ชงครม.ไฟเขียวร่างความตกลง RCEP ทันลงนามพ.ย.63

พาณิชย์เร่งชง ครม. เคาะร่างข้อตกลง RCEP ก่อนเข้าสภาฯ หวังลงนามในการประชุมอาเซียนซัมมิตเวียดนาม พ.ย. 2563 เร่งลดภาษีในปีถัดไป “เอกชน” เชียร์ลงนาม หวังขยายตลาดส่งออกสินค้า-บริการ-ลงทุน รับมือสงครามการค้าทุบเศรษฐกิจโลก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยหลังจากการสัมมนา “ก้าวต่อไปของไทย หลังปิดดีลอาร์เซ็ป” ซึ่งจัดกรมขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า กรมเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ก่อนที่จะเสนอสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบในการลงนามให้สัตยาบัน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 178 ในที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ประเทศเวียดนาม เดือนพฤศจิกายน 2563 คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ปลายปี 2564

“หลังจากที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนสามารถประกาศความสำเร็จเจรจา RCEP ทั้ง 20 ข้อบทเรียบร้อยเมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมา ขั้นตอนนี้สมาชิกต่างให้ความสำคัญและเห็นถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั้งสงครามการค้า ทำให้เศรษฐกิจหลายประเทศชะลอตัว ควรให้เกิดการกระตุ้น

การลงนามข้อตกลงให้รวดเร็ว ซึ่งทุกประเทศต้องขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายและผ่านกระบวนการให้ความเห็นชอบภายในประเทศให้เรียบร้อย ส่วนของไทยขณะนี้การขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายจะเสร็จในช่วงกลางปี 2563 จากนี้จะเร่งเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบ ก่อนที่จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร”

โดยภายหลังให้สัตยาบันแล้วกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะต้องนำรายละเอียดในข้อตกลงที่ได้ร่วมลงนามร่วมกัน ไปเปิดรับฟังประชาพิจารณ์ทั่วประเทศ เพื่อให้ทราบถึงรายละเอียดของข้อตกลงและเตรียมการใช้ประโยชน์ความตกลงต่อไป

ทั้งนี้ กรมฯจะจัดสัมมนา “ก้าวต่อไปของไทย หลังปิดดีลอาร์เซ็ป” อีก 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ขอนแก่น และสงขลา ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2563

“ต้องยอมรับอย่างหนึ่ง คู่ค้าของไทย 2 ใน 3 อยู่ในกลุ่มอาร์เซ็ป ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ต้องเตรียมรับมือเพื่อใช้ประโยชน์จากความตกลง โดยเตรียมพร้อมด้านการสื่อสาร ฉลากบรรจุภัณฑ์ภาษาไทย-ภาษาต่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพสินค้าเพื่อความสามารถในการแข่งขันด้านต่าง ๆ ให้พร้อม เพราะ RCEP ช่วยให้หลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ อินเดีย จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น ยอมเปิดตลาดสินค้าและบริการมากขึ้น บางสาขาเปิดถึง 100% ทั้งที่ก่อนหน้านี้ที่ไทยเอฟทีเอกับประเทศคู่ค้าในหลายประเทศ แต่ก็ยังไม่ได้เปิดกว้างถึง 100% เพราะยังมีบางประเทศที่ยังคงบัญชีสินค้าอ่อนไหว”

สำหรับสินค้ที่ได้มีการเปิดตลาดเพิ่ม เช่น แป้งมันสำปะหลัง เครื่องแต่งกายจากสิ่งทอ และเปิดตลาดบริการ ทั้งท่องเที่ยว สุขภาพ ค้าส่งค้าปลีก โรงแรม และการสร้างความร่วมมือในการยอมรับมาตรฐานสินค้า เช่น ด้านสุขอนามัย ซึ่งแต่ละประเทศจะมีความร่วมมือกันเพืื่อใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น

“แม้ปัจจุบันอินเดียไม่ร่วมลงนามใน RCEP แต่ที่เหลือ 15 ประเทศ ใน RCEP ก็ยังมีมูลค่าตลาดที่ใหญ่ที่สุด ประชากรถึง 2,200 ล้านคน และยังมีฮ่องกง สหราชอาณาจักร สนใจจะเข้าร่วม ซึ่ง RCEP ต้องรอให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ไป 18 เดือน จึงจะเปิดรับสมาชิกใหม่ได้ ตลาดนี้จึงยังเป็นโอกาสการส่งออกที่จะขยายตัวในอนาคต ประเทศไทยต้องพัฒนาคุณภาพใช้ประโยชน์จากข้อตกลงโดยเฉพาะการนำเข้าวัตถุดิบ เพื่อต่อยอดในการขยายการส่งออกสินค้าในรูปแบบต่าง ๆ”

ส่วนกรณีที่มีผู้ประกอบการกังวลผลกระทบจากการเปิด RCEP รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มอบให้กรมเจรจาการค้าฯตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาปรับปรุงกองทุนเอฟทีเอช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่อาจได้รับผลกระทบ ซึ่งล่าสุดปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาในส่วนของงบประมาณดำเนินการ และลดข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์หรือเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ให้สอดรับกับพระราชบัญญัติกองทุนหมุนเวียน 2558

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศหลักอย่างเช่น สหรัฐ ยุโรป เศรษฐกิจชะลอตัว หากไทยมี RCEP จะเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยสินค้า เช่น ข้าว ยาง มันสำปะหลัง ไก่ ผลไม้ ยานยนต์ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ อัญมณี ผลิตภัณฑ์ยาง มีโอกาสจะขยายตลาดส่งออกไปในกลุ่มประเทศ RCEP ได้ ต้องเตรียมพร้อมที่อีก 3 ปีข้างหน้าภาษีจะปรับลดลงเหลือ 0% ส่วนสินค้าที่จะได้รับผลกระทบ เช่น โคเนื้อ โคนม อาจจะมีการแข่งขันรุนแรงจากการเปิดตลาดมากขึ้น

นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า เอกชนมองอาร์เซ็ปเป็นโอกาสในการขยายการค้าและการลงทุนของประเทศมากกว่าการเสียประโยชน์ เพราะตลาดจะขยายใหญ่ขึ้น เพียงแต่ผู้ประกอบการและเกษตรกรไทยต้องปรับตัว ผลิตสินค้าที่มีมาตรฐาน เพื่อรองรับผู้บริโภคจากต่างประเทศที่จะขายสินค้าได้มากขึ้น ซึ่งพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันให้ความสนใจเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพผ่านการอ่านรีวิวสินค้ามากขึ้น หากปรับตัวได้ก็จะได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่