ดันโชห่วย-ช่วยรากหญ้า ผู้ส่งออกแป้งมันพันล้าน สู่ รมช.พาณิชย์

ผ่านมา 5 เดือน หลายคนอาจยังไม่คุ้นชื่อ “วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล” มากนัก แต่หากย้อนไปเมื่อครั้งปรากฏชื่อในโผ ครม.ประยุทธ์ “อดีตกำนันแหนบทองคำผู้นี้” สร้างความฮืออากับสังคมไม่น้อย ด้วยหลายต่อหลายฉายาทั้งนายทุนพรรคภูมิใจไทย เสี่ยแป้งมันพันล้าน สู่ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสได้เปิดห้องทำงานสัมภาษณ์พิเศษ ถึงภาระกิจที่รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้ดูแลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า-กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ-กรมทรัพย์สินทางปัญญา สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับ และศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ ถึงแนวทางทางการทำงานปี 2563 ว่าจะเน้นสร้างความเข้มแข็ง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ท่ามกลางความผันผวน

ดัน 30,000 สมาร์ทโชห่วย

ปีนี้ให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าผลักดันสมาร์ทโชห่วย อยากให้ออกจากมุมมืดมาสู่ที่สว่าง หมายถึงทำให้เกิดความเข้มแข็ง สามารถทำการค้าให้ทันกับยุคสมัย ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ หากร้านโชห่วยไทยปรับตัวให้เข้มแข็งจะทำให้ชุมชนเข้มแข็งไปด้วย เราต้องพัฒนาร้านกลุ่มนี้ให้กระจายไปในชุมชนต่าง ๆ จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้รับงบประมาณด้านนี้เพิ่มขึ้นจาก 14 เป็น 27 ล้านบาท ก็ทำงานอย่างเต็มที่ทั้งอบรมให้ความรู้ ส่งเสริมการใช้ระบบไอทีเข้ามาช่วย ให้มีช่องทางใหม่ ๆ เช่น การค้าออนไลน์ อีกด้านหนึ่งจะช่วยเค้าให้เข้าถึง

เงินทุนด้วย ตอนนี้คุยกับธนาคากรุงไทย ช่วยสนับสนุนเงินกู้ ดอกเบี้ย 1% และเอสเอ็มอีแบงก์ก็ช่วยด้วย โครงการนี้ใช้ชื่อว่า จับมือพันธมิตร ติดปีกโชห่วยไทย (Total Solutions : โชห่วย) ทางแม็คโครก็จะเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงช่วยสอน รวมแล้วมีพันธมิตร 6 หน่วยงาน ต่อไปจะจัดกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจค้าส่งค้าปลีกค้าส่งรวมใจ โชห่วยไทยคู่สังคม ซึ่งมีร้านค้าปลีกรายย่อยเข้าร่วมกว่า 5,000 ร้านค้า

ผมหวังว่าเศรษฐกิจฐานรากจะดีขึ้น เป้าหมายของเราต้องการจะเพิ่มร้านสมาร์ทโชห่วยจาก 10,000 ร้านให้เป็น 30,000 ร้านในปี 2563 สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 1,200 ล้านบาท ถ้าเศรษฐกิจชุมชนมีความเข้มแข็งจะกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ดี

ลดเวลาตั้งธุรกิจเหลือ 2.5 วัน

กรมพัฒนาธุรกิจรับปากกับผมว่าจะเร่งใช้ระบบลดเวลาจดทะเบียนตั้งธุรกิจเหลือแค่ 2.5 วัน จากก่อนหน้าที่เคยใช้เวลานานถึง 14 วัน ได้ไปประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกส่วน ลดขั้นตอนการจดทะเบียนธุรกิจทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และการขึ้นทะเบียนลูกจ้างให้เป็นขั้นตอนเดียว

เราหวังว่าจะขยับอันดับให้ประเทศไทยมีความสะดวกในการทำธุรกิจมากขึ้น เรียกว่า Ease Of Doing Business จากล่าสุดปี 2563 (2020) ธนาคารโลกจัดเราอยู่อันดับที่ 21 ดีกว่าปีก่อนอันดับ 27 จากทั้งหมด 190 ประเทศ แต่ถ้าเทียบในอาเซียนแล้วไทยเป็นอันดับ 3 รองจากสิงคโปร์และบรูไน จะทำให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ

และทางท่านนายกรัฐมนตรีมอบหมายว่าต้องดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยให้มาก ๆ จะช่วยให้คนไทยมีงานทำ มีเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ส่งออกไม่ดีเราต้องเร่งทำตรงนี้ จะเริ่มได้ในวันที่ 15-20 กุมภาพันธ์นี้ได้แน่นอน

ปั้น “จีไออำเภอ” เพิ่มมูลค่า

ผมคิดว่าสินค้าจีไอ (สินค้าที่มีการจดทะเบียนรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) เป็นสินค้าที่จะทำให้ชุมชนมีรายได้มากขึ้น ที่ผ่านมากรมรับจดทะเบียนจีไอสินค้าจะครบ 77 จังหวัดในปีนี้ เหลืออีกแค่ 2 จังหวัดตอนนี้ คือ ปทุมธานี และอ่างทอง ขั้นต่อไปผมว่าจีไอต้องลงลึกไปอีกถึงระดับอำเภอ เพราะสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จุดเด่นแต่ละพื้นที่ต่างกัน เช่น หากลงไปในต่างจังหวัดนครราชสีมา เราจะเห็นว่าแต่ละอำเภอมีสินค้าจีไอมีทุกที่ ดินด่านเกวียนที่นำมาทำเครื่องปั้นดินเผา มะขามเทศ อ.โนนไทย หรือผ้าไหม อ.ปักธงชัย ถ้าเราจดทะเบียนจีไอหมดทุกอำเภอ จะสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าให้ชาวบ้านได้มาก ปีนี้กรมมีเผนจะส่งเสริมตรงนี้ให้เพิ่มได้อีก 18 สินค้า ตอนนี้มีผู้มาขอใช้ตราจีไอไทยเพิ่มขึ้น 1,500 รายแล้ว

หนุนจีไอขายออนไลน์-ออฟไลน์

ปีก่อนทำความตกลงเอ็มโอยูกับร้านค้าออนไลน์ 24 เซเว่นอีเลฟเว่น (www.ShopAt24.com ของ CPALL) ทดลองขาย 6 สินค้า ผลตอบรับมาดีมาก การค้าช่องทางนี้ขายได้ไกลถึงจีนเหมือนกับอาลีบาบา ปีนี้เราวางแผนว่าจะเพิ่มจำนวนสินค้าจีไอให้เข้าไปในระบบนี้มากขึ้นให้ได้ 30 รายการ ตั้งใจจะเพิ่มยอดขายให้ถึง 300,000 แสน และต้องมุ่งขายในระบบที่ออฟไลน์ให้กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทยซื้อกลับไปเป็นของฝาก เช่น เราจะมีช่องทางผ่านร้านคิง เพาเวอร์ และงานแสดงสินค้าที่กระทรวงพาณิชย์จัดหลาย ๆ งาน เช่น งานแสดงสินค้าอาหาร ไทยเฟค งานสไตล์ เรามีเป้าหมายจะผลักดันยอดขายจีไอให้ได้ 500 ล้านบาท

ลดอุดหนุนสินค้าเกษตรโลก

ในส่วนของกรมเจรจาการค้าฯที่ดูแลจะมี 2 ส่วน คือ การสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรในสินค้าที่เราเปิดเอฟทีเอไปแล้ว อย่างโคนม โคเนื้อ ซึ่งในอนาคตจะลดภาษีลงเป็น 0% เราลงไปให้ข้อมูล พัฒนาเกษตรกร สู้กับเนื้อออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ทำมาต่อเนื่อง ส่วนการเจรจาเอฟทีเอใหม่ก็เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล ปีนี้จะเซ็น RCEP และเน้นการเจรจาในกลุ่มอาเซียน

ส่วนการเจรจาในระดับโลกในองค์การการค้าโลก (WTO) ก็มีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อสัปดาห์ก่อน เห็นชอบให้เราไปร่วมกับกลุ่มเครนส์ (ประเทศที่ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตร) 19 ประเทศ ออกประกาศถ้อยแถลงการณ์ร่วมกันให้ช่วยกันลดการอุดหนุนสินค้าเกษตร ลงไปอย่างน้อย 50% ในปี 2573

เพราะเท่าที่ทราบที่ผ่านมาประเทศใหญ่ที่มีการอุดหนุนมากที่สุด คือ จีน สหภาพยุโรป อินเดีย ญี่ปุ่น และบราซิล ส่วนไทยไม่ได้มีการอุดหนุนแล้ว ถึงมีการประกันรายได้ก็ไม่ได้เข้าหลักเกณฑ์เรื่องการอุดหนุน ซึ่งหลังจากนี้กลุ่มเครนส์จะประชุมก่อนจะประชุมรัฐมนตรีการค้าโลกเดือนมิถุนายนนี้ ที่คาซัคสถาน

เรื่องนี้จะเป็นประโยชน์กับไทย เพราะจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก เป็นไปตามกลไกตลาดไม่บิดเบือน เป็นผลดีกับเกษตรกรที่ตอนนี้เจอทั้งภัยแล้ง ทั้งโรคระบาดต่าง ๆ ก็เป็นปัญหาอยู่แล้ว แต่ถ้ากลุ่มเครนส์ไม่ร่วมกันผลักดันจะทำให้การอุดหนุนสินค้าเกษตรทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากปี 2563 อุดหนุนไป 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มเป็น 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2573