี่ปุ่นที่ลดลง 1.5% และสหภาพยุโรปลดลง 6.6% กลุ่มตลาดศักยภาพสูงลดลง 6.6% จากอาเซียน 6 ประเทศลดลง 8.2% ตลาด CLMV ลดลง 6.3% จีนลดลง 3.8% อินเดียลดลง 3.9% ฮ่องกงพลิกจากปีก่อนบวก 1.8% กลายมาเป็นติดลบ 6.5 % เกาหลีใต้ลบ 4.3% ส่วนไต้หวันบวก 0.9% กลุ่มตลาดศักยภาพรองลดลง 5.2% จากออสเตรเลียลบ 4.2% ตะวันออกกลางลบ 1.9% แอฟริกาลบ 10.9% ละตินอเมริกาลดลง 6.8% รัสเซียและ CIS ลบ 10.7% แต่แคนาดาบวก 0.5% สหภาพยุโรป (12) บวก 0.9% และตลาดอื่น ๆ เพิ่มขึ้น 79.1% จากตลาดทองคำส่งออกไปสวิตเซอร์แลนด์เพิ่มขึ้น 120%

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการส่งออกปี 2563 ยังมีทิศทางเป็น “บวก” จากปัจจัยสหรัฐและจีนที่ได้ลงนามยุติทางการค้า การส่งออกสินค้าไลฟ์สไตล์และสินค้าเกษตรแปรรูปที่ยังขยายตัวได้ดี รวมถึงการดูแลการเข้ามาลงทุนจากต่างประเทศเพื่อให้รองรับและสอดคล้องกับการส่งออกของไทยปี 2563 ทั้งประเมินว่าการส่งออกไทยปี 2563 มีโอกาสขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 1.5-3%

ทั้งนี้ หากจะพลิกให้การส่งออกทั้งปี 2563 โตถึง 3% ยอดส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนต้องอยู่ที่ 21,278 ล้านเหรียญสหรัฐ หากต่ำกว่านั้น เช่น ต่อเดือนส่งออกอยู่ที่ 21,175 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งปีขยายตัว 2.5% หรือเฉลี่ยต่อเดือนละ 20,968 ล้านเหรียญสหรัฐ อยู่ที่ 1.5% ขณะที่สมมุติฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ 30-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ยังไม่น่าจะแข็งค่าถึง 28-29 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และผลพวงจากปัจจัยบวกที่นักลงทุนอิเล็กทรอนิกส์ขยายเข้ามาทำให้ทิศทางการส่งออกเติบโตขึ้น